ในยุคที่สังคมกำลังต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 แทบทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้าไปช่วยดำเนินการให้เกิดความถูกต้อง แม่นยำนำไปสู่การพัฒนาองค์กรให้ได้มาตรฐานที่สุด
เมื่อค่ำวันพุธที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดตัวระบบ “iSEE 2.0 นวัตกรรมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” เครื่องมือสำคัญที่ทำให้การช่วยเหลือไปถึงเด็กๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำตรงตามสภาพปัญหาอย่างแท้จริงพร้อมจัดเวทีเสวนา “EdTech และการขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูล (Data Activism) กรณีศึกษาระบบ iSEE กับการระดมความร่วมมือเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”
ซึ่งทางดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผจก.กสศ. เผยว่า กสศ.ได้วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education : iSEE) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (BIG Data) รายบุคคลครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสมากกว่า 4 ล้านคน โดยเชื่อมโยง
ข้อมูลเด็กและครอบครัวกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ 6 กระทรวง ได้แก่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงข้อมูลจากระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS)
ซึ่งจะทำให้มองเห็น สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนทุกพื้นที่ทั่วประเทศตลอดจนเป็นเครื่องมือให้กับหน่วยงานภาคีต่างๆ ที่มีภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ในอนาคต นับเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการศึกษาที่จะช่วยยกระดับการค้นหาคัดกรอง
เด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษาอย่างละเอียดโดยจะสำรวจตั้งแต่ระดับประเทศภูมิภาค จังหวัด อำเภอ ตำบลโรงเรียนจนถึงรายบุคคลทำให้ติดตามสถานการณ์การศึกษาอัตราการมาเรียนรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กในอนาคต ฯลฯ เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือได้เข้าถึงตัวเด็กอย่างทันท่วงที
“จุดเด่นของระบบ iSEE คือการแสดงข้อมูลสุขภาวะและทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชนข้อมูลสถานะครัวเรือนและสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนข้อมูลการเดินทางระหว่างไปโรงเรียนข้อมูลสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของโรงเรียนและจากการประมวลผลข้อมูลพบปี 2562 มีนักเรียนในระบบการศึกษาหายไปครึ่งหนึ่งหลังจบ ม.3 ยังพบว่า 3 จังหวัด ได้แก่ ตาก กรุงเทพฯ แม่ฮ่องสอน มีเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษามากที่สุด” รองผู้จัดการกสศ.กล่าว
นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกสิกรบิซิเนส-เทคโนโลยีกรุ๊ป (KBTG) ในฐานะมือปั้น Startup มือหนึ่งของไทยกล่าว จากการที่ตัวเองทำงานด้านสตาร์ทอัพมาหลายปีและในฐานะผู้ปั้นสตาร์ทอัพในประเทศไทยทำให้รู้ว่าฐานข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการแจ้งเกิดสตาร์ทอัพอย่างมาก
“สตาร์ทอัพหลายภาคส่วนถามหาข้อมูลอยู่ไหน ซึ่งการที่ กสศ.สร้างระบบ iSEE ขึ้นมาเหมือนมอบพลังอำนาจแห่งเทคโนโลยีมาให้ ในเมื่อเราจะเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยพลังอำนาจของข้อมูล วันนี้ชวนทุกคน เข้ามาเปลี่ยนแปลงเรื่องการศึกษา เพราะการศึกษาเปลี่ยนแปลงชีวิตได้โดยร่วมกันเปลี่ยนแปลงเด็ก 4 ล้านกว่าคนเพื่อให้ประเทศไทยไปอยู่ข้างหน้าได้โดยเข้าไปในระบบ iSEE” นายเรืองโรจน์กล่าว
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” ผู้ก่อตั้ง startdee เน็ตฟลิกซ์แห่งวงการการศึกษาไทย กล่าวว่า สตาร์ทดีต้องขอบคุณกสศ. เพราะหลายเรื่องต้องตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลของกสศ. ซึ่งทั้งสตาร์ทดีและกสศ. มีเป้าหมายต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปัจจุบันเด็กไทยเจอความเหลื่อมล้ำสองตลบ ตลบที่หนึ่งเป็นคุณภาพการเรียนการสอนในแต่ละโรงเรียน ไม่เท่ากันระหว่างหัวเมืองกับชนบท และตลบที่สองคือ ช่องทางการเรียนนอกห้องเรียน ก็ถูกปิดกั้นด้วยวัฒนธรรมการเรียนพิเศษที่ราคาค่อนข้างสูง สิ่งที่เล็งเห็นคือสัดส่วนเด็กไทยที่เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพจึงไม่สูงมาก
การใช้งานในส่วนของระบบ iSEE ส่วนแรกมาจากความสงสัยส่วนตัวต้องการตรวจสอบตัวเองอยากรู้ว่าเด็กที่เข้าถึงแอพพลิเคชั่นของสตาร์ดีเป็นเด็กยากจนมากน้อยแค่ไหนเราจึงเอาข้อมูลโรงเรียนของนักเรียนที่มาใช้แอพพลิเคชั่นไปจับคู่
กับข้อมูลใน iSEE ดูว่าโรงเรียนนี้มีสัดส่วนเด็กยากจนมากน้อยแค่ไหนซึ่งพบว่ามีโรงเรียนที่มีสัดส่วนเด็กยากจน 80-100% ซึ่งเมื่อรู้กลุ่มเป้าหมายของเราแล้วก็ทำให้เราสามารถออกแบบการเรียนรู้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายเพราะเรารู้ว่าเรากำลังช่วยเหลือใครอยู่ทำให้สามารถต่อยอดได้เพราะมีเอกชนหลายแห่งพร้อมสนับสนุนเรื่องการศึกษา
“โดยเราเห็นว่าจังหวะก้าวการทำงานของกสศ. เร็วกว่าการทำงานของภาครัฐที่เราคุ้นเคย การช่วยลดความเสมอภาคไม่จำเป็นต้องให้สิ่งเดียวกับทุกคนแต่สามารถให้สิ่งที่ดีที่สุดกับทุกคนซึ่งเครื่องมืออย่าง iSEE ช่วยสตาร์ทอัพอย่างสตาร์ทดีให้ไปสู่เป้าหมายจุดนั้นได้” นายพริษฐ์ กล่าว
ครับ ก็ต้องให้กำลังใจทุกฝ่ายที่เติมข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กไทยเพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาต่อไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี