คนเดินเท้าที่ประสบอุบัติเหตุบนถนนแล้วเสียชีวิต มากกว่าร้อยละ 50 เป็นผู้สูงอายุ
อุบัติเหตุทางถนนที่ทำให้คนไทยตายติดอันดับโลกมักจะเกิดในเดือนมีนาคม มีการเดินทางมากจากการปิดเทอม อีกช่วงคือเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงทอดกฐินและท่องเที่ยวฤดูอากาศเย็น และทุกปีก็จะมีคนตายจำนวนมาก เกือบร้อยละ 20 เป็นผู้สูงอายุ!
อุบัติเหตุจำนวนมากที่สุดเกิดจากมอเตอร์ไซค์ และเวลาเกิดเหตุมากที่สุดคือช่วงเวลาหัวค่ำ
นี่คือสถิติที่ได้รับรู้จากการเสวนาวิชาการ เรื่อง “สูงวัย... ไม่ตายกลางถนน” ที่ราชบัณฑิตยสภาจัดขึ้นเมื่อ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา
ตกใจที่ได้รับรู้ข้อมูลจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจำกัดว่า ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถมากขนาดนี้
ผู้โดยสารรถยนต์ที่เป็นผู้สูงอายุเสียชีวิต ร้อยละ 20 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด
คนเดินเท้าที่เป็นผู้สูงอายุเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด
นี่เป็นสถิติในปัจจุบันที่ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเกือบร้อยละ 20 หรือประมาณ 12 ล้านคน แต่อีก 15 ปี เราจะมีผู้สูงอายุเพิ่มถึงร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณเกือบ 20 ล้านคน แล้วเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร ?
ดีใจที่ราชบัณฑิตยสภาได้จับเรื่องนี้ เพราะอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจะต้องประสบปัญหาใหญ่ ที่โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป มีสัดส่วนผู้สูงอายุมาก สัดส่วนคนวัยทำงานเล็กลง สัดส่วนเด็กน้อยลง ถ้ารัฐบาลไม่สร้างระบบรองรับ ทั้งด้วยสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สุขภาพ และชุมชนสังคม บ้านเมืองผู้คนจะยากลำบาก ประเทศจะตกต่ำอย่างแสนสาหัส
คนทั่วไปมักจะรู้จักราชบัณฑิตยสภาในแง่มุมของภาษาไทย พจนานุกรม ผู้กำหนดการใช้ภาษาที่ถูกต้อง คิดค้นคำใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป
แต่ในความเป็นจริง ราชบัณฑิตยสภาประกอบด้วย 3 สำนัก คือ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง สำนักวิทยาศาสตร์ และสำนักศิลปกรรม มีหน้าที่ศึกษา วิจัย และให้ความเห็น คำแนะนำแก่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีในด้านต่างๆ
ปัจจุบัน ที่ราชบัณฑิตยสภาหยิบยกเรื่อง “สังคมคนไทยอายุยืน” หรือสังคมสูงวัยขึ้นเป็นวาระพิจารณา จึงเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนอย่างยิ่ง
“สูงวัย... ไม่ตายกลางถนน” เป็นหัวข้อหนึ่งที่หยิบยกขึ้นพิจารณาในวันนั้น ผู้แทนกลุ่มงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แยกแยะประเด็นของปัญหาที่น่าสนใจ คือ
1.สภาพการออกแบบถนน ทางเดินเท้า ทางข้ามถนน สะพานลอย และอื่นๆ
2.พฤติกรรมของคนใช้รถและใช้ถนน
3.การบังคับใช้กฎหมาย
(1) การออกแบบจราจรของไทย
เรายังให้ความสำคัญกับผู้ขับขี่รถยนต์มากกว่าคนเดินเท้า
ทางเท้าของเราจะแคบ ไม่ต่อเนื่อง ต้องเว้นที่ให้รถเข้า-ออกอาคารมาก ยิ่งกว่านั้น พื้นผิวไม่เรียบ เป็นหลุมเป็นบ่อ และยังถูกรุกรานจากแผงลอย รถเข็น คนเดินเท้าจึงต้องเดินหลีกเลี่ยง คดเคี้ยว ขึ้นลง ไม่ต่างจากการเดินผจญภัยในป่า แล้วผู้สูงอายุจะทำอย่างไร
การข้ามถนน ก็ให้ความสำคัญกับรถยนต์ จึงให้คนเดินเท้าต้องเป็นผู้รับภาระ เดินอ้อมไปขึ้นสะพานลอยที่สูงชัน ทั้งๆ ที่ ปัจจุบันรถยนต์ในเมืองก็ติดขัด วิ่งไปไม่ค่อยได้อยู่แล้ว การข้ามทางม้าลายโดยมีไฟจราจรจะสามารถเอื้ออำนวยให้ผู้สูงอายุ คนพิการ และเด็กได้ดีกว่า โดยที่รถยนต์ก็ไม่ได้ติดขัดเสียเวลามากนัก เพราะก็วิ่งไปข้างหน้าไม่ได้ไกล สภาพติดขัดกันอยู่แล้ว
การสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม ต้องใช้งบประมาณสะพานละ 3 ล้านบาท - 10 ล้านบาท หากพิจารณานำงบประมาณดังกล่าวทำทางม้าลายและปุ่มขนาดเล็กที่ยกตัวขึ้นกีดกันรถยนต์วิ่งชั่วคราวในระหว่างคนเดินข้าม ก็จะถูกกว่ามาก
สะพานลอยคนเดินข้ามอาจจะจำเป็นและเหมาะสมกับถนนนอกเมือง ถนนหลวง ถนนในชนบทในส่วนที่รถวิ่งเร็ว แต่ในเมืองใหญ่ รถหนาแน่นอยู่แล้วจึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
ป้ายรถประจำทางต้องพิจารณาปรับให้มีความถี่มากขึ้น ความห่างแต่ละป้ายน้อยลง และหากเป็นรถเมล์ชานต่ำที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการที่จะมีมากมายในอนาคตก็จะดี
(2) พฤติกรรมของคนขับรถใช้ถนน
รถยนต์ทุกประเภท เปรียบได้กับอาวุธที่ทำร้ายคนอื่นได้ คนใช้อาวุธ คือ คนขับรถของเราจำนวนมากขับรถโดยไม่รู้จักกลไกการทำงานของรถยนต์ หรือการใช้อาวุธประเภทนี้ดีพอ
ใบอนุญาตการใช้อาวุธหรือการขับขี่ ก็ยังไม่ได้สำรวจ ตรวจสอบอย่างรอบคอบเพียงพอ
การต่อใบขับขี่ โดยเฉพาะใบขับขี่ประเภทตลอดชีพ ก็ไม่ได้มีการประเมินความสามารถของผู้ขับขี่หรือใช้อาวุธนั้นในที่สาธารณะ
ที่น่าเป็นห่วง คือ การขับขี่บนถนนในชนบท ที่คิดว่าไม่มีการตรวจจับเยาวชน หรือใครก็ขับรถได้ โดยที่ไม่รู้จักการใช้รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ ซึ่งก็คือไม่รู้จักอาวุธชนิดต่างๆ ดีพอ
เมื่อสังคมยอมจัดลำดับให้ผู้ใช้รถยนต์มีความสำคัญในการใช้ถนนมากกว่าคนเดินเท้า คนขับรถจำนวนมากจึงไม่ค่อยยอมจอดรถให้คนข้ามถนน แม้แต่ในทางม้าลาย เพราะเข้าใจความสำคัญของตนว่ามีมากกว่า บางครั้งถึงบีบแตรไล่คนเดินข้ามถนน และนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ขึ้นใช้บนทางคนเดินเท้า
(3) การบังคับใช้กฎหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
กฎหมายที่ดี โทษที่แรง ไม่เป็นประโยชน์ หากไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย
พฤติกรรมคนไทย จะกลัวตำรวจ มากกว่าการกลัวทำผิดกฎหมาย
ดังนั้น โทษที่แรงพอสมควร แต่ตำรวจตรวจจับสม่ำเสมอ ทุกครั้งที่ผู้ขับขี่ทำผิด โอกาสถูกจับสูงมากและสม่ำเสมอ พฤติกรรมของผู้ขับขี่จะเปลี่ยนแปลง
แต่ถ้าโทษของการทำความผิดสูงมาก แล้วตำรวจจับเพียงบางครั้ง บางโอกาส คนขับขี่ก็ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง เพราะคิดว่าคงไม่ถูกจับ และเมื่อถูกจับก็ติดสินบนตำรวจและเจ้าหน้าที่อื่นๆ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติหากจะได้กระจายความรับผิดชอบด้านจราจรให้ท้องถิ่นได้เข้ามารับผิดชอบ ก็จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายทั่วถึง เป็นจริงมากขึ้น
การฝึกอบรมผู้ใช้รถยนต์ โดยเฉพาะรถที่มีความสูง เช่น รถเมล์ รถบรรทุก ที่มีจุดบอดมองคนเดินข้ามถนนไม่เห็นทั่วถึง รวมทั้งฝึกอบรมเยาวชนและคนทั่วไปถึงการเดินข้ามถนนและทางเท้าก็จะเป็นประโยชน์
หลายประเทศ เขาขอให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการฝึกอบรมเยาวชน ช่วยดูแลการจราจรในชุมชน ในท้องถิ่น เช่น ในประเทศญี่ปุ่น
เราจะพบเห็นการเดินบนทางเท้า และการข้ามถนนของเด็กนักเรียนญี่ปุ่น จะเดินเป็นคู่ เพราะโรงเรียนได้กำหนดให้มีเพื่อนคู่หูในการเดินกลับบ้านและมาโรงเรียนด้วยกัน
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี