มาตรการภาษีศุลกากรของประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 20 ม.ค. 2568 เป็นต้นมา เพื่อประโยชน์ทางดุลการค้า และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สร้างแรงสะเทือนต่อเศรษฐกิจการค้าทั่วโลก ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวจนถึงซบเซาของแต่ละประเทศทั่วโลก ซึ่งแตกต่างกันไป
แนวปฏิบัติในช่วงแรกของสหรัฐฯเป็นการประกาศนโยบายกำหนดอัตราภาษีศุลกากรกับประเทศคู่ค้าทั่วโลกในอัตราที่สูง-ต่ำ (ส่วนใหญ่สูงกว่าอัตราปกติที่ค้าขายระหว่างกัน) แตกต่างกันไปตามสภาพดุลการค้า (ที่มีต่อสหรัฐฯ) และความภักดีคู่ค้ากับประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเกณฑ์หลักในการกำหนด
ต่อมาสหรัฐฯ จึงจะกำหนดให้แต่ละประเทศยื่นขอเจรจาต่อรองและยื่นข้อเสนอเพื่อขอลดอัตราภาษีที่ประกาศกำหนดไว้ในคราวแรก หากเป็นที่พอใจ (พิจารณาท่าทีความภักดีและข้อเสนอ) ก็จะประกาศและส่งจดหมายแจ้งอัตราภาษีนำเข้าแก่ประเทศคู่ค้านั้นๆ
ในการนี้ แต่ละประเทศ รวมถึงกลุ่มประเทศต่างๆ (เช่น กลุ่มสหภาพยุโรป) ขอกำหนดการ นัดเข้าเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อต่อรอง ผ่อนผัน ลดหย่อนอัตราภาษีที่สหรัฐฯประกาศกำหนดอัตราในคราวแรก บางประเทศที่มีข้อต่อรอง อาจกำหนดท่าทีที่แข็งกร้าว ตอบโต้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ เช่น ประเทศจีนที่ถูกกำหนดอัตราภาษีสูงถึง 84% (10 เมษายน 2568) ในฐานะที่เป็นประเทศคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญอันดับหนึ่ง ในขณะที่จีนก็กำหนดมาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีสูงถึง 125% ก่อนจะเจรจาตกลงลดภาษีศุลกากรซึ่งกันและกันเหลือ 10% เป็นเวลา 90 วัน ในปัจจุบันสินค้าบางรายการที่เป็นยุทธศาสตร์ในการผลิตสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ (เช่น แร่หายาก) จีนได้ประกาศควบคุมการส่งออกแร่ธาตุหายากบางชนิดเพื่อตอบโต้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ
กลุ่ม BRICS เป็นกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เป็นชื่อย่อของกลุ่มประเทศ ที่ประกอบด้วย บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) จีน (China) และแอฟริกาใต้ (South Africa) มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการบูรณาการทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่มากขึ้น มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีแนวโน้มจะสามารถเข้าครอบงำเศรษฐกิจโลกได้ในอนาคต และเป็นกลุ่มประเทศที่ไม่ฝักใฝ่สหรัฐฯ
ประเทศไทยได้รับหนังสือเชิญจากกลุ่ม BRICS ให้เข้าร่วมมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ตามข่าวสารที่เกี่ยวข้อง ยังไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลไทยได้เข้าร่วมแล้ว หรือยังสงวนท่าทีอยู่ แต่ในช่วงหลังข่าวที่นำเสนอทำให้ สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ เข้าใจได้ว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับ กลุ่ม BRICS แล้ว
การที่สหรัฐฯ อาจมีความเข้าใจเช่นนั้น ไม่ถือว่าเป็นผลดีต่อไทย เพราะในด้านเศรษฐกิจและการเมืองสหรัฐฯ อยู่คนละขั้วกับรัสเซียและจีน
นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ อาจมองว่า ประเทศไทยเป็นทางผ่านสินค้าที่ผลิตจากประเทศจีนเข้าสู่สหรัฐฯ ยิ่งทำให้ประเทศไทยถูกสหรัฐฯ จับตามองมากขึ้น และมีผลต่อการขึ้นภาษีของ ทรัมป์
คณะทำงานของกระทรวงการคลัง ได้พยายามเข้าเจรจากับ คณะทำงานสหรัฐฯ ในเรื่องภาษีทรัมป์ มีข่าวว่า ได้ใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมาก สูงถึงประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อล็อบบี้หรือเพื่อโน้มน้าวชักจูงให้คณะทำงาน สหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีทรัมป์ ให้แก่ประเทศไทยในอัตราที่เหมาะสม
หากการเจรจาในเรื่องอัตราภาษีประสบความสำเร็จ ประชาชนคนไทยคงไม่ติดใจในเรื่องค่าใช้จ่ายในการล็อบบี้ แต่ถ้าผลออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย จนทำให้เกิดความสงสัยคาใจว่า ตามข่าวที่ว่ามีค่าใช้จ่ายในการล็อบบี้สูงถึงประมาณ 200 ล้าน บาทนั้น จริงหรือไม่ และได้ใช้จ่ายไปอย่างไร จึงไม่ค่อยได้ผล
ภาพผลงานที่ปรากฏทำให้เห็นว่าคณะทำงานของสหรัฐฯ ไม่ให้ราคา หรือไม่ให้ความสำคัญต่อคณะเจรจาประเทศไทยเท่าที่ควร และคณะทำงานของประเทศไทย น่าจะทำการบ้านและมีความพร้อมฉับไวในการโต้ตอบมากกว่าที่ควรจะเป็น
ล่าสุดประเทศไทยถูกกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐ อยู่ที่ 36% คงที่ โดยเป็นอัตราภาษีเดิมที่สหรัฐฯ จะเก็บอยู่แล้ว (เป็นอัตรานับแต่ประกาศเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2568) โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค. 2568
ตามประกาศ อัตราภาษีทรัมป์ล่าสุด ประเทศไทยเท่ากับกัมพูชาในปัจจุบัน (ลดลง 8% จากเดิม 48%) ลาวและเมียนมาจะถูกเก็บภาษีสูงถึง 40% อินโดนีเซีย ถูกเก็บภาษี 32% ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, มาเลเซีย ถูกเก็บภาษี 25% เวียดนาม ถูกเก็บภาษี 20% จากเดิม 46% เพราะเวียดนาม เจรจายอมลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ แต่สินค้าบางรายการจากเวียดนาม สหรัฐฯ ยังเก็บภาษีสูงกว่า 20%
ที่น่าสนใจคือ ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม BRICS และตัวย่อ S ของกลุ่มก็เป็นชื่อของประเทศนี้ ถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีเพียง 30% น้อยกว่าไทยเสียอีก เพราะประเทศไทยจะต้องเสียภาษี ให้สหรัฐฯ สูงถึง 36%
นักวิชาการประมาณว่าหากประเทศไทยต้องเสียภาษีให้สหรัฐฯ ในอัตราสูงถึง 36% ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสทางธุรกิจสูงถึง 900,000 ล้านบาท และยังต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการล็อบบี้เป็นจำนวนมาก แต่ก่อนเจรจาอัตราภาษีทรัมป์กำหนดไว้ 36% จนประกาศอัตราภาษีใหม่ ยังเป็น 36% เท่าเดิม ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จทั้งที่บางประเทศน่าจะเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่า กลับเสียภาษีทรัมป์ในอัตราที่ต่ำกว่าประเทศไทย
หากประเทศไทยไม่สามารถเจรจาลดภาษีทรัมป์ลงได้ ต้องเร่งหารายได้จากทางอื่นมาชดเชย โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยว และต้องสร้างค่านิยมให้ผู้ประกอบการคนไทย มีความรู้สึกและจิตสำนึกต้อนรับชาวต่างประเทศให้อบอุ่นโดยไม่เอารัดเอาเปรียบให้เป็นข่าว
อัตราภาษีทรัมป์ ที่ประเทศไทยต้องเสียให้สหรัฐฯ 36% จะมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 หากคณะทำงานประเทศไทย ทุ่มเททำงาน เจรจากับสหรัฐฯ ในช่วงโค้งสุดท้าย อาจลดอัตราภาษีลงได้อีก อะไรก็เกิดขึ้นได้
ดร.รุจิระ บุนนาค
กรรมการผู้จัดการ
Marut Bunnag International Law Office
rujira_bunnag@yahoo.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี