ภาวะการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย ใจ และคุณภาพชีวิต เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ปัจจัย เช่น โรคทางกาย ยาบางชนิด การคลอดบุตรทางช่องคลอด การผ่าตัดเกี่ยวกับต่อมลูกหมากบางชนิดโรคอ้วน รวมถึงความเสื่อมของร่างกายตามอายุ ที่มีการหย่อนตัวของหูรูดและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นต้น การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เป็นหนึ่งในวิธีการรักษามาตรฐานของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จากหลายสาเหตุ ที่แพทย์ผู้รักษามักจะแนะนำให้ผู้ป่วยไปฝึกปฏิบัติเองที่บ้าน แต่ก็มักพบปัญหาบ่อยครั้งว่า เกิดความไม่เข้าใจ ทำไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการบริหารออกกำลังกล้ามเนื้อที่ไม่คุ้นเคยหลายคนไม่เคยฝึกมาก่อน นอกจากการอธิบายวิธีปฏิบัติโดยแพทย์ผู้รักษาแก่ผู้ป่วยแล้ว บทความนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การฝึกบริหารกล้ามเนื้อนี้ประสบผลสำเร็จ ช่วยรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แก่ผู้สูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำอย่างไร?
การบริหารหรือออกกำลังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic floor muscle strengthening exercise) สามารถฝึกทำได้ด้วยตัวเองด้วยเทคนิค 3 ขั้นตอน ได้แก่ รู้ตำแหน่งกล้ามเนื้อ-ทดลองขมิบดู-เริ่มฝึกฝนจริง
l รู้ตำแหน่งกล้ามเนื้อ
แนวกล้ามเนื้อจะวางตัวอยู่ด้านข้างและอยู่โดยรอบรูเปิดท่อปัสสาวะ ช่องคลอด และรูทวารหนักในผู้หญิง ส่วนในผู้ชายจะอยู่ใต้โคนองคชาตและอัณฑะลงมาจนถึงรอบรูทวารหนักกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานจึงเป็นเสมือนฐานที่คอยพยุงรองรับอวัยวะต่างๆ ภายในอุ้งเชิงกรานไว้ไม่ให้หย่อนคล้อยออกมาและยังทำหน้าที่คล้ายหูรูดช่วยในการป้องกันการเล็ดราดของปัสสาวะและอุจจาระอีกด้วย
ในผู้หญิง การฝึกบังคับกล้ามเนื้อส่วนนี้ ให้ขมิบเกร็งช่องคลอดเข้าหรือขมิบลักษณะคล้ายกับการกลั้นผายลม กลั้นอุจจาระ จะรู้สึกได้ว่าช่องคลอดและทวารหนักปิดเข้าหากันและถูกขยุ้มเข้าด้านใน หากไม่แน่ใจว่าทำถูกหรือไม่ ให้สอดนิ้วเข้าไปภายในช่องคลอด หากทำการขมิบได้ถูกต้อง จะรู้สึกว่ามีกล้ามเนื้อมารัดรอบๆ นิ้ว และดึงนิ้วเข้าไปด้านใน
ในผู้ชายให้ขมิบเกร็งในลักษณะที่ทำให้องคชาตขยับขึ้น-ลงได้พร้อมกับมีการหดเกร็งที่รอบรูทวารคล้ายการกลั้นอุจจาระ
ข้อสังเกตในขณะทำการขมิบไม่ควรมีการกลั้นหายใจ เบ่ง หรือแขม่วท้อง เกร็งหรือหนีบขา
l ทดลองขมิบดู
การฝึกควบคุมให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำงาน (หดตัว) พร้อมกับการขมิบหูรูด สามารถทดลองปฏิบัติได้ขณะปัสสาวะหากทำได้ถูกต้องจะสังเกตเห็นว่า ลำปัสสาวะจะหยุดหรือมีความแรงลดลง โดยหากกล้ามเนื้อมีระดับความแข็งแรงที่ดี ปัสสาวะจะหยุดไหลทันทีและทำซ้ำได้หลายๆ ครั้งติดกัน แต่ถ้าทำไม่ถูกวิธี เช่น มีการเบ่งเกร็งหน้าท้อง หรือหนีบเข่าเข้าหากันลำปัสสาวะจะแรงมากขึ้นกว่าเดิม
l เริ่มฝึกฝนจริง
เพื่อฝึกให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันและรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้สูงวัย จะแบ่งเป็น 2 แบบโดยแต่ละแบบจะเริ่มด้วยท่าเริ่มต้นเดียวกัน
ท่าเริ่มต้น
อยู่ในท่านอนหงาย ชันเข่าขึ้นทั้งสองข้างให้เข่าชิดกันพร้อมกับเท้าวางลงบนพื้น แขนและมือทั้งสองข้างวางแนบลำตัว
แบบที่ 1 ขมิบให้เร็วแรงแล้วปล่อยทันที
เริ่มออกกำลังกายโดยให้ขมิบรูทวารเข้าหากัน พร้อมๆ กับกดหลังให้ติดอยู่กับพื้น ไม่ต้องยกก้นขึ้นโดยแบบที่ 1 จะออกแรงขมิบรูทวารให้เร็วและแรงที่สุดเท่าที่ทำได้เกร็งค้างไว้เพียง 1-2 วินาที แล้วปล่อยผ่อนคลายทันที นับเป็น 1 ครั้งกลับมาพักในท่าเตรียมพร้อมหายใจเข้าออกสบายๆ ประมาณ 5-10 วินาทีแล้วทำซ้ำ 8-12 ครั้งต่อรอบ แนะนำให้ปฏิบัติ 1-3 รอบต่อวัน
แบบที่ 2 ขมิบแรงปานกลางแต่ค้างให้นานเท่าที่ทำได้
ทำการขมิบรูทวารเข้าหากันพร้อมๆ กับกดหลังให้ติดอยู่กับพื้น เช่นเดียวกับแบบแรกแต่ในแบบที่ 2 จะออกแรงขมิบรูทวารด้วยแรงปานกลาง แต่พยายามขมิบค้างไว้ให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยอาจนับ 1 ถึง 5หรือ 1 ถึง 10 แล้วผ่อนคลาย นับเป็น 1 ครั้ง กลับมาพักในท่าเตรียมพร้อมหายใจเข้าออกสบายๆ ประมาณ 5-10 วินาที แล้วทำซ้ำ 8-12 ครั้งต่อรอบ แนะนำให้ปฏิบัติ 1-3 รอบต่อวัน
คำแนะนำจากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
l กรณีฝึกด้วยตนเองแล้วไม่สามารถทำได้หรือไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่ ควรได้รับคำแนะนำการฝึกหรือใช้อุปกรณ์เสริมตรวจสอบความถูกต้องขณะฝึกโดยบุคลากรทางการแพทย์
l ควรบริหารทั้ง 2 แบบ โดยเริ่มจากน้อยก่อน เช่น แบบละ 1 รอบ ต่อวัน ทำทุกวัน แล้วค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นทุก 1-2 สัปดาห์
l กรณีที่ฝึกทำแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดระบมบริเวณรอบรูทวารหรือท้องน้อย ปัสสาวะบ่อยขึ้น หรือเล็ดราดมากขึ้น ให้หยุดทำ และปรึกษาแพทย์
l การออกกำลังกายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นวิธีการหนึ่งที่อาจจะช่วยลดความรุนแรงของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ควรทำร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นตามที่แพทย์แนะนำ
l การบริหารกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความแข็งแรงต้องใช้ระยะเวลาปฏิบัติต่อเนื่องสม่ำเสมออย่างน้อย 4-6 สัปดาห์จึงจะเห็นผลและถ้าหยุดทำ ผลต่างๆ ที่เกิดจากการออกกำลังกายจะค่อยๆ ลดลงจนหมดไป
เอกสารอ้างอิง
สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่. 2564
วชิร คชการและอุบลรัตน์ รุ่งเรืองศิลป์.การรักษาแบบประคับประคองและพฤติกรรมบำบัด. ใน วชิร คชการ, บรรณาธิการ. คู่มือการดูแลผู้ป่วยกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Management of UrinaryIncontinence). กรุงเทพฯ: บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์; 2546:45-50.
อาจารย์ พันโท นายแพทย์ พศวีร์ ขวัญช่วย
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี