กัญชา โดยเฉพาะ delta-9 tetrahydrocannabinol (THC) เป็นยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้ผู้เสพรู้สึกผ่อนคลายและเคลิบเคลิ้ม กัญชาจึงถูกนำไปใช้เพื่อนันทนาการจนทำให้เกิดการเสพติดได้ คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษสากลขององค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้กัญชาและสารสกัดกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ซึ่งมีลักษณะสำคัญ คือ “เป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติดสูงและมีแนวโน้มสูงที่จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด…” ในขณะที่กัญชาทางการแพทย์มักอยู่ในรูปของสารสกัด กัญชาที่ใช้สูบส่วนใหญ่มักเป็นกัญชาเพื่อนันทนาการ ในปี พ.ศ. 2562 พบว่า ร้อยละ 2.2 ของคนไทยวัยผู้ใหญ่มีการใช้กัญชาอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วง 1 ปีก่อนการสำรวจ และความชุกนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.2 ในปี พ.ศ. 2564 การใช้กัญชาที่เพิ่มขึ้นมากนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายของคนไทยเพิ่มมากขึ้น
ผลกระทบของการใช้กัญชาต่อสุขภาพจิต
1.การติดกัญชา
ผู้ที่ใช้กัญชาบ่อย ๆ จะเกิดการทนต่อยา ทำให้ต้องใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ฤทธิ์เท่าเดิม ในผู้ที่ใช้กัญชาบ่อยและมากมักมีอาการถอนกัญชาเกิดขึ้นเมื่อหยุดใช้ เช่น วิตกกังวล (76.3%), หงุดหงิด (71.9%), นอนไม่หลับ (68.2%) และอารมณ์ซึมเศร้า (58.9%)
ผู้ที่ติดกัญชามักไม่สามารถหยุดใช้กัญชาได้แม้การใช้กัญชานั้นจะทำให้เกิดผลเสียต่อการทำงาน การเข้าสังคม การดูแลตัวเอง หรือสุขภาพแล้ว บางการศึกษาพบว่า ทุกๆ 3 ใน 10 คนที่ใช้กัญชาจะติดกัญชา
2.ความบกพร่องทางสติปัญญา
การใช้กัญชาอาจทำให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญา เช่น ความจำ ความสนใจ การตัดสินใจ และการประมวลผลข้อมูลลดลง ผลกระทบเหล่านี้จะเด่นชัดที่สุดเมื่อเกิดอาการเมากัญชาแบบเฉียบพลัน ในผู้ที่ใช้กัญชาบ่อยและมาก ความบกพร่องนี้อาจคงอยู่ได้ถึง 28 วันหลังหยุดใช้กัญชา และในบางราย อาจคงอยู่นานกว่านี้หรือคงอยู่แบบถาวรหากมีการเริ่มใช้กัญชาตั้งแต่วัยรุ่น ใช้มาก และใช้เป็นเวลานาน ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาระยะยาวที่พบว่า ผู้ที่ไม่ใช้กัญชาจะมี IQ เพิ่มขึ้นราว 0.7 คะแนน แต่ผู้ที่ใช้กัญชาจะมี IQ ลดลงราว 5.5 คะแนน
3.โรคจิตและโรคจิตเภท
โรคจิต คือ กลุ่มโรคที่มีอาการหลงผิด (เช่น หวาดระแวง) และประสานหลอน (เช่น หูแว่ว) เป็นอาการสำคัญ โดยมีโรคจิตเภทเป็นโรคสำคัญ เนื่องจากเป็นโรคจิตเรื้อรังที่มักทำให้ป่วยตลอดชีวิต
การใช้กัญชาเป็นประจำเพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตประมาณ 2 เท่า และการใช้ที่มากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น (ดูรูปที่ 1) เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า ผู้ที่ใช้กัญชามากจะเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตเภทเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน บางการศึกษาพบว่า ทุกๆ 1 ใน 3 คนที่ป่วยเป็นโรคจิตระยะสั้นจากกัญชาจะป่วยเป็นโรคจิตเภทในอนาคต ซึ่งความเสี่ยงนี้สูงกว่าคนที่เป็นโรคจิตระยะสั้นจากแอมเฟตามีน (ซึ่งมีโอกาสเกิดประมาณ 1 ใน 5)
4.พฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรง
การเสพกัญชาอาจทำให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรงเพิ่มมากขึ้นได้ โดยเฉพาะในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่อายุน้อย บางการศึกษาพบว่า ผู้ที่เสพกัญชามีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมรุนแรงมากกว่าผู้ไม่เสพกัญชาราว 2 เท่า และพฤติกรรมรุนแรงเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีการเสพกัญชาบ่อย มาก และนานขึ้น
5.โรคทางจิตเวชอื่นๆ
นอกจากปัญหาทางจิตดังกล่าวมาแล้ว กัญชายังอาจทำให้คลุ้มคลั่ง ซึมเศร้า วิตกกังวล และคิดฆ่าตัวตายได้ สำหรับผู้ป่วยทางจิตเวชที่ใช้กัญชาก็มักมีอาการทางจิตแย่ลง
ผลกระทบของการใช้กัญชาต่อสุขภาพกาย
1.ระบบหัวใจและหลอดเลือด
นอกจากกัญชาจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำในขณะเปลี่ยนท่าแล้ว ยังมีฤทธิ์ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นกว่าปกติราวร้อยละ 20-100 ภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังการเสพและฤทธิ์นี้อาจคงอยู่นานหลายชั่วโมง อัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองได้
2.ระบบทางเดินหายใจ
ในระยะสั้น การสูบกัญชาส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ ควันกัญชาจะระคายเคืองทางเดินหายใจและปอด ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ และการติดเชื้อในปอด การสูบกัญชาในระยะยาวทำให้เสี่ยงต่อโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และ
มีการสะสมทาร์และสารก่อมะเร็งในปอดมากกว่าการสูบบุหรี่ ทำให้เสี่ยงต่อการป่วยเป็นมะเร็งปอดไม่น้อยกว่าการสูบบุหรี่
3.การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร
มารดาที่เสพกัญชาสามารถส่งผ่านสาร THC ผ่านรกและน้ำนมได้ ทารกที่ได้รับสาร THC จากมารดาขณะตั้งครรภ์และให้นมบุตรจะมีน้ำหนักแรกคลอดน้อย เจริญเติบโตช้า และพัฒนาการของสมองช้า มารดาจึงต้องไม่ใช้กัญชาอย่างเด็ดขาดในระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตร นอกจากนี้ หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรทราบด้วยว่า การหยุดเสพกัญชาหลังทราบว่าตนเองตั้งครรภ์เป็นการหยุดเสพที่ช้าเกินไป เพราะทารกได้เกิดขึ้นและได้รับสาร THC ไปหลายสัปดาห์แล้วก่อนที่มารดาจะหยุดเสพกัญชา
สรุป
การเสพกัญชาเพื่อนันทนาการก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายอย่างยิ่งนอกจากผู้เสพแล้ว ผู้ที่ได้รับควันกัญชามือสองก็อาจมีปัญหาดังกล่าวมาแล้วได้ด้วยเช่นกันผู้ป่วยที่ได้รับกัญชาทางการแพทย์ควรได้รับการตรวจประเมินโดยละเอียดก่อนได้รับการรักษา และได้รับการติดตามปัญหาสุขภาพอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยได้รับประโยชน์มากกว่าโทษของการรักษาด้วยกัญชาหรือสารสกัดกัญชา
บทความโดย ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี