พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า เรื่องทุกเรื่องเริ่มต้นที่ใจ สำคัญที่ใจสำเร็จด้วยใจ ถ้าหากใจเสียหาย จะทำจะพูดอะไรก็เกิดความเสียหาย
แต่แน่นอนกายก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันหากสามวันดีสี่วันไข้ทำอะไรก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ใจนะมันอยากจะทำอะไรแต่ถ้ากายมันไม่ไหวก็จบเหมือนกัน
ก็เหมือนกับคนทำงานในวงการสื่อมวลชนนั่นแหละ นอกจากจะทำงานรับใช้อุดมการณ์ความคิด ของตัวเองแล้วยังต้องคำนึงถึงความคาดหวังของสังคมส่วนรวมด้วย
ไม่ใช่สักแต่รายงานข่าวเพื่อความสะใจของตัวเองหรือเพื่อหวังเรทติ้งสถานีจะได้มีโฆษณาวิ่งเข้าหา โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่นั้นได้สร้างปัญญาให้กับคนดูมากน้อยแค่ไหน กระทบสังคมอย่างไร
ที่พูดมาทั้งหมดก็เพื่อจะเล่าให้ฟังว่าเมื่อวันก่อนนี้ได้ไปร่วมงานประชุมโฟกัสกรุ๊ป เรื่อง สุขภาวะสื่อมวลชนไทยในกระแสความเปลี่ยนแปลง ที่มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดขึ้นที่โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ รัชดา
เป็นการนำเสนอข้อมูลการสำรวจสุขภาวะของคนทำงานสื่อ 8 องค์กรทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุและสื่อออนไลน์ว่าตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 จนกำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นและผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเพราะรัสเซียกับยูเครนรบกันแล้วพลอยทำให้ไทยเราต้องเดือดร้อนไปด้วยคนวงการสื่อยังอยู่ดีมีสุขกันหรือเปล่า
งานนี้เริ่มต้นด้วย นายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการกองทุน สสส. ที่ตอกย้ำถึงบทบาทของสื่อมวลชนว่าเป็นภาคีเครือข่ายสำคัญของ สสส. นอกจากทำหน้าที่ให้ความรู้ รณรงค์ประเด็นปัจจัยเสี่ยงสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องสื่อมวลชนก็เป็นกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพด้วย โดยเฉพาะการสูบบุหรี่และดื่มสุรา สสส. จึงได้สนับสนุนมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ให้รณรงค์ลด ละ เลิกบุหรี่ ซึ่งมีสื่อมวลชนเป็นกลุ่มเป้าหมาย ทั้งการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ และสะท้อนมุมมองของสื่อมวลชนต่อบทบาทการเป็นผู้ชี้นำสังคมสุขภาวะและร่วมลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพทั้งบุหรี่และสุรา พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสุขภาพของตนเองและครอบครัว
ซึ่ง มสส.ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างเข้มข้นทั้งการจัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป การผลิตและเผยแพร่ข่าว การผลักดันให้สื่อมวลชนร่วมรณรงค์ประเด็นสุขภาวะทั้งภายในและภายนอกองค์กร การค้นหาสื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชนต้นแบบ การค้นหาสื่อมวลชนที่ต้องการลดการสูบบุหรี่ และการผลิตสื่อรณรงค์เกี่ยวกับประเด็นสุขภาวะด้วย และย้ำว่า ทิศทางในระยะ 10 ปีข้างหน้า สสส. ยังเน้นการลดอัตราการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในส่วนของการป้องกันนักสูบนักดื่มหน้าใหม่ การลด ละ เลิก ทั้งการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้ง การดูแลสภาพแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
จากนั้น นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) เปิดเผยผลการสำรวจว่าสุขภาพสื่อมวลชนส่วนใหญ่ 78.4% ไม่มีโรคประจำตัว ส่วนอีก 21.6% นั้น มีโรคประจำตัว มากที่สุดคือภูมิแพ้ที่จะต้องหาคำตอบต่อไปว่าเกิดจากที่ทำงานหรือที่บ้าน ที่ดีอยู่หน่อยก็ตรงที่ส่วนใหญ่ 74.5% มีการตรวจสุขภาพประจำปี แต่อีก 25.5% ไม่ได้ตรวจอ้างว่าไม่มีเวลาและไม่ได้ป่วยอะไร จึงอยากจะเรียกร้องให้ตรวจสุขภาพ 100% ไปเลย ส่วนการสูบบุหรี่ของสื่อมวลชนส่วนใหญ่ 74.5% ไม่สูบบุหรี่ อีก 25.5% สูบ หรือเคยสูบ และถ้าดูจากเปอร์เซ็นต์คนไม่สูบก็ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยตัวเลขรวมของทั้งประเทศก็น่ากังวล แต่ก็น่าดีใจตรงที่ว่าสื่อส่วนใหญ่ถึง 94% ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้าและรู้ด้วยว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ต่อมาเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ 62.8% ยังดื่มอยู่ ดื่มที่บ้านตัวเองนี่แหละ ประเด็นที่อาจจะทำให้สสส.และภาคีต้องทำงานหนักขึ้นคือส่วนใหญ่ไม่คิดจะเลิกดื่มเพราะเห็นว่าดื่มไม่มาก ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ก็ต้องทำให้ คนเหล่านี้คิดให้ได้ว่าแก่ตัวไปทุกโรคมันจะถามหาจากทั้งสูบทั้งดื่มนี่แหละ
ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่นการพนัน ส่วนใหญ่ไม่เคยเล่นแต่มีถึง 35.3% เคยเล่นการพนัน และเห็นว่าการซื้อลอตเตอรี่ไม่ใช่การพนัน เพราะมองว่าไม่ผิดกฎหมาย พร้อมสรุป
ปิดท้ายว่าจากข้อมูลที่ได้จึงมีข้อเสนอถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วนด้วยกัน คือ องค์กรสื่อมวลชน กองบรรณาธิการ ภาคีและ สสส.ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนการทำงานด้านสุขภาวะในทุกมิติ ซึ่งมสส.พร้อมเป็นตัวกลางในเรื่องนี้
ส่วน นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ คอลัมนิสต์อาวุโส รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เห็นว่าผลสำรวจทำให้เรารู้ความจริงว่าการไม่ตรวจสุขภาพประจำปีเพราะเห็นว่ายังไม่เป็นโรค หรืออยากจะเลิกบุหรี่และเหล้าแต่เลิกไม่ได้เพราะใจไม่แข็งพอเราจะต้องหาทางแก้ไข แต่อยากให้สำรวจ เพิ่มเติมเรื่องสุขภาวะทางใจ ทางปัญญาของสื่อว่าเป็นอย่างไรและศึกษาเปรียบเทียบกับอาชีพอื่นด้วยจะได้รู้ว่าสื่อนั้นอยู่ในระดับ ดี ปานกลาง ต่ำ น่ากังวลหรือไม่เมื่อเทียบกับคนอื่น และอยากให้ตัวสื่อมวลชน องค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพ และองค์กรธุรกิจสื่อให้ความสำคัญในเรื่องนี้
วันนั้นพี่น้องสื่อมวลชนเห็นตรงกันว่าสำรวจสุขภาพกายอย่างเดียวไม่พอต้องไปถึงจิตใจที่ตอนนี้ สื่อมวลชนกำลังเครียดกันมากทั้งจากการทำงานและปากท้องตัวเอง รวมไปถึงปัญญาและสังคม
ผมก็เลยเสนอเพิ่มเติมว่าเมื่อใจพร้อม กายพร้อม ปัญญาพร้อม ความรับผิดชอบต่อสังคมก็ต้องตามมาด้วย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี