ในช่วงฤดูฝน หรือใกล้เทศกาลต่างๆ เช่นตรุษจีนที่จะมาถึงนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงหลายท่านอาจประสบปัญหาสัตว์เลี้ยงหลุดหรือหนีเตลิดออกจากบ้าน อันมีสาเหตุมาจากการตกใจเนื่องจาก “ภาวะกลัวเสียงดัง” เช่น เสียงฟ้าร้อง เสียงประทัดหรือพลุ บางรายกลัวแม้กระทั่งเสียงเครื่องดูดฝุ่นหรือเสียงเครื่องเป่าผมภายในบ้านก็มี เรื่องเหล่านี้พบได้บ่อยในสุนัขและแมวที่ขี้ตกใจ ปัญหานี้มีแนวทางการรักษาอย่างไรผมมีข้อมูลจาก สพ.ญ.วรุณทิพย์ บุณยพุทธิกุล สัตวแพทย์ประจำคลินิกระบบประสาท โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มาฝากครับ
อาการกลัวเสียงดังในสัตว์เลี้ยงนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มักเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและเกิดอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน อาการที่แสดงออกอาจแตกต่างกันในสุนัขและแมว ในสุนัข หลายตัวอาจงแสดงออกถึงการตื่นตระหนกที่เกินกว่าเหตุ จนถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือทำลายสิ่งของในบ้านทีเดียว ในขณะที่แมว ก็มักพยายามหาที่หลบซ่อน หรือพยายามหลบหนีออกจากบริเวณที่ได้ยินเสียง
ภาวะกลัวเสียงดังในสัตว์เลี้ยงนี้ ไม่มีวิธีการแก้ไขโดยตรง แต่จำเป็นต้องอาศัยขั้นตอนหลายอย่างที่ทำร่วมกันเป็นขั้นตอน ได้แก่
1. การจัดบริเวณที่ปลอดภัยไว้ให้สัตว์เลี้ยง เช่น
การจัดมุมมืดที่เงียบสงบภายในบ้าน การมีห้องแยกที่ไกลจากเสียง อาจเป็นการใช้ตู้หรือเตียงที่มีเบาะนอน โดยตู้นั้นควรมีส่วนที่เปิด-ปิดได้ โดยสัตว์สามารถเลือกเข้า-ออกได้เองตลอดเวลา
การเบี่ยงเบนความสนใจ โดยใช้ของเล่น ขนมที่สัตว์ชอบ
การใช้เบาะหรือผ้าปูรองนอน หรือผ้าที่มีกลิ่นของเจ้าของที่สัตว์ไว้ใจ
การสร้างเสียงอื่นเพิ่มเพื่อกลบเสียงภายในห้องที่สัตว์รู้สึกปลอดภัย
นอกจากนี้ เจ้าของสัตว์สามารถใช้วิธีปลอบโยนสัตว์เลี้ยงได้ โดยการลูบตัว ลูบหัว กอดหรือให้ขนม และใช้เสียงพูดปลอบที่นุ่มนวล ไม่ควรตะโกนหรือใช้เสียงดัง รวมถึงการลงโทษใดๆ ในขณะที่สัตว์หวาดกลัวอยู่แล้ว
อาจใช้การใช้เสื้อพันตัวสัตว์เพื่อให้เหมือนการกอด ร่วมกับการใช้ฟีโรโมนสังเคราะห์เพื่อทำให้ผ่อนคลายด้วยก็จะเป็นช่องทางที่ดี แต่ถ้าวิธีในขั้นตอนแรกนี้ยังไม่ได้ผล เจ้าของอาจจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อต่อไป
2. การใช้ยาคลายเครียดเพื่อช่วยบรรเทาอาการกลัวเสียงดัง
ยาที่สัตวแพทย์นิยมจาายให้นั้น มีทั้งยาที่ใช้ชั่วคราวเพื่อลดอาการเป็นครั้งคราว และยาที่ใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อลดอาการในระยะยาว ซึ่งวิธีการใช่ยานี้ ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อเลือกใช้ยาอย่างเหมาะสม
3. การทำให้สัตว์คุ้นเคยกับเสียงมากขึ้น หรือเปลี่ยนให้เป็นความรู้สึกด้านดี (Desensitization and counter-conditioning)
เรื่องนี้เป็นวิธีการปรับพฤติกรรม เพื่อให้สัตว์ค่อยๆ เริ่มมีความคุ้นชิน และมองเรื่องที่กลัวให้เป็นเรื่องที่ดีขึ้น โดยวิธีการเบื้องต้นคือ ค่อยๆ ฝึกให้พบเจอกับเสียงที่กลัวอย่างเบาๆ กว่าของจริง และทำซ้ำๆ เป็นประจำ เช่น เปิดคลิปเสียงจุดพลุอย่างเบาๆ ก่อน และค่อยๆ เพิ่มเสียงทีละน้อยไปในแต่ละวัน โดยมีการให้รางวัล เพื่อให้สัตว์จดจำว่า เสียงแนวนี้ เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งการฝึกนี้ อาจใช้เวลาฝึกนานหลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือนก็ได้
ปัญหากลัวเสียงดังในสัตว์เลี้ยงนั้น อาจเป็นปัญหาที่จัดการได้ค่อนข้างยาก แต่หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงใช้ความพยายาม และให้เวลาในการฝึกอย่างต่อเนื่องด้วยความอดทนแล้วละก็ จะทำให้โอกาสการช่วยบรรเทาหรือแก้ไขได้ผลและลดความเครียดความกลัวของสัตว์เลี้ยงไปได้มากและมีสุขสภาวะทางจิตที่ดีด้วย สิ่งที่สำคัญคือ เราควรจัดให้สัตว์เลี้ยงมีบริเวณที่เขารู้สึกว่าเป็นที่ปลอดภัยให้เขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เจ้าของไม่อยู่บ้าน เพื่อให้สัตว์เลี้ยงอยู่บ้านอย่างปลอดภัยและคุ้นชินมากที่สุดครับ
หมอโอห์ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี