สื่อไทยให้ความสนใจยกพื้นที่ให้กับข่าวความขัดแย้งระหว่างตระกูลเผด็จการกัมพูชากับตระกูลนักธุรกิจการเมืองทุนสามานย์ปล้นชาติไทย จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้านทิศตะวันออกมาหลายวัน
วันนี้เปลี่ยนบรรยากาศมาแสดงความยินดีกับประเทศเพื่อนบ้านทิศตะวันตกของไทยคือพม่า ที่ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะจะจัดให้มีการเลือกตั้งปลายปีนี้ และต้นปีหน้า
การเลือกตั้งพม่าที่ถูกตะวันตกตราหน้าว่า จอมปลอมที่น่าละอาย แต่หากมองจากความจริงในบริบทสังคม การเมือง และความมั่นคงของสหภาพพม่า กล่าวได้ว่า การเมืองในพม่าพัฒนาแบบพม่าๆ อย่างน่ายินดี
สื่อทางการพม่ารายงานเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนว่า พลเอกมินอ่อง หล่าย ผู้นำคณะบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council=SAC) กล่าวในที่ประชุมที่กรุงเนปิดอว์ว่า “SAC ขอให้
คำมั่นว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งหลายแบบหลายพรรคในเดือนธันวาคมปีนี้ และเดือนมกราคมปีหน้า”
สื่อทางการพม่าไม่ได้ให้รายละเอียดว่า เป็นการเลือกตั้งในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเป็นระยะเวลา หรือเป็นการเลือกตั้งครั้งเดียวแต่ใช้เวลาสองเดือนคาบเกี่ยวข้ามปีนั้น รวมทั้งการใช้เวลาหาเสียงด้วยหรือไม่
“เราพยายามเตรียมการที่จำเป็น เพื่อให้การเลือกตั้งคลุมพื้นที่กว้างและมากที่สุดเท่าที่ทำได้..สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเป็นการเลือกตั้ง “เสรีและยุติธรรม” มิน อ่อง หล่าย กล่าว
ทันทีที่สื่อทางการพม่าเสนอข่าวนี้ออกมา ตะวันตกประสานเสียงประณามว่า “เป็นการเลือกตั้งที่น่าละอาย” ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นสถานการณ์ในพม่า นายทอม แอนดรูว์ กล่าวว่า “รัฐบาลทหารจัดการเลือกตั้งภาพลวงตาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลพลเรือน..คุณไม่สามารถจัดเลือกตั้งในขณะที่คุณกักขัง ทรมานและสังหารฝ่ายตรงข้าม” เขากล่าวกับผู้สื่อข่าวในเจนีวา
และสาธยายต่อไปว่า รัฐทหารพม่าสูญเสียพื้นที่ควบคุมจำนวนมากให้กองโจรฝักใฝ่ประชาธิปไตย และกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ ปัจจุบันรัฐบาลทหาร ได้รับการสนับสนุน
จากจีนและรัสเซียที่เหมือนไม้เท้าค้ำยันไม่ให้ล้มลงหรือพ่ายฝ่ายต่อต้าน” นายแอนดรูว์ กล่าว
นายแอนดรูว์ ก็เหมือนนักวิเคราะห์ตาบอดคลำช้างทั่วไป ที่ตกเป็นเหยื่อปฏิบัติการข่าวของอเมริกาและตะวันตกที่ใช้สื่อกระแสหลักเป็นเครื่องมือปั่นกระแสความสำเร็จของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าตลอดเวลาสี่ปี โดยที่ไม่เข้าใจลึกซึ้งถึงบริบทสงครามกลางเมืองพม่า ว่า มันจำกัดวงอยู่ที่จุดซึ่งเป็นปัญหานานกว่าหกสิบปีแล้ว
ผู้ที่ทำข่าวและติดตามการเมืองพม่าพบว่า สงครามในพม่าจำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะในรัฐและพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เท่านั้น สงครามเมืองพม่าไม่เคยขยายวงหรือลุกลามไปใน 7 ภูมิภาคภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลพม่า กล่าวคือการสู้รบจำกัดวงอยู่ใน 7 รัฐของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นอย่างนั้น ตลอดเวลา 60 ปี
สงครามกลางเมืองพม่าไม่เคยขยายวงออกถึง 7 ภูมิภาคภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลกลางพม่า แต่มีบ้างในบางครั้งที่เกิดความขัดแย้งในเมืองหลวง ที่ฝ่ายต่อต้านกับรัฐบาลซึ่งเป็นชาติพันธุ์พม่าเดียวกันจับอาวุธขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลทหาร เช่นปี 2531 หรือที่พม่าเรียกว่า 888 เวลานั้นนักศึกษาและชาวพม่านับหมื่นคนหนีเข้าป่าพึ่งกองกำลังกลุ่มชาติต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า
กลุ่ม 888 ก็เหมือนคนเดือนตุลาของไทยที่เข้าป่าจับปืน เพื่อล้มล้างนายทุน ขุนศึก ศักดินา แต่อยู่ในป่าได้ไม่นานพบว่าอุดมการณ์เพ้อฝันไม่มีวันเป็นจริงได้ คนเดือนตุลาออกจากป่ามารับใช้นายทุนฉันใด คนรุ่น 888 พม่าก็ฉันนั้น
เมื่อนักรบ 888 ทิ้งป่าสู่นคร กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า ก็หันกลับไปสู้รบแย่งชิงผลประโยชน์กันเองภายในรัฐต่างๆ การแย่งชิงกันเป็นใหญ่และผลประโยชน์กันส่วนใหญ่สู้รบกัน ในรัฐฉาน รัฐคะฉิ่นใกล้ชายแดนจีน และรัฐฉานทางใต้ใกล้ชายแดนไทย กลุ่มชาติพันธุ์ที่สู้รบกันเองใกล้ชายแดนไทยในรัฐกะเหรี่ยง ส่วนในรัฐคะยาเงียบหายไปหลายปีแล้ว
เมื่อ พลเอก มิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจจากพรรคเอ็นดี ฝ่ายนางออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 วอชิงตันที่เคยเผยแพร่คัมภีร์เสรีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในพม่าตลอดเวลาหลายปีในสมัยนางออง ซาน ซู จี ด้วยเป้าหมายใช้พม่าเป็นฐานปิดกั้นปักกิ่งชิงความได้เปรียบในความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์
ทันทีที่ประชาชนออกมาต่อต้านการยึดอำนาจ สถานทูตสหรัฐก็ประกาศสนับสนุนขบวนต่อต้านการยึดอำนาจเต็มที่ในเวลาเดียวกันก็ปลุกระดม กล่าวหาว่า จีนสนับสนับให้ทหารยึดอำนาจ
จากรัฐบาลประชาธิปไตย การต่อต้านแบบอารยะขัดขืน จึงบานปลายกลายเป็นจลาจลเผาโรงงาน ร้านค้า บ้านเรือนชุมชนคนจีน ซึ่งมองเป็นอื่นไม่ได้นอกจากกล่าวว่า ซีไอเอสนับสนุนปลุกปั่นให้เกิดสงครามกลางเมืองพม่า เหมือนกับที่อเมริกาทำในยูเครนในปี 2557
และทุกอย่างชัดเจนขึ้นเมื่อนางซู จี ประกาศปฏิวัติประชาชนทั่วประเทศ เธอเรียกร้องคนพม่าทุกตำบลหมู่บ้านจับอาวุธที่หาได้ขึ้นมาสู้รบกับผู้ยึดอำนาจ ประกาศปฏิวัติประชาชนตามมาด้วยจัดตั้ง “กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) และรัฐบาลเงา (NUG) ขึ้นอย่างเป็นระบบ ในเวลาเดียวกัน ซีไอเอที่ฝังตัวในรัฐกะเหรี่ยงหลายปีก็ปลุกผีทหารกะเหรี่ยงที่ล่มสลายไปแล้วตั้งปี 2545 ให้ฟื้นชีพขึ้นมาสู้รบกับทหารพม่าร่วม PDF
เมื่อสร้างกองกำลังก่อการร้ายขึ้นมาในพม่า มหาอำนาจตะวันตกก็ทำปฏิบัติการข่าว ระดมใช้สื่อในสังกัด RFA และ VOA ตลอดถึงสื่อออนไลน์ปั่นกระแสความสำเร็จคืบหน้าของฝ่ายต่อต้าน ทำให้ดูเหมือนว่ารัฐบาลทหารพม่าต้องล่มสลายภายในเดือนนี้ปีนั้น วอชิงตันปั่นกระแสสงครามกลางเมืองพม่าสี่ปี รัฐบาลพม่ายังไม่ล่มสลายเสียที
ปักกิ่งผู้สนับสนุนทั้งรัฐบาลทหาร และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่และแข็งแกร่งที่สุดในพม่า เคลื่อนไหวช่วยเหลือรัฐบาลกลางพม่าเงียบๆ แต่มีประสิทธิภาพสูงกว่า กลุ่มต่อต้านของวอชิงตัน จีนจัดการกำกับควบคุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพลเอกมิน อ่อง หล่าย ได้เกือบทั่วประเทศ ดังนั้นเมื่อ มิน อ่อง หล่าย ยืนยันการเลือกตั้งปลายปีนี้สื่อหลักของจีนจึงเสนอข่าวบันเทิงในพม่าอย่างมีนัย
ซินหัวสำนักข่าวหลักของจีน เสนอข่าว ประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2 วันหลัง มิน อ่อง หล่าย ประกาศวันเลือกตั้งว่า การประกวดมิสยูนิเวิร์สพม่า 2025 รอบสุดท้ายจัดขึ้นในเมืองย่างกุ้งวันที่ 28 มิถุนายน สาวงามเข้ารอบสุดท้าย 35 คน เป็นตัวแทนจากเมืองต่างๆ พม่าขึ้นประชันโฉมบนเวทีอย่างตระการตา
มยัด ยาดานาร์ โซ สาวงามที่เมือง พยิน อู ลวิน ภาคกลางพม่า ส่งประกวดได้รับรางวัลชนะเลิศ เธอจะเป็นตัวแทนจากพม่าประกวดมิสยูนิเวิร์ส ครั้งที่ 74 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
ซินหัว เสนอข่าวประกวดนางงามในพม่า เพื่อแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ในพม่าไม่ได้เลวร้ายแรงดังสื่อตะวันตกปั่นกระแสนั้นคือปฏิบัติการข่าวที่เรียบง่ายของฝ่ายจีน
ข่าวฝ่ายต่อต้านรุกคืบยึดเมืองสำคัญทางเหนือรัฐฉานได้เกือบหมดก็เช่นกัน ขณะที่สื่อตะวันตกกระพือข่าวชัยชนะพันธมิตร 3 ฝ่าย ได้แก่ กองทัพโกก้าง ตะอ่าง และอารากัน แต่เบื้องหลังจีนส่งอาวุธและปัจจัยให้กองกำลังพันธมิตร 3 ฝ่ายปราบปรามกลุ่มโกก้าง ที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติอยู่เบื้องหลัง และเมื่อกองกำลังพันธมิตร 3 กลุ่ม กวาดล้างอาชญากรรมข้ามชาติลงได้จีนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิง
เมื่อจัดการหยุดยิงได้ จีนสั่งให้พันธมิตร 3 ฝ่ายคืนเมืองที่ยึดได้คืนให้พม่าหรือไม่ก็จัดการให้กองทัพว้า ซึ่งเป็นแนวร่วมจีนและพม่าเข้ายึดเมืองคืน
ด้วยอิทธิบารมีที่มีทั้งพระเดชและพระคุณ จีนจัดการให้หยุดยิงได้เกือบทั่วรัฐฉานตั้งแต่ปลายปี 2024 และในปี 2025 กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าส่วนใหญ่ กลายเป็นกองกำลังพิทักษ์ผลประโยชน์ให้จีนทั่วประเทศพม่า หรือไม่บริหารเขตอิทธิพลตนเองเงียบๆ
ตั้งแต่ต้นปี 2025 รัฐฉานเหนือสุดติดชายจีนลงมาถึงรัฐฉานตอนใต้ตรงข้ามจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ตกอยู่ใต้อิทธิพลของว้าซึ่งควบคุมแนวหน้าแทน จีนและรัฐบาลทหารพม่า
ส่วนสงครามกลางเมืองรัฐยะไข่ ที่กองทัพอาระกันปฏิบัติการทหารครั้งใหญ่ ตั้งแต่ 22 เมษายน 2025 กองทัพอาระกันก็กลายเป็นกองกำลังพิทักษ์ผลประโยชน์ของจีนเหมือนกลุ่มต่อต้านในรัฐฉานยุทธวิธีอันแยบยลของปักกิ่งนอกจากกล่อมให้ลดการสู้รบกับทหารพม่าแล้วเปลี่ยนมาคุ้มครองท่อส่งแก๊ส/ท่อส่งน้ำมัน และโครงการต่างๆ ที่จีนลงทุนในพม่ามากมายมหาศาล
นอกจากใช้พระเดชพระคุณจัดการให้ฝ่ายต่อต้านมาเป็นกองกำลังปกป้องผลประโยชน์แล้ว จีนยังส่งกองกำลังติดอาวุธนับแสนคนเข้ามาในพม่าในข้ออ้างที่ว่าเข้ามาคุ้มครองผลประโยชน์ของจีน
ดังนั้น จีนจึงเป็นเสาหลักและรากฐานสำคัญของความมั่นคงพม่า หาใช่เป็นเพียงไม้เท้าค้ำยันไม่ให้รัฐทหารพม่าล้มลงได้ดังนายแอนดรูว์ และนักวิเคราะห์ตาบอดคลำช้างทั้งหลายเข้าใจ
การเลือกตั้งที่ พลเอกมิน อ่อง หล่าย ประกาศนั้น เกิดจากดำริและกดดันของจีนให้มีการเลือกตั้งตามแบบฉบับพม่าเพื่อลบล้างภาพลักษณ์รัฐบาลทหาร จีนสนับสนุนปัจจัย เครื่องมือตลอดถึงบุคลากรการเลือกตั้ง และยังโน้มน้าวให้เพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดพม่า อาทิ บังกลาเทศ อินเดีย ลาว และประเทศไทยให้สนับสนุนรับรองการเลือกตั้งในพม่า
การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจึงมีตัวแทนของความมั่นคงในภูมิภาค และเป็นการแสดงพลังทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจตะวันออกที่รุ่งโรจน์กับมหาอำนาจตะวันตกที่โรยรา
คนไทยจึงควรดีใจที่เพื่อนบ้านเราจะได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง แม้จะเป็นประชาธิปไตยพม่าๆ ซึ่งไม่ก็ต่างจากประชาธิปไตยไทยหรืออาจดีกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี