“นิ่วในไต” คือก้อนแข็งในไตจากการสะสมของแร่ธาตุชนิดต่างๆ พบได้ร้อยละ 1-5 ของประชากร โดยทั่วไปนิ่วเกิดจากการตกผลึกของสารประกอบในน้ำปัสสาวะที่มีความอิ่มตัวสูง ถ้าผลึกเหล่านี้ไม่ถูกพัดพาออกไปพร้อมกับน้ำปัสสาวะก็จะขยายขนาดขึ้น หรือมารวมตัวกันจนเกิดเป็นก้อนนิ่วในที่สุด โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ การดื่มน้ำน้อย การบริโภคโซเดียมหรือเนื้อสัตว์มากเกินไป ความผิดปกติทางกายวิภาคและการติดเชื้อในระบบปัสสาวะ นอกจากนี้ หากนิ่วก่อตัวมากขึ้นโดยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้ไตข้างที่เป็นนิ่วเสียการทำงานไป และเกิดเป็นไตเสื่อมเรื้อรังได้ในอนาคต
นิ่วในไตอาจก่อให้เกิดอาการดังนี้
ปวดเอว ปวดสีข้าง บางครั้งปวดร้าวไปด้านหลัง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
ปัสสาวะเป็นเลือด ทั้งชนิดที่เห็นเลือดได้ด้วยตาเปล่า หรือตรวจพบเม็ดเลือดแดงจากกล้องจุลทรรศน์
ติดเชื้อในระบบปัสสาวะ มีอาการ ไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่น
มีเม็ดนิ่วหลุดมาพร้อมปัสสาวะ
ไม่มีอาการ แต่ตรวจพบนิ่วโดยบังเอิญจากภาพรังสีวินิจฉัย
การวินิจฉัยนิ่วในไต อาศัยประวัติและการตรวจร่างกายร่วมกับการตรวจด้วยภาพรังสีวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ไต อัลตราซาวน์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอนและวางแผนการรักษาต่อไป
ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แสดงนิ่วขนาดใหญ่ในไตซ้าย (ลูกศรสีขาว)
หลักการรักษานิ่วในไต เป็นดังนี้
การติดตามนิ่วและสังเกตอาการ พิจารณาใช้เฉพาะกับนิ่วที่ตรวจพบโดยบังเอิญ นิ่วมีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันในระบบปัสสาวะ และผู้ป่วยไม่เคยมีอาการของนิ่วมาก่อน หากติดตามแล้วพบว่านิ่วขนาดใหญ่ขึ้นหรือผู้ป่วยเริ่มมีอาการ ต้องรักษาโดยการเอานิ่วออกด้วยวิธีอื่น
การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทกจากภายนอก (ช็อคเวฟ) เหมาะกับนิ่วในไตขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร นิ่วไม่แข็งมากเกินไปและมีกายวิภาคของไตเหมาะสม
การส่องกล้องท่อไตเพื่อสลายนิ่วในไตด้วยเลเซอร์ เหมาะกับนิ่วในไตขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร
การเจาะไตเอานิ่วออกผ่านผิวหนัง เหมาะกับนิ่วในไตที่มีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร เป็นนิ่วชนิดซับซ้อน หรือมีกายวิภาคของไตผิดปกติ
การให้ยาละลายนิ่ว มีข้อบ่งชี้สำหรับนิ่วชนิดยูริกเท่านั้น ซึ่งพบได้น้อยกว่าร้อยละ 5 ของนิ่วทั้งหมด จึงไม่ใช่วิธีการรักษาหลักของนิ่วในไต
ภาพจากการส่องกล้องท่อไตเพื่อสลายนิ่ว แสดงนิ่วขนาด 1.5 เซนติเมตรในไตซ้าย
หลังการรักษานิ่วไปแล้ว ผู้ป่วยมีโอกาสกลับเป็นนิ่วซ้ำได้มากถึงร้อยละ 50 ในช่วง 5 ปีแรก จึงจำเป็นต้องกลับมาติดตามกับแพทย์เป็นระยะ เพื่อวินิจฉัยและรีบให้การรักษาหากนิ่วกลับเป็นซ้ำ
หลักการป้องกันนิ่วโดยทั่วไป ได้แก่ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร ลดการบริโภคโซเดียมและเนื้อสัตว์มากเกินไป นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี