หลังจากทางรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยไปยังดินแดนที่อยู่ในการปกครองของอังกฤษแล้ว ทำให้รัฐบาลไทยมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลและกองทัพญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเหตุที่ทำให้ในระยะเวลาอีกประมาณไม่ถึงสองเดือนต่อมาทางรัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ตามประกาศดังนี้
“โดยที่ฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้กระทำการรุกรานประเทศไทยมาเป็นลำดับ โดยส่งทหารรุกล้ำเขตแดนเข้ามาบ้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ส่งเครื่องบินรบเข้ามาทิ้งระเบิดบ้านเมืองของราษฎรผู้ประกอบหาเลี้ยงชีพอย่างปกติ ทั้งระดมยิงราษฎรสามัญผู้ไร้อาวุธอย่างทารุณ ผิดวิสัยของอารยชน ไม่กระทำการอย่างเปิดเผยตามประเพณีนิยมระหว่างชาติ นับได้ว่าเป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและมนุษยธรรม ประเทศไทยจึงไม่สามารถที่จะทนดูต่อไปอีกได้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ได้มีสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยฝ่ายหนึ่ง กับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาอีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่เวลาเที่ยงวัน วันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นต้นไป”
อีกสี่วันต่อมา ทางรัฐบาลได้นำเรื่องการประกาศสงครามครั้งนี้เข้าเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมครั้งที่ 8 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2485 ทางรัฐบาลได้มอบให้หลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ชี้แจงในสภาฯ
“…ข้าพเจ้าแน่ใจว่าท่านสมาชิกทุกท่านที่อยู่ในที่นี้ คงจะมีความรู้สึกขมขื่นอยู่ทั่วกัน พระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งเป็นศิลปวัตถุชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง ได้ถูกลูกระเบิดเสียหาย โลกทั้งโลกรู้ว่าพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้นคืออะไร พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นสถานที่ซึ่งรู้กันทั่วไปว่าเป็นสภาผู้แทนราษฎร รู้กันทั่วว่าเป็นสภาสูงสุดแห่งชาติ… แต่บัดนี้พระที่นั่งอนันตสมาคมของเราได้ถูกประทุษร้าย ทหารผู้กล้าหาญของเราสามคนที่รักษาสภาสูงสุดของชาติได้เสียชีวิตในเบื้องบนที่เรานั่งประชุมกันอยู่นี้… เมื่อสงครามได้เดินเข้ามาหาเราแล้วก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องดำเนินการไปสู่ทางที่เป็นคุณแก่ชาติ… ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าผู้แทนราษฎรทุกๆ ท่านคงจะได้ชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจถึงสถานการณ์ของประเทศและถึงความ(จำ)เป็นที่เราต้องประกาศสงคราม”
เมื่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศแถลงจบลง ประธานสภาฯได้ให้นายวุฒิ สุวรรณรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าของญัตติที่เสนอขอบคุณรัฐบาลได้ชี้แจง ซึ่ง นายวุฒิ สุวรรณรักษ์ ได้กล่าว
“ขอบคุณและไว้วางใจในรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำของเรา…โดยเฉพาะข้าพเจ้าขอเสนอให้มอบความไว้วางใจเด็ดขาดแก่ ฯพณฯ ท่าน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ท่านนายกรัฐมนตรีของเราให้เป็นผู้นำของเราให้ไปสู่ ความสวัสดีมีชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งนี้ด้วย หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะเห็นชอบด้วยญัตติที่ข้าพเจ้าเสนอมานี้โดยทั่วกัน”
รายงานการประชุมในวันนั้นบันทึกว่า“มีสมาชิกยกมือพร้อมเพรียงกัน”
ในวันนั้นไม่มีผู้แทนราษฎรคนใดกล่าวคัดค้านแต่อย่างใด เพราะนายกรัฐมนตรีจอมพลป.พิบูลสงครามนั้นมีอำนาจมาก ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ไม่กลัวใครและมักทำให้เป็นที่เกรงกลัวกันทั่วไปว่าท่านจะใช้อำนาจในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม สั่งโยกย้ายหรือสั่งให้คนเข้าไปรับราชการทหารและส่งไปประจำการที่ใดที่หนึ่งได้ แต่ก็น่าบันทึกไว้ด้วยว่าการประกาศสงครามคราวนั้นมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงสองท่าน จากจำนวนทั้งหมดสามท่าน เท่านั้น ที่ลงนาม ผู้ที่มาเขียนเล่าใน
เรื่องนี้เป็นนักการเมืองระดับรัฐมนตรีที่เคยร่วมรัฐบาลกับจอมพล ป.พิบูลสงครามมาก่อน
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี