คำถามที่มักจะถามกันอยู่ทั่วไปก็คือ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนนั้น ไทยจะอยู่กับฝ่ายไหน? หรือจะทำตัวพลิ้วไปตามสายลมเสมือนไผ่ลู่ลม หรือจะพูดจาแบบลิ้นสองแฉก?
ก็จัดได้ว่าเป็นคำถามที่ถูกต้องเหมาะสม และฝ่ายไทยโดยคณะรัฐบาลก็ควรจะต้องมีคำตอบให้ชัดเจน เพื่อความสบายอกสบายใจของประชาชนพลเมือง เพื่อศักดิ์ศรีของประเทศชาติ และเพื่อการได้รับความเคารพหรือนับหน้าถือตาโดยประชาคมโลก
ประเด็นหรือปัจจัยต่างๆ ที่ผู้ที่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองจะนำเข้ามาประกอบการพิจารณาตัดสินใจจะมีอาทิ
1. พันธกรณีระหว่างประเทศ ทั้งในกรอบองค์การสหประชาชาติ และในกรอบองค์การประชาคมอาเซียน ไปจนถึงข้อตกลงทวิภาคีกับมิตรประเทศต่างๆ
2. พละกำลังของประเทศไทยทั้งจุดอ่อนจุดแข็ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ความสมัครสมานสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน สมรรถภาพของฝ่ายกองทัพ ขนาดของเศรษฐกิจ และคุณภาพของแรงงานทุกระดับ ไปจนถึงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ สถานะความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และความมีมิตรจิตมิตรใจกันมากน้อยเพียงใด เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้บริหารประเทศก็ต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของรัฐไทย รวมทั้งการวางตัวของรัฐไทยในช่วงต่างๆ หรือยุคต่างๆ ของการเมืองระหว่างประเทศ ความสำเร็จอันใหญ่หลวงในการธำรงไว้ในความเป็นเอกราช การมีนโยบายต่างประเทศที่เป็นของตัวเองอย่างสง่างาม และการมีบทบาทในการเสริมสร้างสันติภาพและการอยู่ร่วมกันของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนั้นฝ่ายผู้บริหารประเทศก็ต้องมีความตระหนักรู้ในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 และการสิ้นสุดของโลกยุคสงครามเย็น และบัดนี้ประเทศไทยมิใช่รัฐแนวหน้า (Front line state) จากมุมมองของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และประเทศยุโรปตะวันตกอีกแล้ว ประเทศไทยตกอยู่ในแถวที่สองของความรู้สึกนึกคิดของมิตรประเทศพัฒนาแล้วดังกล่าว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ แม้กระทั่งมาเลเซีย และอินเดีย เป็นประเทศแนวหน้าหรือด่านหน้าในมุมมองของสหรัฐฯ ในการเผชิญหน้ากับจีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ
ในการนี้ผู้บริหารประเทศไทยก็ต้องกลับมาทบทวนว่า สนธิสัญญาแห่งกรุงมะนิลา (Manila Pact) ที่ได้มีการก่อตั้งองค์การ SEATO หรือ สปอ. ยังมีความทันสมัยใช้การได้อยู่หรือ อีกทั้งพันธกรณีทางด้านการทหารและความมั่นคงระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังเหมาะสมและใช้การได้หรือไม่ รวมทั้งการที่ฝ่ายสหรัฐฯ ได้ตั้งให้ประเทศไทยเป็น Nature non-NATO Align ประเทศพันธมิตรที่มิใช่สมาชิกองค์การนาโต นั้นเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความเป็นจริงหรือไม่?
อีกทั้งในภาพกว้างไทยก็คบหาสมาคมทำมาค้าขายกับทั้งจีน และรัสเซียแบบทวิภาคี รวมทั้งในกรอบของประชาคมอาเซียน ซึ่งไทยก็มิได้มีประเด็นปัญหาใดๆ กับสองประเทศนี้ ทั้งในเรื่องข้อพิพาททางเขตแดน หรือในเรื่องการต้องพึ่งพาแบบหลีกเลี่ยงมิได้
นอกจากนั้นประเทศไทยก็ได้ร่วมออกแถลงการณ์อาเซียน ว่าด้วยความปรารถนาที่จะให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นดินแดนแห่งความเป็นกลาง เป็นอิสรเสรีจากการครอบงำใดๆ และปลอดอาวุธนิวเคลียร์ โดยสรุป ประเทศไทยไม่มีเรื่องมีราวที่จะไปรบราฆ่าฟันกับประเทศมหาอำนาจ หรือจะถือหาง หรือจะเข้าร่วมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ประเทศไทยได้มีความเป็นมิตรกับประเทศคู่กรณีต่างๆ มาโดยตลอด และฉะนั้น ผู้นำประเทศไทยก็ควรจะพิจารณากำหนดให้ประเทศไทยเป็นประเทศเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
ผมในฐานะผู้เขียนก็มีความเชื่อ และพร้อมที่จะขับเคลื่อนนโยบายความเป็นกลางของไทยนี้ ก็ขอเชิญชวนมาร่วมกันครับ
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี