สำนักข่าวต่างประเทศ เสนอข่าวการไม่เข้าหน้ากันระหว่าง รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นายมาร์โก รูบิโอ กับ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศและกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ว่า เป็นหนามคลุมการประชุมอาเซียน ถือเป็นการพาดหัวข่าวที่แหลมคมและครอบคลุมประเด็นสำคัญ
เนื่องจากจีนกับสหรัฐครอบงำการประชุมอาเซียนตลอดเวลาสามทศวรรษที่ผ่านมา ที่สองมหาอำนาจแสดงความขัดแย้งแตกต่างกันในที่ประชุมอาเซียน ประเด็นความมั่นคงและเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคอาเซียนซึ่งพัวพันกับมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย
ในที่ประชุมแยกกันระหว่าง 10 สมาชิกอาเซียนกับจีนและ10 ชาติอาเซียน กับสหรัฐ นายหวัง อี้ เน้นประเด็นที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ประเทศที่ได้ดุลการค้าในอัตราสูงลิ่ว สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในวงการค้าโลก
ในการประชุมกับหุ้นส่วนอาเซียนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม หนึ่งวันหลังจากทุกประเทศได้รับหนังสือจาก ประธานาธิบดีทรัมป์ แจ้งเริ่มเก็บภาษีที่กำหนดอัตราแต่ละประเทศตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2025 อย่างไรก็ตาม ทั้งจีนและสหรัฐสัญญาให้การสนับสนุนกลุ่มประเทศอาเซียน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภูมิรัฐศาสตร์การเมืองและการค้าโลก
นายรูบิโอ ให้ความสำคัญเรื่องเขตแดนทับซ้อนในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นแหล่งความขัดแย้งระหว่างจีนและหลายชาติอาเซียน และเขาโฟกัสข้อครหาที่ปักกิ่งปฏิบัติไม่เป็นธรรมทางการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน
ในขณะที่ นายหวัง อี้ พูดเรื่องความวุ่นวายทางการค้าโลก และความจำเป็นต้องแก้ปัญหาการค้าผ่านการเจรจา หวัง อี้ พูดในเชิงตำหนิสหรัฐอเมริกาที่ขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ฝ่ายเดียว
“จีนร่วมกันกับประเทศอาเซียน ส่งเสริมคุณค่าของอาเซียนในความพยายามเสริมสร้างสันติภาพ ความร่วมมือเท่าเทียมกัน เปิดกว้าง และครอบคลุมทุกมิติ” หวัง อี้ กล่าวในการเปิดประชุม และเสริมว่า อาเซียนต้องเป็นการพิสูจน์ความเป็นหนึ่งอันเดียวกันท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลกและการท้าทายในภูมิภาค
นายรูบิโอ กล่าวเปิดประชุมว่า ภูมิภาคอาเซียนยังคงเป็นจุดโฟกัสนโยบายต่างประเทศสหรัฐภายใต้การนำของ ปธน.ทรัมป์ มีข่าวว่าบางทีเหตุการณ์อาจเบี่ยงเบนสหรัฐอเมริกาไปให้ความสำคัญกับส่วนอื่นของโลกกว่าภูมิภาคอาเซียน
ผมขอยืนยันว่าห้าสิบปีจากนี้อเมริกาจะบันทึกเรื่องราวความสัมพันธ์กับภูมิภาคอาเซียน ประธานาธิบดีทรัมป์ ให้ความสำคัญกับความมั่นคงในภูมิภาคนี้ที่มีความสัมพันธ์กับความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา
นายรูบิโอ เน้นเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียนที่มีส่วนสัมพันธ์ต่อความมั่นคงของอเมริกา และทุกชาติอาเซียน ในที่ประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ เขาไม่ได้พูดเรื่องหมดกำหนดเวลาชะลอการเก็บภาษี 90 วัน ประธานาธิบดีทรัมป์ ที่รวมทั้งมาเลเซียต้องเสียภาษี 25% ส่งสินค้าเข้าอเมริกา สปป.ลาว กับสหภาพเมียนมา 40% กัมพูชา ไทย 36% และ อินโดนีเซีย 32%
แต่นอกห้องประชุม นายรูบิโอ พูดกับสื่อมวลชนว่า “ผมอยากพูดว่า หลายประเทศในอาเซียนจะได้รับภาษีศุลกากรที่ดีกว่าประเทศอื่นและส่วนอื่นของโลก แต่การเจรจาเรื่องนี้ต้องดำเนินต่อไป เราจะเจรจากับญี่ปุ่นอาทิตย์หน้า และจะเจรจากับทุกประเทศตัวแทนที่ประชุมนี้” คำพูดของรูบิโอ บ่งชี้ว่า สหรัฐยังคงต้องการให้มีการเจรจา และวอชิงตันยังสร้างความสับสนต่อไป
ดังที่ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า โต เลิม เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า 20% หลังจากก่อนหน้านี้ เวียดนามพยายามผลักดันให้ขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 10-15%
“ตัวเลข 20% นี้ สร้างความประหลาดใจ เนื่องจากทีมเจรจาเวียดนามเชื่อว่าตนสามารถกำหนดอัตราภาษีนำเข้าได้ดีกว่า” แหล่งข่าวกล่าว
ประเทศอินโดนีเซีย ยืนหยัดไม่ถอนตัวจาก BRICS! ยืนยันพร้อมรับผลกระทบจากการเป็นสมาชิกลำดับที่ 10 ของ BRICS ที่ทรัมป์ขู่จะขึ้นภาษีเพิ่มอีก 10% รวมเป็น 42% จากฐานเดิม 32% โดยทรัมป์กล่าวว่า อินโดนีเซียทำตามนโยบายลดการใช้ดอลลาร์ของบริกส์ (dedollarization) จาการ์ตาเตรียมรับมือ พร้อมเจรจาดีลพลังงาน 34,000 ล้านดอลลาร์ ผ่อนคลายความตึงเครียด
การตัดสินใจของอินโดนีเซียในการคงสถานะสมาชิกกลุ่ม BRICS สะท้อนจุดยืนทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน แม้จะเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกา ตามรายงานของ Jakarta Globe เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2025 ปราเซ็ตโย ฮาดี รัฐมนตรีประจำสำนักประธานาธิบดีได้ยืนยันว่า จาการ์ตาพร้อมเผชิญกับผลที่ตามมาจากการเป็นสมาชิกลำดับที่ 10
ของ BRICS ที่เข้าร่วมเมื่อต้นปีนี้
ส่วนพลเอกมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ขอให้ประธานาธิบดีทรัมป์ลดภาษีเหลือ 10-20% จาก 40% และจะลดภาษีสินค้าอเมริกันเข้าเมียนมาเหลือ 0-10% นอกจากนั้นผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมายกย่อง ปธน.ทรัมป์ ว่า “เป็นผู้นำที่แข็งแกร่งนำพาประเทศชาติไปสู่ความรุ่งโรจน์ ด้วยจิตวิญญาณความรักชาติอย่างแท้จริง”
พลเอกมิน อ่อง หล่าย ยกย่อง ปธน.ทรัมป์ เนื่องจากสหรัฐฯตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมาทุกด้าน ตั้งแต่พลเอกมิน อ่อง หล่ายนำทหารยึดอำนาจจากพรรคเอ็นแอลดีของ นางออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และเมื่อ ปธน.ทรัมป์ ส่งหนังสือไปแจ้งการขึ้นภาษีศุลกากร นำเข้าอเมริกา พลเอกมิน อ่อง หล่าย ถือว่า ทำเนียบขาวรับรองรัฐบาลทหารเมียนมา พลเอกมิน อ่อง หล่ายกล่าวในแถลงการณ์ด้วยว่า “หากมีความจำเป็นจะส่งผู้แทนไปเจรจาที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.”
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเรื่องการเจรจาภาษีศุลกากรตอบโต้ของประเทศสมาชิกอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศไทยที่ได้รับหนังสือเรียกเก็บภาษี 36% จาก ปธน.ทรัมป์ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานสภาฯอย่างละ2 สมัยกล่าวว่า.. “อยากฝากให้คำนึงถึงผลกระทบต่อสินค้าภาคเกษตรของไทย โดยเฉพาะความกังวลในการเปิดนำเข้าเนื้อโคและสุกรจากสหรัฐฯเพื่อแลกดีลภาษี เพราะต้นทุนของไทยในส่วนนี้แพงกว่าสหรัฐฯมาก อีกทั้งสินค้าเหล่านี้ของสหรัฐฯมีสารเพิ่มเนื้อแดงที่อาจเป็นพิษต่อผู้บริโภค
อีกทั้ง 36% ที่ให้กับไทย สุดท้ายแล้วประชากรสหรัฐฯเองจะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่สูงมหาศาลขึ้นเอง ทั้งที่ไทยมีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯยาวนานกว่าทุกประเทศในเอเชีย สมัยผมเป็นนายกฯไปสหรัฐฯ เขาให้พักบ้านพักผู้นำสูงสุด นายกฯคนหลังๆ ไปยังขอต่อรองขอพักบ้านที่นายชวนเคยพัก เรามีความสัมพันธ์อันดีงามมาตลอด แต่ในด้านธุรกิจทุกประเทศปกป้องประโยชน์ตัวเอง” นายชวน กล่าว
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่าได้มีการประชุมทีมประเทศไทยเพื่อเตรียมเจรจากับสหรัฐฯ หากบาปเหมาะเคราะห์ร้ายได้เจรจากับสหรัฐอเมริกาก็ถือว่าการเจรจานั้นเป็นโมฆะ
เนื่องจากจำเลยคดีอาญา ม.112 และเป็นจำเลยในคดีชั้น 14 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อยู่ระหว่างการไต่สวนว่าจะส่งจำเลยกลับเข้าคุกหรือไม่ แต่จำเลย
ซึ่งไม่มีตำแหน่งหน้าที่ใดๆ รัฐบาลดันไปนั่งเป็นประธานการประชุมทีมประเทศไทยเพื่อนำข้อเสนอใหม่ไปเจรจากับสหรัฐฯ เมื่อโมฆียะบุรุษเป็นประธานที่ประชุมทีมประเทศไทย จึงถือว่าการกระทำทั้งหมดเป็นโมฆะ
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี