ก่อนอื่นขอถามคุณตรงๆ ว่า คุณเคยถวายเงินให้พระสงฆ์หรือไม่ ถ้าเคย ขอถามต่อไปว่า ถวายเงินให้พระสงฆ์ เพราะอะไร แล้วคุณเคยสงสัยหรือถามหรือไม่ว่า พระสงฆ์นำเงินที่ได้รับไปใช้เพื่อการใดคำถามต่อเนื่องคือ คุณทราบหรือไม่ว่าการถวายเงินให้พระสงฆ์ เป็นการสนับสนุนให้พระสงฆ์ประพฤติผิดพระธรรมวินัย และคุณทราบหรือไม่ว่า ในพระคัมภีร์อรรถกถา อธิบายว่า เงินตราและทองถือเป็นอนามาส คือสิ่งของที่พระภิกษุสงฆ์ไม่ควรจับต้อง การที่พระภิกษุสงฆ์ข้องเกี่ยวกับเงินทองมูลค่ามากกว่า 5 มาสก อาจทำให้พระภิกษุสงฆ์ต้องอาบัติถึงขั้นปาราชิก
ปัญหาคือ 5 มาสก (บาลีใช้ศัพท์ว่าปญฺจมาสกํ) มีมูลค่าเทียบเท่ากับกี่บาทในยุคปัจจุบัน คำถามนี้ ผู้เขียนได้กราบนมัสการเรียนถามพระสงฆ์ที่มีภูมิปัญญาและศึกษาพระธรรมวินัยอย่างจริงจังหลายรูป พระท่านตอบว่า เทียบเคียงให้เห็นภาพชัดเจนได้ยากมาก แต่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้โดยสรุปว่า คือน้ำหนักทองคำที่เทียบเท่ากับน้ำหนักข้าวเปลือก 20 เมล็ด แล้วนำทองคำนั้นไปเทียบเป็นมูลค่าของเงินในแต่ละยุคแต่ละสมัย ยกตัวอย่างเช่น ทองคำบริสุทธิ์มีมูลค่ากรัมละ 1,500 บาท ข้าวเปลือก 20 เมล็ดมีน้ำหนักเท่ากับ 0.5 กรัม ก็คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 750 บาท อย่างไรก็ตาม เมื่ออ้างอิงตามสิกขาบทปาราชิกที่ 2 ถือว่าภิกษุผู้ถือเอาทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยอาการแห่งลักขโมย ข้าวของมูลค่าแห่งทรัพย์คิดได้ 5 มาสก ก็ถือเป็นเหตุแห่งอาบัติปาราชิก
ทีนี้ลองมาดูข้อเท็จจริงในยุคสมัยปัจจุบัน จะพบเป็นประจำว่า พระภิกษุสงฆ์ในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยมีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล บางรายมีรถยนต์หลายคัน บางรายมีเครื่องไฟฟ้าสารพัดชนิด บางรายมีเงินทองในบัญชีธนาคารจำนวนเป็นหลักหลายแสนถึงหลายล้านบาท บางรายถือบัตรเครดิตวงเงินหลักล้านบาท บางรายมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินนับหมื่นไร่ แต่ที่เลวกว่านั้นคือ บางรายเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ให้กับประชาชน
คุณเคยคิดบ้างไหมว่า วัดแต่ละวัดในประเทศไทยมีเงินไหลเวียนภายในวัดในแต่ละวันเป็นจำนวนเท่าไร โดยเฉพาะวัดใหญ่ๆ ที่ผู้คนนิยมเข้าวัดนั้นเป็นจำนวนมากๆ แล้วเคยถามต่อไปไหมว่า พระสงฆ์ของไทยมีเงินที่ได้รับจากการถวายจากญาติโยมวันละเท่าไร แล้วเงินจำนวนมหาศาลที่ญาติโยมถวายให้วัดและพระสงฆ์ถูกนำไปใช้ในกิจการใดบ้าง
วัดทุกแห่ง และพระสงฆ์ทุกรูปทำบัญชีรับจ่ายเงินและสิ่งของที่ได้รับบริจาคถูกต้องและโปร่งใสหรือไม่ มีหน่วยงานใดเข้าไปตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่ายของวัดและของพระสงฆ์หรือไม่ ทั้งนี้ยังไม่ได้เจาะลึกลงไปในประเด็นที่ว่า รายได้จำนวนมหึมาจากทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลของวัดตกไปอยู่ในความครอบครองของผู้ใด
อ้างจากงานวิจัยเรื่อง การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย ของ ณดา จันทร์สม คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พฤษภาคม 2555 พบว่า วัดส่วนใหญ่ไม่มีโครงสร้างการบริหารการเงินการคลังที่เป็นระบบ และวัดไม่มีการจัดทำรายงานการเงินตามหลักมาตรฐานบัญชี แม้จะมีข้ออ้างว่าวัดทำบันทึกรายรับรายจ่าย แต่ก็พบว่าเป็นบัญชีที่ทำขึ้นโดยไม่มีหลักมาตรฐานการบัญชี แต่ที่สำคัญคือไม่มีการตรวจสอบบัญชีจากผู้ตรวจสอบที่ได้รับอนุญาต ขณะเดียวกันก็พบว่าไม่มีการเปิดเผยบัญชีรับจ่ายเงินของวัดให้สาธารณชนรับทราบ
ตัวเลขจากการวิจัยระบุว่า โดยภาพรวมอาจมีเงินหมุนเวียนในรูปของรายรับรายจ่ายในวัดทั่วประเทศประมาณ 1 แสนถึง 1 แสน 2 หมื่นล้านบาทต่อปี และพบอีกว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไม่สามารถกำหนดกรอบการกำกับดูแลบริหารจัดการการเงินของวัดให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล หลักการบริหารการเงินด้วยความโปร่งใส และหลักการบริหารกิจการที่ดี ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับคำพูดของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ที่ยอมรับว่าในปัจจุบันยังไม่มีข้อบังคับใดที่กำหนดให้มีการตรวจสอบการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัด และยังไม่มีการตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่ายของวัด
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ผู้เขียนบทความได้รับทราบมาจากพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่หลายรูปก็คือ ผู้มีอำนาจในสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ บางรายกลับมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายทุจริตรายได้อันเกิดมาจากทรัพย์สินของวัดอีกด้วย
ดังนั้นจึงมีคำถามว่า เหตุใดสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ไม่สามารถตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่ายประจำปีของวัดได้ การที่
สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานในเรื่องนี้เป็นการแสดงให้สาธารณชนเห็นได้ว่ามีความไม่ปรกติในเรื่องการรับและจ่ายเงินภายในวัด
ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่คนไทยรู้กันเป็นอย่างดีคือ วัดบางแห่งมีทรัพย์สมบัติมากมาย เช่น ที่ดิน จึงทำให้เกิดคำถามว่า การที่วัดให้ผู้อื่นเช่าที่ดินของวัดแล้ว ใครคือผู้ดูแลรักษารายได้เหล่านั้น ตามภาษาพระเรียกรายได้อันเกิดจากการให้เช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของวัดว่า ค่าผาติกรรม
อีกประเด็นหนึ่งที่สังคมสนใจไถ่ถามกันมากก็คือสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เป็นผู้ดูแลที่ดินธรณีสงฆ์จำนวนมาก โดยเฉพาะวัดร้างที่ถูกประกาศยกเลิกสถานะของการเป็นวัดไปแล้ว ที่ดินและทรัพย์สินของวัดร้างจึงตกเป็นของศาสนสมบัติกลาง ดังนั้นทรัพย์สินเหล่านั้นจึงตกอยู่ในความดูแลของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ คำถามคือเงินจำนวนมิใช่น้อยอันเกิดจากทรัพย์สินของวัด และวัดร้างในแต่ละเดือน แต่ละปี ตกอยู่กับผู้ใดในสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ
ครั้นเมื่ออ้างถึงงานวิจัยเรื่อง พระสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนตัว จากโครงการวิจัยพุทธศาสนศึกษา ของศูนย์พุทธศาสนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2552 โดยผู้วิจัยวิเคราะห์เรื่องทรัพย์สินส่วนตัวของพระภิกษุสงฆ์ เช่น เงินทองและทรัพย์สินอื่นๆ ว่าขัดกับหลักพระธรรมวินัยอย่างไรบ้าง ผลวิจัยระบุชัดเจนว่า อ้างตามพระวินัยปิฎกแล้ว พระภิกษุสงฆ์ไม่สามารถรับ จับ หรือเป็นเจ้าของเงินทองได้ และยังระบุอีกว่า การที่พระสงฆ์ได้ทรัพย์สินมาจากการฉ้อโกง ลักขโมย การเรี่ยไรของรับเงินบริจาค และการฆาตกรรมพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ และการบวชเพื่อหวังให้มีรายได้จากการเป็นพระสงฆ์ เป็นสิ่งที่ผิดหลักพระธรรมวินัย
พระธรรมวินัยกำหนดว่า พระสงฆ์ไม่สามารถสะสมเงินทองทรัพย์สมบัติได้ เพราะการสะสมเงินทองและทรัพย์สมบัติถือเป็นการกระทำที่ขัดกับวิถีปฏิบัติของเพศบรรพชิตที่มุ่งเน้นการประพฤติปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง
แต่ช่างน่าอัศจรรย์ใจเป็นที่สุด กับการที่สาธารณชนได้พบเห็นเป็นประจำว่าพระสงฆ์จำนวนมิใช่น้อยเป็นผู้ครอบครองเงินทองและทรัพย์สมบัติมูลค่ามหาศาล ในขณะเดียวกัน ก็ต้องประณามผู้คนที่สนับสนุนให้พระสงฆ์กระทำผิดพระธรรมวินัย โดยเฉพาะการถวายเงินให้พระสงฆ์ โดยอ้างด้วยความเขลาว่า เพราะการถวายเงินเป็นสิ่งที่ทำให้พระสงฆ์สามารถดำรงชีวิตในเพศบรรพชิตได้
มีผู้ตั้งคำถามว่า หากพระสงฆ์ไม่มีเงินใช้สอยแล้ว พระสงฆ์จะอยู่ได้อย่างไร แล้วหากพระสงฆ์อาพาธ จะไปรับการรักษาพยาบาลได้จากที่ไหน หรือหากพระสงฆ์ต้องการในสิ่งของตามความประสงค์แล้ว จะได้สิ่งของเหล่านั้นได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีเงินปัจจัยใช้สอย
คำตอบคือ พระสงฆ์มีโยมอุปัฏฐาก เมื่อพระสงฆ์ต้องการสิ่งใดอันจำเป็นแล้ว ก็สามารถเอ่ยปากกับโยมอุปัฏฐากได้
ผลจากการวิจัยพบว่า การอนุญาตให้พระสงฆ์ครอบครองเงินทองและทรัพย์สินได้ คือต้นตอของปัญหาการฉ้อโกงทรัพย์สินของวัด การแอบอ้างเรี่ยไรเพื่อหาเงิน การล่อลวงญาติโยม การลักขโมยทรัพย์สินในหมู่พระสงฆ์ ปัญหาอาชญากรรม รวมถึงปัญหาการแต่งกายเลียนแบบสงฆ์เพราะหวังจะได้รับเงินจากการถวาย
ผู้เขียนมุ่งหวังว่า บทความนี้จะช่วยเตือนสติคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มที่ชอบอ้างตัวว่าเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ทว่าไม่มีความรู้ในหลักพระธรรมวินัยแม้แต่น้อย ได้โปรดทบทวนการกระทำของตนเองเป็นการด่วน โดยเฉพาะเรื่องการถวายเงินให้พระสงฆ์ ขอเรียนย้ำว่า ถ้าหากเราทุกคนไม่สนับสนุนให้พระสงฆ์ประพฤติผิดพระธรรมวินัยแล้ว ก็เท่ากับเรามีส่วนช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มีอายุยืนยาวสืบต่อไป
เฉลิมชัย ยอดมาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี