ก่อนอื่นผมหวังว่าทุกๆ คนรักชาติ รักแผ่นดินนะครับ
วิธีช่วยชาติมีหลายรูปแบบ ถ้าทุกๆ คนเห็นประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เรื่องใหญ่ก็กลายเป็นเรื่องเล็กปัญหาต่างๆ จะค่อยๆ หมดไป ประเทศไทยเราจะพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนครับ
ลองคิดดู ถ้าบ้านเราไม่มีการคอร์รัปชั่นที่เป็นที่รู้กันแพร่หลายเราจะประหยัดเงินได้ถึง 3-4 แสนล้านบาทต่อปี!!! เงินนี้สามารถนำไปพัฒนาประเทศได้อย่างมากมาย
ถ้าเพียงทุกๆ คนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และอาจจะตอบปัญหาเกือบทั้งหมดของประเทศได้เลย
ก่อนจะทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ทุกๆ คนต้องรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร งานทุกงานต้องมี job description หรือคำนิยามของหน้าที่นั้นๆ ถ้าเราไม่รู้หน้าที่ของเรา เราจะทำหน้าที่ตนเองให้สำเร็จลุล่วงไปในทางที่ดีได้อย่างไร
ขออนุญาตยกตัวอย่างตัวผมเองเลย เพราะเป็นประสบการณ์อย่างแท้จริง ซึ่งอาจเป็นอุทาหรณ์ที่ดี(หรือไม่ดี)ก็ได้ ตอนปี 2546 ในฐานะประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ที่มีแพทย์ทางสาขานี้มากที่สุดของแพทย์ทุกสาขาในประเทศไทย แพทย์ทั้งหมดในประเทศไทยขณะนี้มี 70,000 กว่าคนและเป็นอายุรแพทย์เกิน 10,000 คน (แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน) รวมแล้วมีแพทย์สาขา อนุสาขาต่างๆ ถึง 95 สาขา ผมได้ลงสมัครเป็นกรรมการแพทยสภาเป็นครั้งแรก และได้รับความกรุณาจากเพื่อนแพทย์ทั่วประเทศเลือกให้เป็นกรรมการแพทยสภา และกรรมการทุกท่านที่ได้รับเลือกตอนนั้นโดยผ่านท่านนายกได้กรุณาเลือกผมเป็นเลขาธิการแพทยสภา ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ควรเลือกผู้ที่เพิ่งเข้ามาเป็นกรรมการแพทยสภาครั้งแรกเป็นเลขาธิการ ควรเลือกผู้ที่เป็นกรรมการแพทยสภาอยู่แล้ว เพราะจะรู้เรื่องดีกว่า อย่างไรก็ตาม ถึงผมปฏิเสธอย่างไร ที่ประชุมก็ไม่ยอม ผมจึงต้องรับด้วยความหนักใจและปวดหัวจริงๆ อยู่ 3 วัน ผมได้ไปหาคุยกับท่านที่เป็นกรรมการแพทยสภาอยู่แล้ว ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อหาข้อมูล คำแนะนำต่างๆ ว่า เลขาธิการมีหน้าที่อะไร ผมควรทำอะไรบ้าง ฯลฯ ในที่สุดผมก็ได้ข้อมูล ข้อคิด จาก พ.ร.บ.แพทยสภา 2525ในมาตรา 7 ซึ่งพอสรุปได้ว่า แพทยสภามีหน้าที่ดูแลแพทย์ทุกด้าน โดยเฉพาะด้านจริยธรรม (สำหรับปรัชญาของผม คือ ความดี) และมาตรฐาน (สำหรับผมคือ ความเก่ง) และอื่นๆ เช่น การศึกษา ให้ความรู้ทางด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน แนะนำรัฐบาล ฯลฯ ผมจึงเอาวัตถุประสงค์ของแพทยสภานี้มาเป็นหน้าที่ของผม คิดว่าในช่วง 4 ปีที่เป็นเลขาธิการนั้นผมทำหน้าที่ได้ดีพอสมควร เช่น ไปเยี่ยมแพทย์ทั่วประเทศ ให้ข้อมูลสถิติการฟ้องร้อง สาเหตุ และแนะนำว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร ให้ความรู้แก่ประชาชนด้วยการออกทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ เพื่อลดช่องว่างระหว่างแพทยสภา แพทย์กับประชาชน เปิดหลักสูตรการฝึกอบรมและสอบทางสาขา Emergency Medicine (เวชศาสตร์ฉุกเฉิน) ซึ่งก่อนหน้านั้นบ้านเราไม่มี และแพทย์ที่อยู่ที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลต่างๆ มักเป็นแพทย์ที่อาวุโสน้อยที่สุดในโรงพยาบาล รวมทั้งที่จุฬาฯด้วย ถือว่าเป็นการทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง แต่เรายังต้องผลิตแพทย์และต้องสนับสนุนแพทย์สาขานี้ต่อไป (และทุกสาขาโดยเฉพาะสาขาที่ขาดแคลน) ปัจจุบันนี้ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่างๆ ต่างก็มีแพทย์ที่มีความรู้ ความชำนาญประจำอยู่ ซึ่งผู้ที่มาที่ห้องฉุกเฉินบางรายถ้าไม่มีแพทย์ที่ชำนาญจริงๆ อาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่นาที นอกจากช่วยให้รอดชีวิตแล้ว การรักษาที่ถูกต้อง อย่างทันท่วงที ยังสามารถช่วยทำให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น ประหยัดเวลา เงินทอง การเจ็บป่วย ฯลฯ
นอกจากนั้นแพทยสภาสมัย 2546-2550 ยังเปิดเพดานการฝึกอบรมและสอบในทุกสาขาของแพทย์ เนื่องจากช่วงก่อน 2546 มีการฝึกอบรมและสอบแพทย์เพื่อเป็นผู้ชำนาญการทั้งหมดเพียง 700 กว่าคนต่อปี กรรมการแพทยสภาให้เปิดกว้าง เพราะประชาชนต้องการแพทย์อีกมาก แต่ขออย่างเดียว แพทย์ทุกคนต้องมีคุณภาพ มีมาตรฐาน คือต้องมีทั้งคุณภาพและปริมาณ ไม่ใช่ปริมาณอย่างเดียว
เราได้ของบประมาณเพิ่มจาก 1 ล้านบาท โดยผมร่างจดหมายขอไป 10 ล้านบาท (ตอนนั้นเราใช้ 25 ล้านบาทต่อปี) ซึ่งรัฐบาลสมัยโน้นได้กรุณาอนุมัติให้แพทยสภา 5 ล้านบาท! ถึงแม้ไม่ได้ดั่งใจ แต่ก็ได้เพิ่ม 500% แต่เสียใจที่ว่า ปัจจุบันนี้ เวลาผ่านไป 20 กว่าปี เรายังได้งบประมาณจากรัฐบาลเพียงเท่าเดิม คือ 5 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
รวมทั้งแพทยสภาได้ศึกษาหาข้อมูล ปรึกษาหารือกับรัฐบาลในสมัยโน้น จนได้งบประมาณเพิ่มสำหรับแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัช สหเวช ถ้าจำไม่ผิด 2,800 ล้านบาท ซึ่งโดยสรุป แพทย์ที่จบใหม่ได้เงินเดือนเพิ่มจาก 8,000 บาท อีก 5,000 บาทเป็น 13,000 บาท (ยังน้อยมาก) และถ้าสอบได้วุฒิบัตร (ผู้ชำนาญการสาขาต่างๆ) จะได้เงินเพิ่มอีก 10,000 บาท ผลงานนี้ถือว่าใช้ได้เลยทีเดียว
นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของการรู้หน้าที่ของตนเองแต่ยังมีอีกมาก เช่น การหาที่เรียนให้แพทย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 5 อำเภอของสงขลาถึง 100 คนที่อยากมาเรียนต่อทางสาขาต่างๆ เพื่อเป็นผู้ชำนาญการในสาขาต่างๆ และกลับไปรับใช้ประเทศที่นั่น โดยแพทยสภาได้หาที่เรียนให้ปีละ 25 คน เป็นระยะเวลา 4 ปี ในช่วงที่ผมเป็นเลขาธิการ
โดยสรุป ทุกๆ คนต้องรู้จักหน้าที่ พยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด พัฒนาตนเองตลอดเวลา อ่าน ปรึกษา ปรับตัวตลอดเวลา รวมทั้งทางเทคโนโลยีเพื่อจะได้สามารถทำหน้าที่ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป
นี่เป็นการเริ่มต้นเท่านั้นครับสำหรับการช่วยชาติ ผมจะเขียนต่อในโอกาสต่อไป
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี