ถึงแม้ว่าโรคโควิด-19 ที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ได้เดินทางมาถึงระยะเวลาที่เรียกว่าจบลงแล้วก็ตาม แต่เรื่องของการฉีดวัคซีน ทั้งผู้ที่เคยได้รับการฉีดมาแล้วและผู้ที่จะเข้ารับการฉีดเข็ม Booster หรือเข็มกระตุ้นก็ยังเป็นประเด็นอยู่ตลอดมา ว่าจะก่อให้เกิดอันตรายที่เรียกว่าภาวะไม่พึงประสงค์ภายหลังการฉีดได้มากหรือน้อยเพียงใด โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอที่จะมีการกล่าวถึงกันค่อนข้างจะมากกว่าวัคซีนชนิดเชื้อตายดั้งเดิมที่ใช้กันคือวัคซีนซีโนแวค ซิโนฟาร์ม หรือวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ของแอสตราเซเนกา
ลองหันกลับมาดูตัวเลขของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 และจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19 ถึง 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพื่อดูว่า โรคโควิด-19 ได้จบลงแล้วจริงหรือไม่ ซึ่งต้องขออธิบายก่อนว่าคำว่าจบลงแล้วนั้นไม่ได้หมายความว่าโรคนี้สูญสิ้นไปจากโลกนี้แล้ว แต่หมายถึงการระบาดของโรคนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว กลายเป็นโรคประจำถิ่นซึ่งจะเกิดการระบาดตามฤดูกาล หรือหากเกิดการติดเชื้อขึ้นก็จะเกิดขึ้นกับคนจำนวนน้อย ซึ่งเมื่อดูจากตัวเลขตามที่กล่าวมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ก็พบว่ามีผู้ป่วยทั่วประเทศที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการมากอยู่เพียงแค่ 204 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพียงแค่ 9 รายเท่านั้น ซึ่งแทบจะไม่ต่างไปจากสัปดาห์ก่อนหน้า ตัวเลขนี้จึงน่าจะเป็นเครื่อง ยืนยันได้ว่า การระบาดของโรคได้สิ้นสุดลงแล้ว ก็คงต้องติดตามต่อไปว่าในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมของปีนี้จะมีการระบาดที่เรียกว่าระบาดตามฤดูกาลกลับมาหรือไม่ ทั้งนี้ อย่าได้เกิดความวิตกกังวล เพราะการระบาดตามฤดูกาลนั้นจะเกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมากๆ และไม่ได้รับวัคซีนอย่างเพียงพอเท่านั้น
จากการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี รวมทั้งการที่มีการพัฒนาวัคซีนเกิดขึ้นซึ่งแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือวัคซีนชนิดเชื้อตาย วัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ และวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต ซึ่งในทั้ง 4 กลุ่มนี้ได้มีการนำไปฉีดให้กับประชากรของโลกรวมทั้งสิ้นเกินกว่า 5,500 ล้านราย หรือประมาณ 71 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งโลก และวัคซีนที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดน่าจะเป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ซึ่งเป็นวัคซีนหลักที่ใช้ฉีดในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแถบทวีปยุโรปเกือบทั้งหมด รวมทั้งประเทศในทวีปเอเชียก็มีการนำมาใช้เป็นจำนวนมากพอสมควร ส่วนในประเทศไทยนั้นในระยะเริ่มต้นของการระบาดมีการใช้วัคซีนชนิดเชื้อตายไปมากกว่าวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ และวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์มากกว่าวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ จนกระทั่งช่วงประมาณเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาจึงมีการใช้วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอในประเทศไทยมากกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ
ในระยะแรกๆ ของการนำวัคซีนทุกชนิดมาใช้ ก็มีข่าวออกมาเป็นระยะว่าวัคซีนแต่ละชนิดต่างก็ทำให้เกิดภาวะหรืออาการไม่พึงประสงค์ได้เกือบทั้งสิ้น แต่หากคิดเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ฉีดทั้งหมด ก็เป็นสัดส่วนที่ต่ำมากๆและหากนำจำนวนผู้ที่คาดว่าเสียชีวิตจากการได้รับวัคซีนมาคำนวณเทียบด้วย ก็จะพบสัดส่วนที่ยิ่งต่ำลงไปจนกล่าวได้ว่าไม่มีนัยสำคัญ และสาเหตุของการเสียชีวิตก็ไม่มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนว่ามาจากวัคซีนจริงหรือไม่ เพราะแม้ไม่มีการฉีดวัคซีนดังกล่าว จำนวนผู้เสียชีวิตจากภาวะไม่พึงประสงค์ที่กล่าวอ้างว่าเป็นผลจากวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเส้นเลือดไปเลี้ยงสมองอุดตันหรือการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจจนเสียชีวิต ก็มีเป็นปกติอยู่แล้ว
เนื่องจากยังมีประเด็นที่ต้องสงสัยอยู่ จึงได้มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยรวบรวมข้อมูล โดยการศึกษาติดตามจากผู้ที่ได้รับวัคซีนและมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น จนสามารถจะนำมาเป็นข้อสรุปที่มีเหตุและผลได้แล้วตามสมควร และได้มีแพทย์ไทยท่านหนึ่งซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด วิกฤตบำบัด และการปลูกถ่ายปอด ที่เป็นอาจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับต้นๆ ของโลก และเป็นแพทย์ผู้ติดตามศึกษาเรื่องโรคโควิดมาโดยตลอด ได้นำเสนอโดยรายงานเป็นคลิปที่นำผลการศึกษาอันเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ของอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากวัคซีน โดยเน้นการศึกษาวิจัยเฉพาะวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ เพราะแนวโน้มในขณะนี้วัคซีนชนิดนี้น่าจะเป็นวัคซีนตัวหลักที่จะใช้กันทั่งโลก ขออนุญาตเอ่ยชื่ออาจารย์ท่านนี้รวมทั้งการขอบคุณที่ได้นำสิ่งที่เป็นความรู้อันเป็นประโยชน์มาเผยแพร่ให้คนจำนวนมากได้รับทราบ ท่านคือนายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน หรือคุณหมอแทน
คุณหมอได้กล่าวว่า ขณะนี้สายพันธุ์หลักของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 นั้นยังคงเป็นสายพันธุ์โอมิครอนที่อาจจะมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยๆหลายสายพันธุ์ ที่จะมาทดแทนสายพันธุ์โอมิครอนหลัก แต่ก็ไม่มีสายพันธุ์ไหนที่ก่อให้เกิดอาการที่รุนแรง แต่วัคซีนที่มีอยู่ก็ใช้กับสายพันธุ์ใหม่ๆ เหล่านี้ได้ดีและหากใครที่ติดเชื้อแล้วมีอาการเกิดขึ้น ยาที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นโมลนูพิราเวียร์ แพ็กซ์โลวิด หรือเรมเดซิเวียร์ ก็ยังคงใช้รักษาโรคดังกล่าวอย่างได้ผล
ในส่วนของการฉีดวัคซีน ถึงแม้จะมีเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่เหตุผลที่วัคซีนยังใช้ได้ดีนั้นเพราะเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการฉีดวัคซีนจะมีอยู่ 2 รูปแบบ แบบแรกคือภูมิต้านทานทั่วไปที่เรียกกันว่าแอนติบอดี ที่จะเป็นตัวจับโปรตีนหนามที่อยู่ในไวรัส เมื่อมีการกลายพันธุ์ของไวรัส แอนติบอดีชนิดนี้อาจจะทำหน้าที่ได้ไม่ดีเช่นเดิม แต่ยังมีภูมิต้านทานอีกชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า T Cell ภูมิชนิดนี้จะมีความสามารถในการจดจำเชื้อไวรัสได้ จึงยังทำหน้าที่ได้อยู่ ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรง และป้องกันอาการที่จะตกค้างและแสดงออกมาภายหลัง ที่เรียกว่า Long COVID ได้ด้วยโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นอาการเหนื่อย ไอเรื้อรัง อ่อนเพลีย กลายเป็นเบาหวาน โรคหัวใจกำเริบ ลิ่มเลือดอุดตัน
แต่ที่มีการพูดจนทำให้เกิดเป็นประเด็น เป็นข่าวทางสื่อออนไลน์จนเกิดความเข้าใจผิดและหวั่นวิตก ก็คือการที่บอกว่าวัคซีนทำให้เกิดเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน มีอาการอัมพฤกษ์ แขนขาอ่อนแรง ที่เรียกว่า Stroke หรือทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้ ซึ่งทางกลุ่ม CDC หรือคณะกรรมการป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้ติดตามศึกษาเรื่องนี้ในกลุ่มศึกษาจำนวนมากพอสมควร และกลับพบว่าในกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนนั้นจำนวนผู้เป็น Stroke ลดลงและหากเป็นก็มีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งตรงข้ามกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนซึ่งมีจำนวนมากกว่าและมีอาการรุนแรงกว่าด้วย
และนอกจากนี้ยังพบว่า จากการที่เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวจึงทำให้มีการระบาดของไวรัสชนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ทำให้ต้องมีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมมีข้อมูลว่า ในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดร่วมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ผลปรากฏว่า ประชากรกลุ่มนี้ป่วยเป็น Stroke น้อยกว่ากลุ่มที่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพียงอย่างเดียวทั้งในกลุ่มอายุมากและอายุน้อย ซึ่งแสดงว่าวัคซีนโควิดไม่ได้เป็นสาเหตุของการป่วยเป็น Stroke
ส่วนในเรื่องของการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจภายหลังการฉีดวัคซีนโควิดตามที่มีการกล่าวกันไว้นั้น ก็มีการศึกษาเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ต้องย้อนไปว่าการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังการฉีดวัคซีนนั้นส่วนใหญ่หากเกิดก็จะเกิดในพวกวัยรุ่นผู้ขาย และมักจะเป็นใน 4-5 วันแรกหลังจากฉีดวัคซีน ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาก็หายเป็นปกติได้ ไม่มีอาการรุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด โดยคิดเป็นอัตราประมาณ 1 ใน 10,000 คน ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาก็จะหายโดยไม่มีผลข้างเคียง ทั้งนี้ ได้มีการติดตามอาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นปี ก็ไม่พบความผิดปกติ ส่วนคนไข้กลุ่มที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนี้ ที่ต่อมาได้รับการฉีดวัคซีนโควิดชนิดไบวาเลนท์ เป็นบูสเตอร์ หลังจากเคยมีอาการ 6-7 เดือน ก็ไม่พบว่ามีรายใดเลยที่กลับมามีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบขึ้นอีก
คุณหมอธนีย์ได้ย้ำว่าการฉีดวัคซีนโควิดยังเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อยู่ ถึงแม้จะไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ แต่ก็ป้องกันการเกิดอาการรุนแรงได้อย่างแน่นอน และมีข้อมูลเพิ่มเติมว่าการฉีดต่อเนื่องอาจจะลดโอกาสของการติดเชื้อได้ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป โดยมีข้อแนะนำว่าสำหรับบุคคลทั่วไป ในอนาคตน่าจะฉีดวัคซีนโควิดปีละ1 ครั้ง ส่วนผู้สูงอายุหรือมีโรคเรื้อรังต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบกพร่อง ยังควรจะฉีดปีละ2 ครั้ง หรือหากฉีดเข็มสุดท้ายไปแล้ว และมีการระบาดเกิดขึ้นก็ควรจะฉีดเพิ่มเติม
ในส่วนของการฉีดภูมิต้านทานสำเร็จรูปที่รู้จักกันในนาม LAAB นั้น คุณหมอกล่าวว่า ข้อมูลปัจจุบันก็พบว่าไม่มีประโยชน์ในการป้องกันหรือลดอาการจากการติดเชื้อได้ จึงควรยกเลิกการฉีดวัคซีนสำเร็จรูปชนิดนี้ ส่วนยาที่ใช้เพื่อการรักษานั้นพบว่าฟาวิพิราเวียร์ไม่น่าจะมีประโยชน์ในการรักษา ซึ่งรวมทั้งยาไอเวอร์เมคทินและกลุ่มยาไฮดรอกซี่ควิโนลีนทั้งหลายด้วย
โควิด-19 ยังจะเป็นโรคที่มีอยู่ต่อไป แต่จะไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง โดยเฉพาะหากทุกคนได้รับวัคซีนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
นายแพทย์ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี