กรณีรถบรรทุกสีน้ำเงิน รูปร่างคล้ายหุ่นยนต์มิราจในภาพยนตร์เรื่องทรานส์ฟอร์เมอร์ส ซึ่งบนหน้ากระจกรถติดสติ๊กเกอร์รูปดาวสีเขียว มีอักษรภาษาอังกฤษตัว B อยู่กึ่งกลาง ร่วงตกลงไปในหลุมขนาดใหญ่กลางถนนสุขุมวิทเกือบทั้งคัน ขณะแล่นผ่านมาตามปกติ ไร้ร่องรอยต้นเหตุจาก “แผ่นดินไหว” มีผู้บาดเจ็บถึง 2 รายจากเหตุการณ์ เมื่อเร็วๆ นี้
เหตุที่เกิดขึ้นเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เผ็ดร้อนในเครือข่ายสังคมออนไลน์ หลายคนพยายามช่วยหาสาเหตุและผู้รับผิดชอบความเสียหาย (ล่วงหน้าก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม) จากเหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตก่อสร้างอุโมงค์ร้อยสายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลาง (กฟน.) บนท้องที่ในความดูแลของสำนักงานเขตพระโขนง หน่วยงานในสังกัดกทม. และสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลและตรวจตรา
ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบความเสียหายครั้งนี้ ในฐานะเป็น ผู้กระทำละเมิด ตามมาตรา 420 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อาจเป็น กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่อาจจะก่อสร้างพื้นถนนไม่ได้มาตรฐานรับน้ำหนักรถบรรทุกไม่ไหว อ้างอิงตามแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่อ.622/2558 หรือเจ้าของกิจการรถบรรทุกขนส่ง (ที่อาจใช้รถบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราควบคุม) ส่วนการมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับความหมายของสติ๊กเกอร์ดาวสีเขียว ที่ติดอยู่หน้ากระจก อาจมิใช่ประเด็นเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือจะเป็น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่ขุดผิวจราจรบริเวณนั้น เพื่อสร้างอุโมงค์ท่อร้อยสายเพื่อเก็บบรรดาสายที่พันกันยุ่งเหยิงลงสู่ใต้ดิน โดยปราศจากมาตรการความปลอดภัยในขณะก่อสร้างหรือปราศจากมาตรฐานงานก่อสร้างหลังก่อสร้างเสร็จแล้ว
จากข้อมูลงบประมาณของ กทม. ปี 2516-2565 สำนักการโยธาเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบฯ มากที่สุด สูงถึง 173,497,685,168 บาท โดยสำนักการโยธาจะมีแผนงาน
พัฒนาการโยธาและระบบจราจร ที่ดูแลการก่อสร้างและปรับปรุงถนนในกรุงเทพฯ (ข้อมูลจากสำนักงานโยธา และข้อบัญญัติงบประมาณ 50 เขต ปี 2564 และแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) ทำให้กทม.ถูกตั้งข้อสังเกตในประเด็นดังกล่าวนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ทั้งที่ในความเป็นจริง กทม.ต้องแบกภาระความรับผิดชอบงานด้าน ถนน และซอยและทางเท้าทั่วทั้งกรุงเทพฯ แยกตามหน่วยงานรับผิดชอบ 3 ฝ่าย คือ สำนักการโยธา กทม., สำนักงานเขต, และหน่วยงานอื่นที่ไม่ได้สังกัดกทม. แต่เข้าร่วมดูแลรับผิดชอบ อย่างเช่น กรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย ไปจนถึงหน่วยงานทางทหาร
กทม. ต้องรับภาระด้านการต้องรักษาภาพลักษณ์การเป็นเมืองส่งเสริมการท่องเที่ยว ภาระความยืดหยุ่นแก่ประชาชนผู้อาศัยใช้เป็นแหล่งประกอบอาชีพสุจริต
บนทางเท้าบางท้องที่ บางเวลา แบกภาระการบริหารงานดูแลความรับผิดชอบที่ต้องผ่านการประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง รวมถึงปัญหาด้านการประสบการณ์ (ควบคุมดูแลด้านนี้) ของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดขึ้นตรงกับกทม.เอง (อาทิ เจ้าหน้าที่เทศกิจ) จึงเป็นอุปสรรคที่ กทม.ใช้ความพยายามฝ่าฟันแก้ปัญหาที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้มาโดยตลอด จึงมีความพยายามที่จะนำมาตรการทางภาษีการขนส่งมาใช้เพื่อช่วยแบ่งเบางบประมาณ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยตรวจจับหาสาเหตุความบกพร่องในความรับผิดชอบเช่น เครื่องตรวจจับน้ำหนักใต้สะพาน ขณะรถวิ่งผ่าน(Bridge Weight Motion) และเทคโนโลยี AI การสแกนพื้นทางวิศวกรรมด้วย GPR (Ground Penetration Radar) เพื่อตรวจสอบความหนาแน่นของเนื้อดิน/หิน จากการก่อสร้างถนนและทางเท้าในขั้นตอนการตรวจรับงานก่อสร้างในกทม. เพื่อแก้ไขปัญหาจุดอ่อนในเรื่องพื้นดินทรุดจากชั้นดินต่างๆ โดยจะนำไปขยายผลและหารือกับผู้ก่อสร้างเพื่อแก้ไขความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
แม้เทคโนโลยีเครื่องตรวจจับน้ำหนักใต้สะพาน (Bridge Weight Motion) ซึ่งมีทีท่าจะเข้ามาเป็น“ผู้ชี้ขาด” คลายปัญหาข้อถกเถียงแก่ทุกฝ่าย เพราะเมื่อวิเคราะห์จากข้อมูลประวัติน้ำหนักของรถบรรทุกคันนี้โดยคำนวณแบบวิศวกรรมย้อนกลับ (เพราะคนขับรถบรรทุกไม่ให้ความร่วมมือในการ คำนวณและช่างน้ำหนักรถ)ค่าน้ำหนักรถบรรทุกตอนเกิดเหตุอยู่ที่ 37.45 ตัน ทั้งที่เป็นรถบรรทุกขนาดไม่เกิน 10 ล้อ จะได้รับอนุญาตให้บรรทุกได้เพียง 25 ตัน เท่านั้น ขณะเดียวกันกับที่ กฟน.แถลงยืนยันว่า แผ่นฝาปิดอุโมงค์ร้อยสายไฟฟ้าบริเวณดังกล่าวรับน้ำได้เพียง 28 ตัน
หากเจ้าของกิจการรถบรรทุก ฝ่าฝืนต้องถูกดำเนินคดีและถูกลงโทษทางอาญา ตามมาตรา 73/2 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 (ผู้ใดฝ่าฝืนประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงตาม ตามมาตรา 61 วรรค 1 ต้องมีโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับ 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ออกมายอมรับว่า ในอดีตที่ผ่านมา กทม. ไม่เคยชั่งน้ำหนักรถบรรทุกที่วิ่งในพื้นที่ กทม. และจะเริ่ม ตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้แถลงว่า ตำรวจจะดูแลเฉพาะในเรื่อง ที่รถบรรทุกวิ่งเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายหรือไม่
นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่มีการเริ่มต้นเพื่อแบ่งหน้าที่ระหว่าง เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน ซึ่งดีกว่าไม่ได้เริ่ม
กรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า เป็นไปตามสุภาษิตไทยโบราณ “วัวหาย ล้อมคอก”
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี