ในรายการ “คุยต้องรวย” ครั้งหนึ่ง ผมกับน้าเน็กเปิดสายพูดคุยตอบคำถามจากทางบ้าน สายสุดท้ายในวันนั้นเป็นเรื่องราวที่ชวนให้นึกถึงพ่อแม่หลายคนที่เคยส่งคำถามเข้ามาหาผม รวมถึงพ่อแม่ของตัวผมเองด้วย
ชายคนหนึ่งอายุ 42 ปี ทำอาชีพอิสระ โทรเข้ามาปรึกษาเรื่องกู้ซื้อบ้าน แต่ไม่ได้กู้เอง วางแผนจะให้ลูกชายซึ่งปัจจุบันอายุ 19 ปี ทำอาชีพอิสระประเภทเดียวกัน กู้ซื้อในอีก 1 ปีข้างหน้า เนื่องจากลูกจะอายุครบ 20 ปี บรรลุนิติภาวะพอดี
สาเหตุที่เจ้าของคำถามไม่ทำเรื่องกู้เอง เพราะทั้งเขาและภรรยามีประวัติชำระหนี้ที่ไม่ดี เคยใช้สินเชื่อและไม่ชำระหนี้มาเป็นปีแล้ว จึงกลายเป็นลูกค้ากลุ่มหนี้เสีย ต้องรอให้ลูกชายเป็นคนกู้ซื้อบ้านให้
บ้านที่วางแผนจะซื้อราคา 3.5 ล้าน ลูกชายมีรายได้เดือนละ 18,000 บาท ซึ่งแน่นอนว่ากู้ซื้อไม่ได้ เพราะด้วยราคาบ้าน ถ้ากู้ยาว 40 ปี ก็น่าจะผ่อนตกเดือนละ 20,000 บาท สองสามีภรรยาจึงวางแผนต่ออีกขึ้น โดยจะทำหลักฐานรายได้ปลอม จากไอเดียคนใกล้ชิด ว่าให้ทำเหมือนลูกมีอาชีพเป็นผู้จัดการร้านค้า และรับรายได้จากเจ้าของไอเดีย ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการอยู่ (คนแนะนำจะใช้ช่องทางนี้สร้างรายจ่าย ลดภาษีกิจการตัวเอง)
คนหนึ่งตั้งใจจะเลี่ยงภาษี โดยสร้างรายจ่ายปลอม อีกคนต้องการจะทำหลักฐานให้มีรายได้เพิ่ม จากรายได้ปลอมเพื่อกู้ซื้อบ้านให้ได้ มันก็เลยโป๊ะเชะลงตัว คิดว่าเป็นทางออกที่เหมาะสม จึงโทรเข้ามาปรึกษากับทางรายการ ว่าทำแบบนี้แล้วจะกู้้บ้านได้จริงหรือไม่
เมื่อเห็นว่ามีความพยายามเกินเหตุที่จะกู้ซื้อบ้านให้ได้ ผมกับน้าเน็กจึงสอบถามว่า ทำไมต้องเสี่ยงทำผิดกฎหมาย เพื่อให้ได้บ้านที่เกินตัวเกินกำลังขนาดนี้
“ผมไม่มีมรดกอะไรให้ลูกเลย ก็เลยอยากให้ทิ้งบ้านเป็นมรดกไว้ให้ลูก” คำตอบจากปลายสายชวนให้คิดอะไรไปได้หลายอย่าง
อันที่จริงการจะกู้ซื้อบ้านสักหนึ่งหลังในชื่อลูก แล้วร่วมด้วยช่วยกันผ่อนนั้น ไม่ใช่ปัญหา เพราะรายได้ระดับ 18,000 บาท รวมรายได้พ่อแม่ที่เคลียร์หนี้เก่าให้หมดก่อน แล้วรอสักหน่อยให้เครดิตกลับมาเป็นปกติ ก็พอจะหาซื้อบ้านในระดับที่ผ่อนไหวไปก่อนได้ (ราคาไม่เกิน2 ล้าน น่าจะพอไหว) แล้วค่อยๆ ขยับขยายกันไปนั้น ก็เป็นเรื่องที่หลายครอบครัวทำกัน
แต่การซื้อในระดับที่รายได้สู้ไม่ไหว แล้วต้องเริ่มต้นด้วยการทำผิดกฎหมาย แถมยังต้องพยายามโหนสู้ วิ่งหารายได้กันขาขวิดทุก 30 วัน นั่นไม่น่าจะใช่ทางเลือกที่ดีนัก
ไหนจะเป็นเรื่องการทำเอกสารปลอม ไหนจะภาระหนี้เดิมที่เป็นหนี้เสียยังไม่ได้ชำระคืนเขา ซึ่งวันหนึ่งจะต้องถูกฟ้อง ถูกติดตาม และต้องหาเงินมาคืนเขาแน่ๆ ซึ่งนั่นอาจทำให้ความพยายามที่เกินพอดี เพิ่มพูนปัญหาการเงินไปกันใหญ่
คุยกันอยู่สักพัก ทั้งผมและน้าเน็ก รวมถึงคอมเมนต์จากทางบ้านร่วมด้วยช่วยกันพูดคุย จนสุดท้ายปลายสายก็ล้มเลิกความคิดที่จะกู้ซื้อบ้านแต่ดูแล้วดูเหมือนเจ้าตัวก็ยังรู้สึกผิดกับความคิดที่รู้สึกติดค้างในใจอยู่ดี
หวนกลับไปนึกถึงวันที่ครอบครัวผมล้มละลาย จำได้ว่าแม่ก็เคยพูดประโยคนี้ “แม่ขอโทษ ที่สุดท้ายไม่เหลืออะไรเป็นสมบัติให้ลูกเลย”
วันนั้นผมตอบกลับไปว่า “แม่ไม่ต้องคิดมาก แค่ได้เกิดมา มีครอบครัวที่อบอุ่น มีการศึกษาที่ดี แค่นี้แม่ก็ให้เยอะพอแล้ว” ว่ากันตามจริงๆ วันนั้นแม่ก็ยังไม่ได้รู้สึกดีกับคำตอบของผมเท่าไหร่ แต่ผมคิดและรู้สึกอย่างที่บอกกับแม่จริงๆ นะ
ในบางครั้งเราพูดถึงลูกที่ติดกับดักการเงิน เพราะความรู้สึกผิดต่อความกตัญญู แล้วก็ต้องกู้ทุกสิ่งอย่างเพื่อมาช่วยพ่อแม่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีพ่อแม่อีกหลายคน ที่รู้สึกผิดกับการให้ในสิ่งที่คิดว่าดีและสำคัญต่อลูกไม่ได้ และกลายเป็นพันธนาการทางความคิดและความรู้สึกกับตัวเอง
ในมุมการเงิน การสร้างภาระหนี้ 30-40 ปี แบบที่ไม่รู้ว่าจะผ่อนไหวหรือไม่ คิดแค่ว่ากัดฟันสู้แล้วไปตายเอาดาบหน้า ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง และเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก วิธีนี้ไม่ใช่วิธีการสร้างทรัพย์สิน แต่เป็นการสร้างหนี้สิน สร้างภาระยาวๆ และยังไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้างในวันข้างหน้า
ในมุมความรู้สึกผิด ผมคิดว่าการได้คุยสื่อสารความรู้สึกนี้ออกไปตรงๆ อาจปลดล็อกอะไรในใจของคนเป็นพ่อเป็นแม่ได้เหมือนกัน เพราะเอาเข้าจริงลูกอาจไม่ได้ต้องการหรือคาดหวังในสิ่งที่พ่อแม่คิดว่า “ดี” หรือควรจะให้เขาก็ได้
โดยส่วนตัวผมรู้สึกเห็นใจสายสุดท้ายนี้นะครับ และไม่รู้สึกว่าเขาผิดอะไรมากมาย แม้จะมีคอมเมนต์ต่อว่าเขาเยอะอยู่สักหน่อย บ้างก็ว่าทำไมคิดไม่ได้ ทำไมไปสร้างภาระทิ้งให้ลูก บ้างก็ว่าอยากได้บ้านเองหรือเปล่าแล้วอ้างลูก
แต่ไม่รู้สิ! ผมจับอารมณ์ความรู้สึกจากน้ำเสียงของเขาได้ ว่าเขารู้สึกผิดจริงๆ ที่รู้ว่าความหวังดีของเขาอาจส่งผลร้ายต่อลูกในอนาคต ลึกๆ มันคือความรู้สึกรักและพยายามจะทำอะไรเพื่อคนที่เขารักนั่นแหละ เพียงแต่วิธีการมันไม่ถูกต้องเท่านั้นเอง
พ่อแม่แทบทุกคนรักและอยากเห็นลูกมีสิ่งดีๆ ในชีวิต คิดถูกคิดผิดไปบ้างก็แก้ไขปรับปรุงกันไป แต่สำหรับความรู้สึกผิดในใจนั้น การพูดคุยกันกับลูกตรงๆ อาจช่วยให้เข้าใจกันและกันมากขึ้นได้
ถ้าที่ผ่านมาคุณให้ความรักกับลูกอย่างเต็มที่ อบรม เลี้ยงดู และทำให้เขาได้รับทุกสิ่งทุกอย่างที่เหมาะควร อย่างเต็มกำลังความสามารถแล้ว อยากบอกว่า “อย่ารู้สึกผิด” เลยครับ เพราะในมุมมองของลูก เขาอาจแอบภูมิใจในตัวฮีโร่ของชีวิตของเขาอยู่ โดยที่ไม่บอกให้คนเป็นพ่อแม่รู้ก็ได้ เหมือนที่ผมก็ภูมิใจในป๊ากับแม่ของผม แม้ในวันที่ครอบครัวเราไม่มีอะไรเหลือเลย
คุยกันเยอะๆ ฟังกันเยอะๆ รักกันมากๆ กอดกันบ่อยๆ ครับ
ความรักและความเข้าใจกันในครอบครัว เยียวยาได้ทุกสิ่งครับเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวนะครับ
#TheMoneyCoachTH
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี