เมื่อเดือนมกราคม 2567 เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตมิชอบ ซึ่งตำรวจ ปปป. ย้อนรอย บุกรวบนายกเทศมนตรีแห่งหนึ่งเรียกรับเงินสินบนผู้รับเหมาโครงการก่อสร้าง 5.4 ล้านบาทร้อยละ 12% ของงบประมาณ มูลค่า 7แสนบาท แลกกับการอนุมัติงานก่อสร้างผู้รับเหมาประมูลงาน
ข่าวในทำนองเดียวกันมีผ่านมาในอดีต เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ตำรวจ บก.ปปป. สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.-ป.ป.ช. รวบ 5ผู้ต้องหา ร่วมกันจับกุมแก๊งอิทธิพลมืดข่มขู่ผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างระบบประปา ก่อนเรียกรับเงินสินบน 6 แสนบาท ในจังหวัดแห่งหนึ่ง พบหนึ่งในกลุ่มผู้ต้องหาเป็นถึงนายกเทศบาล และเป็นญาติใกล้ชิดกับรัฐมนตรีในปัจจุบัน
เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ตำรวจปปป. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุกตรวจค้นและตรวจยึดทรัพย์สินของกลางหลายรายการ พร้อม เงินสด 4,600,000 บาท กลุ่มผู้ต้องหา เป็นข้าราชการระดับ 7 ของกรมแห่งหนึ่งในกระทรวงสาธารณสุข โดยมีหมายจับศาลอาญาในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ในข้อกล่าวหาร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น
เมื่อเดือนธันวาคม 2566 คดีโกงเงินคืนภาษีของเจ้าหน้าที่สรรพากร ในจังหวัดแห่งหนึ่ง เป็นการสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดเพราะตรวจพบเงินในบัญชีของเจ้าหน้าที่ 4 คนซึ่งแต่ละคนมีหลายบัญชี มีเงินสดในทุกบัญชีรวมกันในระดับ 2,000 กว่าล้านบาท โดยไม่สามารถแสดงหลักฐานที่มาของรายได้มหาศาลตามวิถีทางสุจริตได้ ป.ป.ช.สั่งอายัดไว้และใกล้จะครบระยะเวลา 1 ปี ตามอำนาจป.ป.ช. แล้ว และ เมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมานี้ ตำรวจ บก.ปปป. สนธิกำลังร่วมเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. ซ้อนแผนจับกุมนักร้องเรียนระดับชาติ หรือนักเคลื่อนไหวชื่อดัง กับพวก ร่วมกันข่มขู่เรียกเงิน อธิบดีกรมการข้าว 1.5 ล้านบาท เพื่อแลกกับการยุติการเปิดโปงเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบการบริหารงานโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการปลูกข้าว และโครงการปรับปรุงการผลิตสำหรับผู้ปลูกข้าว โดยอ้างว่า พบข้อพิรุธที่ส่อไปในทางทุจริต แก๊งขู่ตบทรัพย์เจ้าหน้าที่รัฐ เรียกเงิน 3 ล้านบาท ก่อนจะมีการเจรจาต่อรองเหลือเพียง 1.5 ล้านบาท ก่อนถูกรวบได้ตอนรับเงินมัดจำ
กรณีล่าสุดนี้ เป็นการกระทำที่สวนทางกัน กล่าวคือ เป็นกรณีที่ฝ่ายเอกชน ข่มขู่เรียกรับจากเจ้าหน้าที่รัฐ สำหรับในแง่ของหลักทางกฎหมายนั้น ผู้ถูกกล่าวหา มีความรับผิดจากผลการกระทำผิดที่ต่างกัน กล่าวคือ หากเป็นการกระทำของบุคคลซึ่งมีสถานะเจ้าหน้าที่รัฐ (เช่น เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล) เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ถือเป็นการกระทำผิดฐานเจ้าหน้าที่เรียกรับสินบน (ป. อาญา มาตรา 149)
แต่สำหรับในกรณีของบุคคลผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นเอกชน หากกระทำการข่มขู่ว่าจะเปิดเผยความลับแล้วเรียกเงิน จะมีความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ (ป.อาญา มาตรา 338)
อย่างไรก็ตาม ในทั้งสองกรณี ยังคงเกี่ยวกับพฤติกรรมทุจริตมิชอบ พฤติกรรมทุจริตมิชอบในวงการหน่วยงานรัฐ ดูราวจะเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นถี่ขึ้นเรื่อยๆ อาจจะกล่าวว่า แทบจะเป็นรายเดือน หรือรายวัน ก็อาจจะกล่าวเช่นนั้นได้ เห็นได้จากการลองสุ่มจากข่าวที่ปรากฏข้างต้น
เหตุการณ์เหล่านี้ สร้างความตระหนักรู้แก่เราประชาชนชาวไทยผู้เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายได้ว่า พฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่น ในประเทศไทย เป็นพฤติกรรมที่แอบแฝงในแวดวงส่วนราชการหรือหน่วยงานรัฐ ราวกับเชื้อไวรัสซึ่งยากที่จะทำการตรวจพบ และภัยร้ายที่เกิดจาก “ความละโมบ”นี้ เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสการพัฒนาประเทศ ลดทอนความน่าเชื่อถือด้านการลงทุน ส่งผลร้ายด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตประชาชนลุกลามไปทุกระดับชั้นในที่สุด
หากพิจารณาในแง่ร้ายทำให้เห็นได้ว่า พฤติกรรมการกระทำทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงหน่วยงานภาครัฐ มักเกิดกับโครงการใหญ่ๆ ที่มีงบประมาณสูง หรือการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ที่มีกระบวนการซับซ้อนป้องกัน และตรวจจับได้ยากมากกว่ามีจำนวนมาก และสร้างความเสียหายให้แก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นงบประมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีแนวโน้มพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางทางที่ดีขึ้นแม้ว่าจะได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักรู้จากทั้งองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ(สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ป้องกันและปราบปราบ (ป.ป.ช. ป.ป.ท. และปปง.) อย่างต่อเนื่อง
แต่ในทางกลับกัน หากในมุมมองแง่ดี จะพบว่า การทุจริตเล็กๆ น้อยๆ เริ่มลดลง ( เช่น การรีดไถ สอดใส่เงินใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่) เนื่องจากระบบเทคโนโลยีควบคุมเงินตรา (ที่มีระบบสร้างความเปิดเผย ตรวจสอบและติดตามได้) และด้านการสื่อสาร ในยุคดิจิทัล ทำให้ บรรดาสื่อและโซเชียล เข้ามามีบทบาทช่วยให้ทุกคนเป็นนักสืบ ตรวจสอบ แจ้งเบาะแส หรือเป็นผู้สื่อข่าวออนไลน์ ร้องเรียน ชี้มูล ทำให้สามารถตรวจพบการกระทำ
ทุจริตคอร์รัปชั่นที่แอบแฝงอยู่ให้ปรากฏแก่สังคมและประชาชนทั่วไปได้รับรู้ทันกลโกงการกระทำทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นจำนวนถี่ขึ้น ส่งผลให้เชิงบีบบังคับ ผู้นำในตำแหน่งระดับใหญ่ๆ ทั้งในแวดวงทางการเมือง และข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีจนบรรดาผู้ใต้บังคับบัญชา หรือลูกน้องไม่กล้ากระทำทุจริต
หากคนไทยหรือคนในประเทศไทยทุกคน ตระหนักรู้เท่าทัน ภัยร้ายการทุจริตคอร์รัปชั่น และ ร่วมใจตรวจสอบ ร่วมใจกันไม่สนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ ประเทศเราจะเป็นประเทศประชาธิปไตย ที่ปลอดทุจริตคอร์รัปชั่น ส่งผลให้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ประชาชนได้รับสวัสดิการที่ดีทั่วถึงรายได้ดีทัดเทียมกัน พ้นจากความเหลื่อมล้ำ และดัชนีรายได้ต่ำในอนาคต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี