มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยทั้งในผู้ป่วยเพศชายและหญิง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งอันดับต้นๆ (cancer related death) ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
อาการที่ทำให้สงสัย
ในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ อาจตรวจพบจากความผิดปกติของภาพรังสี อาการนำ ได้แก่ ไอเรื้อรัง มีเสมหะปนเลือด เหนื่อย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น หรือจะมีอาการตามตำแหน่งที่มะเร็งปอดแพร่กระจายไป เช่น ถ้ามะเร็งกระจายไปที่สมองหรือไขสันหลัง อาจมีอาการทางระบบประสาท แขนขาอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ หรือมะเร็งกระจายไปกระดูก อาจมีอาการปวดกระดูก เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอด มีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด ได้แก่
1.บุหรี่ เป็นสาเหตุมากที่สุด โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนมวนและจำนวนปีที่สูบบุหรี่
2.การได้รับสารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่นควันบุหรี่ แอสเบสตอส (asbestos) silica สารหนู (arsenic) ก๊าซเรดอน (radon) รวมถึงฝุ่นและไอระเหยจากนิกเกิล โครเมียม และโลหะอื่นๆ
3.อายุ ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ
4.มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอด (first degree relatives) มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดแม้ไม่ได้สูบบุหรี่
การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจหามะเร็งปอดแบบง่ายหรือสามารถทำด้วยตนเองดังเช่น มะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามมีการตรวจแบบใหม่ที่เป็นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (low-dose computerized tomography) ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการตรวจคัดกรอง ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่
-อายุ ≥ 50 ปี
-มีประวัติสูบบุหรี่ ≥ 20 pack-year*
* คำนวณ pack-year เท่ากับ จำนวนสูบ (ซอง/วัน) x จำนวนปี ที่สูบ
ชนิดของมะเร็งปอด แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 ชนิด ดังนี้
1.มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer; SCLC)
พบประมาณร้อยละ 10-15 ของมะเร็งปอดทั้งหมดส่วนใหญ่พบบริเวณใกล้ขั้วปอดมากกว่าชายปอด เป็นชนิดที่เจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็ว และอาจสร้างสารเคมีบางอย่างทำให้เกิด paraneoplastic syndromes การรักษาหลักได้แก่ การให้ยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา ซึ่งมักตอบสนองต่อการรักษาได้ดี
2.มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer; NSCLC)
พบประมาณร้อยละ 85-90 ของมะเร็งปอดทั้งหมด โดยสามารถแบ่งเป็นชนิดย่อยๆ ได้แก่ adenocarcinoma ซึ่งพบมากสุด รองลงมาคือ squamous cell carcinoma, mixed histology และ large cell carcinoma เป็นต้น มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก มักมีการดำเนินโรคที่ช้ากว่า และมีโอกาสตรวจพบในระยะต้นได้มากกว่า SCLC
การรักษามะเร็งปอด
ปัจจัยที่นำมาพิจารณาวิธีการรักษา ได้แก่ ตำแหน่ง ขนาดประเภทของเซลล์มะเร็ง และระยะของมะเร็งปอด รวมถึงสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กในระยะเริ่มต้น การรักษาหลัก คือ การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกและรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัดในบางกรณี เช่น ขนาดก้อนมะเร็งมากกว่า 4 เซนติเมตร หรือมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองหากภายหลังการผ่าตัดพบว่า ผ่าตัดมะเร็งออกได้ไม่หมด(microscopic หรือ macroscopic positive margin) แนะนำการฉายรังสีภายหลังการผ่าตัดร่วมด้วย
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก ในระยะการแพร่กระจายเริ่มจากพิจารณาชนิดของเซลล์มะเร็ง (histology subtype) ถ้าเป็นnon-squamous โดยเฉพาะชนิด adenocarcinoma ให้พิจารณาส่งตรวจความผิดปกติยีนที่เกิดการกลายพันธุ์ (genetic alterations)เพราะปัจจุบันมีการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ๆ ได้แก่ ยามุ่งเป้า(targeted therapy) ซึ่งมีผลการตอบสนองต่อการรักษาดีมาก โดยยีนที่ควรพิจารณาส่งมากที่สุด ได้แก่ ยีน Epidermal Growth Factor Receptor (EGFR) เนื่องจากพบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยคนไทย ประมาณร้อยละ 40-50 ยีนอื่นๆ ที่พบได้แต่พบไม่บ่อย เช่น Anaplastic Lymphoma Kinase (ALK), ROS proto-oncogene receptor tyrosine kinase 1 (ROS-1) fusions, BRAFV600E mutations เป็นต้น
การรักษาทางยา (systemic therapy) ในผู้ป่วยที่เป็น NSCLC ระยะที่มีการแพร่กระจาย
1.ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการใช้ยากำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ทั่วร่างกายมีผลข้างเคียงมากกว่ายากลุ่มอื่น
2.ยามุ่งเป้า (Targeted therapy) เป็นการรักษาโดยการใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติ มีผลข้างเคียงน้อยและมีการตอบสนองต่อการรักษาดีมาก อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้จะใช้ได้ผลดีเฉพาะผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของยีนที่จำเพาะต่อยาเท่านั้น จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจในชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วยก่อนการใช้ยากลุ่มนี้
3.ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) ช่วยเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีประสิทธิภาพในการต่อต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น ในผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ตรวจไม่พบความผิดปกติของยีน ให้พิจารณาวัดระดับการแสดงออกของ programmed cell death ligand 1 (PD-L1 expression)ในชิ้นเนื้อมะเร็ง ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการทำนายว่าผู้ป่วยรายใดน่าจะตอบสนองได้ดีต่อยาภูมิคุ้มกันบำบัด อาจจะใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้คู่กับยาเคมีบำบัด
พญ.กุลธิดา มณีนิล
อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา รพ.ราชวิถี
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี