ในอาชีพเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับดนตรีที่ผ่านมายาวนาน ผมพบว่า “Ship of Fools” เป็นคำที่ถูกใช้เป็นชื่อเพลงอยู่หลายเพลง จึงคิดว่าน่าจะเป็นสำนวนภาษาอังกฤษหนึ่งที่มีความหมายเฉพาะ แต่พอไปค้นดู ปรากฏว่าไม่ถูกเสียทั้งหมด
“Ship of Fools” เป็นคำเปรียบเปรยมาตั้งแต่ยุคโบราณ สุดแล้วแต่ใครจะเอาไปใช้ตีความอย่างไร คำคำนี้ถูกพบครั้งแรกในเล่มที่ 6 ของหนังสือชุด Republicของ เพลโต สมัยกรีกโบราณก่อนคริสตศาสนาตั้ง 376 ปี
ครั้นจะเขียนแบบนักวิชาการว่าเป็น “อุปมานิทัศน์” ก็จะเสียเวลาต้องเปิดพจนานุกรมกันอีก เอาง่ายๆ ว่า เป็นการเปรียบเทียบเกี่ยวกับเรือที่ลูกเรือมีความผิดปกติหรือความบกพร่อง ส่วนจะบกพร่องเรื่องสติปัญญาหรือจิตใจขนาดไหนนั้น ไม่รู้แน่ เจตนาก็คือเปรียบเรือกับรัฐหรืออำนาจรัฐ และไม่รู้ว่าเป็นที่มาของคำว่า “รัฐนาวา” ถึงทุกวันนี้หรือเปล่า
ในคริสตศตวรรษที่ 14-15 ภาพพจน์ของ “เรือ” ก็ได้รับความนิยม โดยเฉพาะในดินแดนต่างๆ ที่พูดภาษาเยอรมัน คนที่ทำให้การเปรียบเทียบนี้แพร่กระจายไปมากขึ้นก็เป็น เซบาสเตียน บรันท์ นักเขียนหนังสือเสียดสีเจ้าของหนังสือ Ship of Fools ในปี 1494 ซึ่งต่อมากลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดภาพเขียน Ship of Fools อันลือลั่นของ ไฮรอนิมัส บอสช์ จิตรกรชาวดัทช์ ตอนนี้ภาพอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
จากนั้น “Ship of Fools” ก็ถูกนำมาใช้อยู่เรื่อยๆ หนึ่งในนั้นคือ เป็นชื่อนวนิยายดังในปี 1962 โดย แคเธอรีน แอนน์ พอร์เทอร์ เล่าเรื่องผู้คนแตกต่างที่ต้องมาลงเรือลำเดียวกัน ซึ่งแล่นจากเม็กซิโกไปยุโรปในปี 1933 ซึ่งผู้คนเหล่านั้นก็มีหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งเยอรมัน, เม็กซิกัน, อเมริกัน, คิวบา, สวิส, สวีดิช และกลุ่มใหญ่สุดคือคนงานที่ถูกส่งกลับสเปนจากคิวบา เป็นการเปรียบเทียบที่ย้อนรอบไปถึงความเฟื่องฟูของลัทธินาซี, ความเหลื่อมล้ำของสถานภาพ และความก้าวหน้าของโลก
นวนิยาย Ship of Fools ได้รับคำชื่นชมจากนักอ่านและนักวิจารณ์มากมาย จนฮอลลีวู้ดอดรนทนอยู่ไม่ไหว เอาไปทำเป็นหนังในปี 1965 รวมดาราดังๆ ไว้เพียบ และเป็นหนังเรื่องสุดท้ายในอาชีพการแสดงของ วิเวียน ลีห์ หนังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล ออสการ์ ถึง 8 รางวัล แต่ได้มา 2 รางวัลในสาขาคือ กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และถ่ายทำยอดเยี่ยม
ส่วนด้านดนตรี คำว่า “Ship of Fools” ก็กลายเป็นชื่อเพลงของศิลปินหลายราย และการตีความจากคำก็แตกต่างกันไป อย่าง เกรทฟูล เด๊ด, บ็อบ ซีเกอร์, โรเบิร์ท แพลนท์, เวิร์ลด์ ปาร์ตี้, อีเรเซอร์, เจฟฟ์ รุสโซ่ ฯลฯ รวมถึงอีกหลายเพลงที่ประกอบในหนังและซีรี่ส์หลายเรื่อง
แต่แสบสันที่สุด น่าจะเป็นเพลง “Ship of Fools” ในปี 1970 ของวง เดอะ ดอร์ส ที่นักร้องนำ จิม มอร์ริสัน เขียนเปรียบถึงโลกและมนุษยชาติไว้ว่า
“Ship of fools, ship of fools
The human race was dyin’ out
No one left to scream and shout”
ทั้งหมดที่เล่ามาคร่าวๆ ใครอยากจะต่อยอดความรู้มากกว่านี้ ก็ไปหาอ่านเอาเอง ให้ผมเล่ารายละเอียดเอง เดี๋ยวผิดๆ ถูกๆ จะมาต่อว่ากันทีหลัง
เอาเข้าจริงๆ คำว่า “Ship of Fools” หรือ “เรือของคนโง่” มักจะถูกนำไปเปรียบหรืออุปมาอุปไมยกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปไม่กี่อย่าง อย่างหนึ่งอุปมาถึงคนที่มีศรัทธาความเชื่อระดับลุ่มหลงในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง ผู้ที่มีศรัทธาเหล่านี้อาจจะคิดว่า พวกเขากำลังแล่นเรือไปสู่สวรรค์ แต่ในความจริงคือ พวกเขาล่องลอยอยู่ตรงไหนไม่รู้ และหาฝั่งไม่เจอ
อีกอย่างที่ใช้กันมากก็เป็นทางการเมือง คือ เปรียบกับประเทศหรือสังคมที่ผู้คนยังขาดปัญญาและความตระหนักรู้ ต่อให้มีผู้นำที่เก่งกาจเพียงใดก็นำพาประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองก้าวหน้าได้ยาก หรือประเทศที่ประชาชนยังมีความศรัทธาเชื่อถือในผู้นำที่ไร้ความสามารถ หรือผู้นำที่ฉ้อฉล ซึ่งจะนำพาประเทศไปสู่ความเสื่อมถอย และอาจจะถึงความหายนะในระยะยาว
อย่างเพลง “Ship of Fools” ของเกรทฟูล เด๊ด ก็สะท้อนภาพของอเมริกาในยุคของประธานาธิบดี ริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน ที่มีคดีวอเตอร์เกตอันอื้อฉาว จนตัวประธานาธิบดีต้องออกจากตำแหน่ง
หลังจากมองไปเรื่องไกลตัว แล้วหันมามองใกล้ๆ ตัว ผมก็ไม่แน่ใจว่า ตอนนี้เรากำลังอยู่บน Ship of Fools หรือเปล่า เพียงแต่มันจะหนักหนาสาหัสตรงที่ กัปตันและผู้โดยสารส่วนใหญ่มีสติปัญญาพอๆ กันหรือไม่
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี