เมื่อวานนี้ (12 พฤษภาคม 2568) ประชาชนจากหลายจังหวัด นัดหมายเดินทางไปแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติไทย ณ อนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีฯ และได้ไปให้กำลังใจทหารที่ปราสาทตาเมือนธม
เป็นการแสดงพลังพิทักษ์ปราสาตาเมือนธม พร้อมกับสนับสนุนให้กำลังใจพลโทบุญสินพาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 พร้อมด้วยทหารที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาอธิปไตยบริเวณปราสาทตาเมือนธมเต็มที่ ไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว
นำโดยเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นายพิชิต ไชยมงคล พร้อมด้วยกลุ่มพี่น้องชาวไทย จาก จ.สุรินทร์, จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี ตลอดจนชาวกรุงเทพฯ หลายร้อยคน
1. แกนนำได้กล่าวถึงที่มาที่ไปที่ข้อวิตกกังวล ตั้งแต่การประชุม GBC นายภูมิธรรม เวชยชัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีคำสั่งให้ทหารไทยถอย และมีคำสั่งถึง 2 ครั้ง
แต่ทหารไทยฟังคำสั่งแม่ทัพภาคที่ 2 เพียงคนเดียว จึงไม่มีการถอยจากที่ตั้งมั่น และกลายเป็นประเด็นในโลกโซเชียล และสื่อต่างๆ รวมถึงการกระทบกระทั่งกันของทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณปราสาทกับทหารฝ่ายกัมพูชา แม้ว่าจะมานั่งปรับความเข้าใจกันแล้วก็ตามที
หนึ่งในกลุ่มมวลชนเป็นอดีตทหารพราน บอกกับนักข่าวด้วยน้ำเสียงดุดันว่า ตนเองเสียสละออกรบหลายสมรภูมิ เพื่อป้องกันอธิปไตย รวมถึงสมรภูมิในปี 2554 ด้วย ที่ปราสาทตาเมือนธมและไม่ยอมเสียพื้นแผ่นดินให้ใครแม้แต่ตารางนิ้วเดียว รมว.กลาโหมทำอย่างนี้ได้อย่างไร
แกนนำได้นำมวลชนเดินทางไปให้กำลังใจและมอบสิ่งของแก่ทหารที่ปราสาทตาเมือนธม
ในระหว่างกิจกรรม มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองสุรินทร์ และทหารด้านปราสาทตาเมือนธม ดูแลอย่างใกล้ชิด
2. จุดยืนและการแสดงออกของประชาชนข้างต้น ไม่ได้เกินเลย ไม่ได้คลั่งชาติ
แต่มีฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทางกฎหมาย รองรับเต็มเปี่ยม
แฟนเพจ โบราณนานมา ได้เปิดเผยข้อมูลชัดเจน ระบุว่า “ปราสาทตาเมือนธม” มิใช่ข้อพิพาท แต่เป็นของประเทศไทยมาโดยตลอด
“...กรมศิลปากร เคยออกมาให้ข้อมูลเมื่อปี ๒๕๕๓ ว่า “ปราสาทตาเมือนธม” อยู่ฝั่งไทย
โดยกรมศิลปากรทำการสำรวจพบและขึ้นบัญชีเป็นโบราณสถานของไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๘ หรือเมื่อ ๙๐ ปีที่แล้ว และปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี
ซึ่งที่ผ่านมา กรมศิลปากรได้บูรณะ โดยทางการกัมพูชารับรู้มาตลอด อีกทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยังได้สร้างเส้นทางเที่ยวชมสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย
อย่างไรก็ตาม หากกัมพูชาอ้างสิทธิการถือครองพื้นที่ปราสาทตาเมือนธมจริง ไทยต้องยืนยันว่าพื้นที่ชายแดนจุดนี้เป็นของเรา โดยใช้แผนที่ตามหลักสากล ซึ่งแบ่งพื้นที่ตามหลักสันปันน้ำ
อนึ่ง “ปราสาทตาเมือนธม” ตัวปราสาทอยู่บนเนินเขาสร้างคร่อมโขดหินธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ในรูปของสยัมภูศิวลึงค์ และเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรม ตั้งอยู่ในช่องเขาตาเมือน (หรือช่องเขาตาเมียง) เทือกเขาพนมดงรัก ในเขตบ้านหนองคันนาสามัคคี หมู่ ๘ ตำบลบ้านตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือน (ธม เป็นภาษาเขมร แปลว่า ใหญ่) ซึ่งประกอบด้วยปราสาทหินสามหลัง เรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก คือ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือน
ดังนั้น กัมพูชารับรู้มาตลอด แต่ตีเนียน คิดแต่จะสร้างสถานการณ์ ปลุกระดมคนกัมพูชา ที่ชักจูงได้ง่าย โดยไม่ใช้สติและปัญญาไตร่ตรองถึงข้อเท็จจริงก่อน ให้ดำเนินไปเหมือนกรณี “ปราสาทพระวิหาร”
ป.ล. “ปราสาทตาเมือนธม” มิใช่ข้อพิพาท และอย่าพยายามทำให้เป็น “ข้อพิพาท” และการที่ทหารกัมพูชา ขึ้นมาถึงปราสาทตาเมือนธม นั่นคือ “การรุกล้ำอธิปไตยของประเทศไทย”
.... [นักการเมืองมาแล้วก็จากไป ... แต่อธิปไตยของชาติไทยต้องอยู่แบบมั่นคงสืบไป ]
...ฝากถึงผู้มีอำนาจ จะได้รู้ว่าทำไม ทหารไทยถึงไม่ถอนกำลังออกจากพื้นที่ดังกล่าว เพราะทหารหาญ มีหน้าที่ปกป้องและรักษาอธิปไตยของชาติไทยให้คงอยู่”
3. ปกป้องรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน และปกป้องเอกราชอธิปไตยของชาติ
พิจารณาหนังสือเปิดผนึก ว่าด้วยเรื่อง การปกป้องดินแดนของราชอาณาจักรไทยบริเวณปราสาทตาเมือนธม
สะท้อนข้อมูล ข้อเท็จจริง มุมมองทางกฎหมาย และจุดยืนอันชอบธรรม ที่น่าสนใจ ระบุว่า
“...ตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่งให้กองทัพภาคที่ ๒ ถอนกำลังจากบริเวณปราสามตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์
โดยอ้างว่าเพื่อลดการเผชิญหน้ากันระหว่างกองกำลังของราชอาณาจักรไทยกับประเทศกัมพูชา และให้ใช้ MOU 43 เป็นกรอบการเจรจากรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนในบริเวณดังกล่าว
ซึ่งพวกเราไม่อาจเห็นด้วยกับการสั่งการดังกล่าวได้
การกระทำของนายภูมิธรรมฯ เป็นการกระทำที่จะเป็นการสุ่มเสี่ยงอย่างร้ายแรงที่จะทำให้ราชอาณาจักรไทยสูญเสียดินแดนได้ในอนาคต เพราะประเทศกัมพูชาจะนำการสั่งการดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ในเวทีนานาชาติในการรุกล้ำดินแดนของประเทศเรา อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงภายนอกราชอาณาจักร
พวกเราจึงขอให้ข้อมูลทางวิชาการทั้งในประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบูรณภาพแห่งดินแดนไทยบริเวณปราสาทตาเมือนธมแก่ปวงชนชาวไทย คณะรัฐมนตรี และกองทัพไทย ดังนี้
๑. ปราสาทตาเมือนธม ตั้งอยู่บริเวณช่องเขาตาเมือน เทือกเขาพนมดงรัก ในเขตบ้านหนองคันนาสามัคคี หมู่ ๘ ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์
ซึ่งหากพิจารณาตามสนธิสัญญาปักปันเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๔ แล้ว บริเวณปราสาทตาเมือนธมทั้งหมดอยู่หลังแนวสันปันน้ำบนบริเวณพื้นที่ของราชอาณาจักรไทย
แม้การกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างสองประเทศจะยังไม่ลุล่วงในบางพื้นที่ แต่หลักการเรื่องการใช้สันปันน้ำนั้นชัดเจนแล้ว
ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีปราสาทพระวิหารที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศใช้หลักกฎหมายปิดปาก (estoppel) ทำให้ประเทศไทยอ้างเรื่องสันปันน้ำไม่ได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงบริเวณปราสาทพระวิหารเท่านั้น ไม่รวมถึงปราสาทตาเมือนธมหรือพื้นที่อื่นๆ แต่อย่างใด
๒. กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนปราสาทตาเมือนธมเป็นโบราณสถาน ตามประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วย โบราณสถานศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิทธภัณฑ์แห่งชาติ พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ หน้า ๓๖๗)
อันแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนกับปราสาทตาเมือนธมโดยประเทศกัมพูชาไม่ได้โต้แย้งมากว่า ๙๐ ปีแล้ว
ซึ่งการที่ประเทศกัมพูชาไม่เคยทักท้วงการขึ้นทะเบียนโบราณสถานของไทยมาตลอดระยะเวลากว่า ๙๐ ปีนี้ ย่อมนานพอที่จะถือว่ามีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปราสาทที่อาจกล่าวได้ตามหลักกฎหมายปิดปาก (estoppel) ซึ่งประเทศกัมพูชาจะไม่สามารถอ้างว่าปราสาทตามเมือนธมอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนได้
๓. การนำเรื่อง MOU43 มาใช้แก่การบริหารจัดการปราสาทตาเมือนธม เป็นการนำเรื่องการกำหนดเส้นเขตแดนทางบกมาปะปนกับการดูแลโบราณสถาน
การที่ทหารกัมพูชาและประชาชนชาวกัมพูชารุกล้ำ และมีพฤติกรรมไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่เกิดบริเวณที่ประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์
ชาวกัมพูชาซึ่งปรากฏตัวที่ปราสาทตาเมือนธมและมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองตามกฎหมายไทย มีการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่มีมารยาท และผิดระเบียบข้อบังคับการเข้าชมโบราณสถาน
ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของประเทศไทยย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการเข้าไปห้ามปรามการกระทำดังกล่าวได้ หากจะมีการปะทะกันบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดาของเจ้าหน้าที่ไทยที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายตราบเท่าที่การกระทำนั้นชอบด้วยกฎหมายและพอสมควรแก่เหตุ
ซึ่งการนำ MOU43 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา โดยมีการตั้งคณะกรรมการหารือกัน จึงเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงประเด็น และอาจทำให้ประเทศกัมพูชากล่าวอ้างได้ว่าราชอาณาจักรไทยยอมรับว่าพื้นที่บริเวณปราสาทตาเมือนธมเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศกัมพูชา ซึ่งจะก่อปัญหาให้ราชอาณาจักรไทยต้องเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดน
ทั้งๆ ที่ ข้อเท็จจริงในกรณีนี้เป็นเรื่องของความประพฤติและการกระทำของทหารกัมพูชาและประชาชนกัมพูชาที่ปฏิบัติตนไม่ถูกต้องตามระเบียบการเข้าชมโบราณสถานของราชอาณาจักรไทย
๔. นายภูมิธรรมให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า เกรงว่าจะเกิดสงคราม ดูจะเป็นการหวั่นวิตกเกินกว่าเหตุไปมาก
การกระทบกระทั่งกันตามแนวชายแดนระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้ามีการกระทำหรือการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมระหว่างกัน
และหากเป็นการสงครามเกิดขึ้น ต้องเป็นกรณีที่ราชอาณาจักรไทยหรือประเทศกัมพูชาได้ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ
ซึ่งการประกาศสงครามครั้งสุดท้ายของราชอาณาจักรไทย คือ พ.ศ. ๒๔๘๕ เพื่อเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง และเข้าร่วมในความขัดแย้งทางอาวุธโดยตรงของราชอาณาจักรไทยครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์คือสงครามเวียดนาม พ.ศ. ๒๕๐๙
การกล่าวว่าเหตุการณ์นี้อาจนำไปสู่การกระทบกระทั่งตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่การกล่าวว่าจากเหตุการณ์นี้จะนำไปสู่สงครามจึงเป็นการกล่าวที่ไม่ถูกต้องและเป็นคนละมิติกัน
นอกจากนี้ ราชอาณาจักรไทยก็เคยปะทะกับประเทศกัมพูชาในบริเวณแนวชายแดนในคราวมีข้อพิพาทการที่ประเทศกัมพูชาจะขื้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกใน พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งรุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่ปราสาทตาเมือนธมมา แต่ถึงกระนั้นการปะทะกันดังกล่าวก็ยังไม่บานปลายเป็นสงคราม
๕. ในห้วงเวลานี้ ความสัมพันธ์ในระดับรัฐบาล (และอาจรวมถึงผู้อยู่เบื้องหลังรัฐบาล) ระหว่างไทยและกัมพูชาอยู่ในระดับดีมาก
เห็นได้จากการที่สมเด็จฮุน เซน อดีตผู้นำของประเทศกัมพูชายังเคยเดินทางมาประเทศไทยเพื่อเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยหลังจากที่ได้รับการพักโทษจากกรมราชทัณฑ์ รวมถึงครอบครัวของผู้นำรัฐบาลประเทศไทยก็มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันกับครอบครัวของผู้นำรัฐบาลกัมพูชา ยิ่งแทบไม่มีเหตุปัจจัยที่เหตุการณ์ ณ ปราสาทตาเมือนธมจะพัฒนากลายเป็นสงคราม
๖.การกระทำของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่มีคำสั่งให้ทหารถอยออกจากบริเวณปราสาทตาเมือนธม และให้ใช้กรอบตามแนว MOU 43 ในการเจรจา
สะท้อนถึงภาวะปราศจากความเป็นผู้นำ ไม่มีความเข้าใจในจุดยืนของตนเอง ไม่เข้าใจข้อกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ และไม่รักษาสิทธิผลประโยชน์และอธิปไตยของชาติบ้านเมือง
๗. หากการกระทำดังกล่าวของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะตัวแทนของรัฐบาล นำมาซึ่งการครอบครองพื้นที่ (occupy) โดยกองกำลังหรือประชาชนชาวกัมพูชา
เท่ากับประเทศไทยกำลังสูญเสียอธิปไตยในเชิงข้อเท็จจริงเหนือดินแดนบริเวณปราสาทตาเมือนธมไป
จึงเป็นการกระทำที่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาเป็นใจ และมิใช่เพียงการกระทำความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือการประพฤติมิชอบที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ เท่านั้น
เป็นที่แน่ชัดว่า เป็นกรณีการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๙ ซึ่งระบุให้ ผู้ทำให้เสียอธิปไตยหรือดินแดนแม้เพียงบางส่วนต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต
ด้วยเหตุผลในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว จึงขอให้กำลังใจแก่กองทัพไทยในการทำหน้าที่ปกป้องรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน และปกป้องเอกราชอธิปไตยของชาติจงทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งกล้าหาญ ประชาชนจะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กสนับสนุนกองทัพอย่างแน่นอน”
หนังสือเปิดผนึกข้างต้น โดย อาจารย์ ดร.วิศรุต สำลีอ่อน อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อาจารย์คมสัน โพธิ์คง และ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สรุป ประเด็นข้อเรียกร้องให้ทหารปกป้องพื้นที่ปราสาทตาเมือนธม ถือว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผล ไม่ใช่การคลั่งชาติ แต่เป็นการรักชาติที่มีสติปัญญา
ตรงกันข้าม นักการเมืองที่สมยอมกับผลประโยชน์ของต่างชาติ อาจถูกจดจำในหน้าประวัติศาสตร์ว่า เป็นการขายชาติอย่างไร้หิริโอตตัปปะ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี