เมื่อวาน ได้ลำดับความเป็นมา ในโอกาสครบรอบ 1 ปี สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งออกอาวุธฆ่าฟัน และมาตรการเศรษฐกิจตอบโต้กันอย่างไรสรุปจากข้อมูลสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
วันนี้ มาดูกันต่อว่า ได้สร้างวิกฤตแก่สังคมโลก และเศรษฐกิจไทย อย่างไร? และไทยจะรับมืออย่างไร เมื่อจีนดูจะถูกทำให้เข้ามาเกี่ยวพันมากขึ้น
1.วิกฤตอาหาร
ผลพวงจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารโลก และทำให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นมากตามอุปทานที่ลดลง
เนื่องจากรัสเซียและยูเครนซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของโลกหลายชนิด อาทิ ข้าวสาลี ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน และข้าวบาร์เลย์ การส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังตลาดโลกได้ลดลง
นอกจากนี้ ราคาปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรก็ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบสำหรับปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปรวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ราคาสูงขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนอาหาร ทำให้มากกว่า 30 ประทศ ประกาศระงับการส่งออกสินค้าเพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ
ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตร แห่งสหประชาชาติ(FAO) ระบุว่า ในปี 2565 ดัชนีราคาอาหารโลกอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยเพิ่มขึ้น 14.3% จากปีก่อน
2. วิกฤตพลังงาน
การจำกัดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ตามมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียของชาติตะวันตก ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากความกังวลว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะกระทบต่ออุปทานของการผลิตน้ำมันทั่วโลก
เพราะรัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกและยังเป็นประเทศผู้ส่งออก ก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในโลก
ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการใช้เชื้อเพลิงในการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า ภาคการขนส่ง และภาคการผลิตสินค้าอื่นๆ ที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นวัตถุดิบ
ส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ผลักดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ให้เพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ การที่รัสเซียระงับการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรป ยังส่งผลให้ประเทศในยุโรปซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาก๊าซจากรัสเซียเผชิญความเสี่ยงด้านการขาดแคลนพลังงาน
ธนาคารโลกรายงานข้อมูลดัชนีราคาพลังงานโลกในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 60% โดยราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 40.6% และราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นถึง 65.4%
3. วิกฤตเงินเฟ้อและค่าครองชีพ
ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ เป็นแรงผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ผ่านราคาพลังงานและอาหาร ทำให้ต้นทุนสินค้าบริการปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทบค่าครองชีพและกำลังซื้อของประชาชน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกจะเพิ่มจาก 4.7% ในปี 2564 เป็น 8.8% ในปี 2565
ผลจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดการชะลอการลงทุนของภาคการผลิตและการลดใช้จ่ายของผู้บริโภค และนำมาสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
4. วิกฤตการณ์ครั้งนี้ ฉุดรั้งเศรษฐกิจโลก นับตั้งแต่รัสเซียเข้าไปปฏิบัติการทางทหารในยูเครน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วิกฤตการณ์ในครั้งนี้เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2565 และยังส่งผลกระทบสืบเนื่องมาจนถึงขณะนี้
ธนาคารโลกประเมินว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัว2.9% ซึ่งชะลอลงอย่างมากจากที่ขยายตัว 5.9% ในปี 2564
ต่ำกว่าคาดการณ์เมื่อต้นปีก่อนเกิดวิกฤตในยูเครนที่ 4.1%
นับจากนี้เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
บ่งชี้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตโลกจนถึงเดือนธ.ค. 2565 ที่ชะลอตัวลง ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และอยู่ในภาวะหดตัวติดต่อกัน 4 เดือน
สอดคล้องกับที่ธนาคารโลกคาดการณ์ล่าสุดว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะขยายตัวเพียง 1.7%
เป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี หากไม่นับวิกฤตการเงินโลกในปี 2552 และปี 2563 ที่เกิดวิกฤตโควิด-19
การค้าโลกจะขยายตัวเพียง 1.6%
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปี 2565 เริ่มแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศที่มีสัดส่วนพึ่งพาภาคต่างประเทศสูง หรือพึ่งพาการส่งออกมาก อย่างเช่น ไทยที่การส่งออกสินค้า หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน โดยหดตัวต่อเนื่องติดต่อกันในเดือนต.ค. และพ.ย. 2565 เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่การส่งออกมีทิศทางชะลอตัวลง
ตราบใดที่วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนยังคงดำเนินต่อไป ก็จะยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัวให้อ่อนแอลงไปอีก และจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในฐานะประเทศที่พึ่งพาภาคต่างประเทศในระดับสูง
5. จากข้อมูลข้างต้น ชี้ชัดว่า วิกฤตและผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น เปรียบเสมือนหลุมดำมหึมา ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่?
แถมอาจจะขยายขนาดมากขึ้นหากเกิดสงครามใหญ่ขยายวง?!?!
ช่างน่าสมเพชเวทนานักการเมืองไทย ที่หื่นกระหายแย่งชิงอำนาจรัฐกันในขณะนี้
บางพรรคการเมือง ฉวยโอกาสหยิบเอาผลกระทบจากวิกฤตใหญ่ระดับประวัติศาสตร์โลกมาโจมตี เช่น เงินเฟ้อค่าครองชีพ ราคาพลังงาน เศรษฐกิจการค้า ฯลฯ และคุยโม้หลอกลวงชาวบ้านไปวันๆ ทำนองว่า ขอแค่แลนด์สไลด์พวกตนได้เป็นรัฐบาล ปัญหาทุกอย่างในบ้านเมืองไทยเวลานี้จะหายไปง่ายๆ ราวลัดฝ่ามือ!!!!
น่าสมเพชมาก
ในความเป็นจริง ถ้าการเมืองเปลี่ยนขั้ว ความเสี่ยงสำคัญที่สุดของประเทศ คือ ผู้นำคนใหม่ มีวุฒิภาวะ ประสบการณ์ และมีนโยบายนำพาประเทศให้อยู่รอดอย่างสมดุลในบริบทสงครามเศรษฐกิจและสุ่มเสี่ยงสงครามโลกครั้งใหม่นี้อย่างไร?
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหันเหประเทศเข้าไปเป็นพวก รับใช้มหาอำนาจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ก็เท่ากับชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน
ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นยูเครน 2 หรือได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าที่เป็นมา
ทั้งๆ ที่ เวลานี้ เศรษฐกิจไทยกำลังเดินหน้าสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอีกหลายๆ ภูมิภาคทั่วโลก
6. ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ยังได้วิเคราะห์เปรียบเทียบ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่มีการดำเนินมาตรการทางภาษีตอบโต้ระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 2561 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และความขัดแย้งได้ขยายวงกว้างไปยังด้านอื่น โดยเฉพาะการแย่งชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเป็นมหาอำนาจของโลก
เมื่อเปรียบเทียบด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน พบว่า
สหรัฐฯ มีจุดแข็งคือการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ (ความสามารถในการวิจัยพื้นฐานและคิดค้นสิ่งที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน) และมีความสามารถในการเปลี่ยนผ่านนวัตกรรม (Breakthrough) ให้ใช้งานได้ดีกว่าเดิมหรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสหรัฐฯ ได้เปรียบจีนด้านนวัตกรรมที่โดดเด่น สัดส่วนการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีระดับกลาง และความคืบหน้าของเทคโนโลยียุคใหม่ อาทิ เทคโนโลยีควอนตัมเซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีชีวภาพ
ขณะที่ จีน มีจุดแข็งคือการประยุกต์และการต่อยอดเทคโนโลยีเดิม และความสามารถในการผลิต เนื่องจากจีนมีแรงงานทักษะมหาศาล รวมไปถึงสามารถลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ทำให้จีนเป็นโรงงานของโลก โดยจีนได้เปรียบสหรัฐฯ ด้านการครอบครองทรัพยากรสำคัญในยุคเทคโนโลยี เช่น ลิเทียม ธาตุหายาก แกรไฟต์ การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีระดับสูง และความคืบหน้าของเทคโนโลยียุคใหม่ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ การสื่อสารแบบไร้สาย และพลังงานสีเขียว
แนวโน้มการแข่งขันและการแบ่งขั้วทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีแนวโน้มเร่งตัวรุนแรงขึ้น มีโอกาสส่งผลต่อไทย อาทิ การเป็นแหล่งผลิตทางเลือกที่สามารถสนับสนุนเป้าหมายของสหรัฐฯ ในการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ โอกาสที่ไทยจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพที่สหรัฐฯ ให้การส่งเสริม ซึ่งเป็นสาขาที่สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของไทย และโอกาสในการดึงดูดการลงทุนของไทย จากการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงตามยุทธศาสตร์ China Plus One
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ไทยยังต้องจับตา/เฝ้าระวัง อาทิ การส่งเสริมการย้ายฐานการผลิต (Reshoring) ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศในไทยในอนาคต ความขัดแย้งในประเด็นไต้หวันหากรุนแรงขึ้น อาจทำให้เกิดการหยุดชะงักของอุปทานเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงไทยที่เป็นฐานการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งมีเซมิคอนดักเตอร์เป็นชิ้นส่วนสำคัญ
อีกทั้งใจกลางความขัดแย้งด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งในระยะสั้น (ปัจจุบัน - ปี 2568) และในระยะกลาง (ปัจจุบัน - ปี 2573) อาจสร้างความเปลี่ยนแปลง/ส่งผลกระทบต่อการลงทุน การผลิต การค้า และห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการกีดกันเทคโนโลยีขั้นสูงระหว่างห่วงโซ่อุปทานของทั้ง 2 ชาติและประเทศพันธมิตรที่มีแนวโน้มแยกจากกัน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป้าหมายของไทยในสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ในอนาคต
ประเทศไทยควรบริหารความสัมพันธ์กับสองประเทศอย่างสมดุล มุ่งสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนที่เสรีและเป็นมิตรกับทุกประเทศ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี