การดำรงอยู่มา 70 กว่าปี แล้วมี สส.ระบบบัญชีรายชื่อแค่ 3 คน มีคะแนนพรรคไม่ถึงล้าน บอกสถานการณ์ของพรรคการเมืองเก่าแก่ที่ชื่อ “ประชาธิปัตย์” ได้มาก
“ผู้เลือก” เสื่อมศรัทธา หรือไม่นิยมในอะไร คน? ผลงาน? อุดมการณ์? ความเป็นตัวแทน? จุดยืน?
“พรรคประชาธิปัตย์” เคยเป็นสัญลักษณ์ของ “แนวต้านเผด็จการทหาร” ตามมาด้วย “แนวต้านทุนสามานย์” บัดนี้คุณเป็น “แนวต้าน” หรือ “ป้อมปราการ” ที่ปกป้องเรื่องใด ให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ “เลือกคุณ”
ประชาธิปัตย์เคยเป็น “หัวขบวน” ของ “พรรคประชาธิปไตย” โดดเด่นกว่าพรรคใดๆ ด้วยการมี “หัวหน้า”ที่มาจากการเลือกของคนในพรรค ไม่ใช่จิ้มจาก “คนเป็นเจ้าของ”
คำว่า “ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ” เริ่มสิ้นมนต์ขลัง ในสถานการณ์ที่การช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ชัดเจนถึงการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แตกแยก และเล่นเกม
อนาถ น่าสมเพช น่าสังเวชที่สุด คือสภาพที่เหมือนเข้าไปกอดแข้งกอดขาว่า ช่วยเอาฉันไปร่วมรัฐบาลด้วยได้ไหม เป็นพรรคอะไหล่ให้ก็ได้ พูดให้โก้ก็บอกว่า เป็น “ประกันภัยทางการเมืองให้” พูดอีกมุมก็ต้องบอกว่า ทำตัวเหมือนโสเภณีเงินผ่อน เอาฉันก่อนก็ได้ แล้วค่อยมาเคลียร์ค่าใช้จ่ายกันทีหลัง
คนทั้งประเทศในตอนนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ไม่มีประชาธิปัตย์อยู่ในสายตา จะกัดกันยังไงก็เรื่องของมึงเถอะ ไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อการเมืองไทยขณะนี้เลย กลุ่มที่สองคือกลุ่มสนุกดี เหมือนดูกีฬาวัวชน ดูเพลินๆดูความฉิบหาย และกลุ่มที่สามคือ กลุ่มที่ยังรัก ยังเสียดาย ยังอยากให้เป็นหลักทางการเมือง เป็นตัวเลือกหนึ่งของบ้านเมืองต่อไป
ในความเละเทะ ถึงขั้น “มติพรรค” ไม่มีความหมายสส.จำนวนหนึ่ง “แหกมติ” โหวตเห็นชอบให้นายเศรษฐาทวีสิน จากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ โดยไม่สะทกสะท้านไม่แคร์ ทั้งๆ ที่นั่นเคยเป็น “จุดแข็ง” ของพรรคประชาธิปไตยหมายเลข 1 พร้อมๆ กับข่าวลับข่าวลือ ที่สื่อรายงานอย่างเป็นทางการว่า
“...วันที่ 22 สิงหาคม 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการลงคะแนนเห็นชอบนายเศรษฐา ทวีสิน ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อนหน้าที่ที่ประชุมสส.พรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติให้สมาชิกงดออกเสียง แต่ปรากฏว่า มี สส.พรรคลงคะแนนเสียงแตก โดยมี เพียง 6 คนที่ลงคะแนนงดออกเสียงตามมติพรรค ประกอบด้วยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายสรรเพชร บุญญามณี น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ นายร่มธรรม ขำนุรักษ์นายสมยศ พลายด้วง นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สส.ที่โหวตไม่เห็นชอบ 2 คน คือ นายชวน หลีกภัย และ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน
ส่วน สส.อีก 16 คน ที่พร้อมใจกันโหวตเห็นชอบ ประกอบด้วย นายเดชอิศม์ ขาวทอง นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทองนางสาวสุภาพร กำเนิดผล นายกาญจน์ ตั้งปอง นายชัยชนะเดชเดโช พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ นางอวยพรศรี เชาวลิต นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ นางสุพัชรี ธรรมเพชร นายยูนัยดี วาบา นายชาตรี หล้าพรหม นายทรงศักดิ์ มุสิกอง นายสมบัติ ยะสินธุ์ นายวุฒิพงษ์ นามบุตร นายพิทักษ์เดช เดชเดโช และว่าที่ร้อยโทยุทธการ รัตนมาศ ขณะที่นายราชิต สุดพุ่ม ได้แจ้งลาประชุม เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่จะมีการโหวต แกนนำกลุ่ม คือ นายเดชอิศม์กับนายชัยชนะ ได้หารือกับแกนนำพรรคเพื่อไทย คือ นายภูมิธรรม เวชยชัย ว่า เสียงยังก้ำกึ่ง พวกตนพร้อมจะโหวตเติมให้ แต่ต้องได้ร่วมรัฐบาล ดังนั้นทางกลุ่มที่โหวตสวนมติพรรคจึงไม่ได้แสดงตนในที่ประชุม แต่กลับนั่งรวมตัวกันข้างนอก จนเมื่อทราบว่าผลการโหวตเสียงเกิน 375 เสียงที่โหวตให้นายเศรษฐาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เสียงสนับสนุนทั้งสองสภา 482 เสียง ก็ได้มีการพูดคุยกันกับแกนนำพรรคเพื่อไทยว่าจะยังโหวตเห็นชอบ โดยขอเป็นอะไหล่ในกรณีที่พรรคภูมิใจไทยต้องการเจรจาต่อรองขอกระทรวงเกรดเอจากพรรคเพื่อไทย หากพรรคภูมิใจไทยไม่ได้ และถอนตัว 71 เสียงออกไป ก็จะเหลือ 411 เสียง หากบวกกับทางกลุ่มของตนซึ่งมี 16 เสียง ก็จะได้ 427 เสียง เสริมความแข็งแกร่งของรัฐบาลได้โดยไม่ต้องพึ่งพรรคภูมิใจไทย โดยทางกลุ่มของตนก็จะพร้อมเสียบทันที จนเป็นที่มาของการโหวตสวนมติพรรคประชาธิปัตย์ดังกล่าว ทั้งที่ พล.ต.ต.สุรินทร์ เป็นผู้กล่าวในที่ประชุมเองว่าการโหวตครั้งนี้ สส.พรรคโหวตได้แค่ 2 อย่าง คือ งดออกเสียง หรือไม่เห็นชอบ” (ที่มา : แนวหน้าออนไลน์)
1) 23 สิงหาคม 2566 พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา กล่าวว่า เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้ ส่วนสส.พรรคประชาธิปัตย์อีก 15 คนที่โหวตเห็นชอบรวดเดียวช่วงท้ายสุด ตนไม่ทราบ แต่ย้ำว่า เราทำเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้
2) สังคมได้แต่ยิ้มเยาะกับคำว่า “เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้” เพราะเขา “ไม่เห็นว่าบ้านเมืองติดขัดอะไร”เสียงโหวตนายกฯ เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาแล้ว จะมีนายกฯ จะมีรัฐบาลแล้ว และเป็นรัฐบาลที่มีเสียงมากถึง 314 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรไปตั้ง64 เสียง อะไรคือคำว่า “เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้”ในเมื่อบ้านเมืองได้เดินไปแล้ว แต่มีคน 16 คน “กระโดดเกาะ” ชัดๆ ไม่ได้ช่วยผลักช่วยดันอะไรเลยต่อให้วันนั้น ภูมิใจไทยไม่โหวตเศรษฐา เขาก็ยังได้รับเสียงเห็นชอบ 411 เสียง เกินกึ่งหนึ่งไปเยอะแล้ว 16 เสียงจากประชาธิปัตย์ที่โหวตเสริม (โหวตตอนท้ายที่รู้แล้วว่าเสียงเกินกึ่งหนึ่งไปแล้วอีกต่างหาก) รวมถึง 1 เสียงของพล.ต.ต.สุรินทร์ ด้วย จึงไม่ใช่ “เสียงที่แก้ปัญหาให้บ้านเมือง” แต่ถูกมองว่าเป็น “เสียงปรสิต” ที่อยากเข้าร่วมรัฐบาลจนตัวสั่น ทั้งๆ ที่เขาไม่เชิญ ไม่ชวน
3) วันที่ 23 สิงหาคม 2566 นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช ให้สัมภาษณ์ว่า เราโหวตเห็นชอบเพราะไม่ใช่กลัวตกขบวนหรือร่วมขบวน แต่การประชุมพรรค เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา จากการหารือมี 3 ความเห็น คือ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียงสรุปว่าให้งดออกเสียง หลังจากนั้นในการประชุมรัฐสภา ตนกับเพื่อน สส.ได้นั่งฟังการอภิปราย รับฟังข้อมูลจากสมาชิกรัฐสภา เรื่องข้อสงสัยในตัวนายเศรษฐา คิดว่าไม่มีน้ำหนักในการเข้าสู่การดำรงตำแหน่งนายกฯ และจากการลงพื้นที่พบปะประชาชนมีการสอบถามความเห็น เขาอยากหาทางออกให้ประเทศ โดยบอกว่าถ้าเป็นนายเศรษฐา ซึ่งไม่มีแนวคิดล้มล้างหรือแก้ไข มาตรา 112ก็ต้องยกให้เขา ซึ่งพรรคเพื่อไทย มีจุดยืนชัดเจนที่จะไม่แก้ไข ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแก้ไขเพื่อประโยชน์ประชาชน และเพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งการเลือกตั้งล่วงเลยมาถึง 90 วันแล้ว แต่เรายังไม่มีนายกฯประเทศจึงต้องหาทางออกให้ได้ วันนี้งบ 67 ยังไม่มีการประชุมเพื่อพิจารณา ขณะที่งบ 68 กำลังจะมาถึงรัฐบาลรักษาการก็มีกรอบอำนาจหน้าที่ที่กำหนด ทำให้สส.พรรค 16 คน ที่โหวตก็หารือกัน หลายคนมีแนวคิดแบบนี้ จึงตัดสินใจชั่วโมงสุดท้ายว่าจะ โหวตให้นายเศรษฐาเป็นนายกฯ
4) ก็เช่นเดียวกัน ที่คนฟังฟังแล้วมีคำถามว่า “แล้วประเทศไทยมันถึงทางตันตรงไหน” ในเมื่อพรรคเพื่อไทยกับนายเศรษฐาเขาได้เสียงหนุนเกินแล้ว ประเทศไทยเดินหน้าแล้ว จะมีนายกฯ แล้ว จะมีรัฐบาลแล้วส่วนเวลาที่มันล่วงเลยมา มันเป็นปัญหาที่ สส.และ สว. ไม่มีมติเห็นชอบที่จะให้ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งคนทั่วไปเขาเข้าใจว่าเพราะอะไร ทุกอย่างเดินมาโดยลำดับ ไม่ได้ตีบตัน ถ้าโหวตศรษฐาแล้วยังไม่ได้อีกนั่นต่างหากจึงจะเริ่มเข้าสู่คำว่า “ต้องหาทางให้ บ้านเมืองได้ไปต่อ” ซึ่งสมัยที่ผ่านมานั้น ที่ร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น พอจะอ้างคำนี้ได้ แต่ครั้งนี้สังคมเขาถามว่า “ทางตันของประเทศ” ที่คุณว่า มันอยู่ตรงไหน หรือมันเป็นแค่ “ทางตันทิพย์”
5) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ถือว่าจะทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้าน เพื่อตรวจสอบรัฐบาลแทนประชาชนให้เต็มกำลังความสามารถต่อไป ยืนยันคำเดิมว่า ไม่เคยมอบหมายผู้ใดเป็นตัวแทนให้ไปเจรจาตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองใด ซึ่งก็รวมถึงพรรคเพื่อไทยด้วย
“ฝ่ายค้านแต่ละพรรคก็มีจุดยืนของตัวเอง แต่หน้าที่หลักก็คือการตรวจสอบรัฐบาลแทนประชาชนเหมือนกันเพียงแต่ว่ารายละเอียดจุดยืนอะไรที่ต่างกันก็ต้องต่างกันอันนั้นเป็นเรื่องที่ตนเข้าใจว่าประชาชนเข้าใจได้ จะให้ประชาธิปัตย์เหมือนก้าวไกลร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นก็ไม่ใช่ เป็นไปไม่ได้ เพราะจริงๆ บางเรื่องก็อาจจะไม่ตรงกัน แต่มีหน้าที่ตรงกันคือ ตรวจสอบรัฐบาลแทนประชาชน” นายจุรินทร์กล่าว
6) นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนขอเรียนว่า การประชุม สส.ของพรรคเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ตนต้องนั่งรถมาจากจังหวัดตรังตอน 04.00 น. เพื่อให้ทันการประชุมเวลา 14.30 น. เพราะตนไม่อยากให้ขัดต่อมติพรรค เนื่องจากนายเดชอิศม์ขาวทอง สส.สงขลา รักษาการรองหัวหน้าพรรคฯดูแลภาคใต้ พูดไว้ก่อนแล้วว่าถ้าใครขัดมติพรรคให้ลาออกตนไม่อยากลาออก และในที่ประชุมบรรยากาศก็ดี พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา เป็นคนแรกที่แจ้งต่อที่ประชุมว่า ประชาธิปัตย์ไม่ได้ร่วมรัฐบาล ดังนั้นต้องลงมติไม่รับ ประเด็นจึงมาพูดกันว่า วิธีลงมติไม่รับนั้น จะใช้วิธีงดออกเสียงหรือใช้วิธีอย่างไร ไม่ได้พูดเรื่องอื่น มีบางคนพูดเหมือนกันว่าอยากเป็นรัฐบาล แต่ก็ไม่เป็นประเด็น แต่ประเด็นหลักคือใช้วิธีงดออกเสียงหรืออย่างไร ซึ่งนายจุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคฯเป็นคนบอกที่ประชุมว่า ในระบอบประชาธิปไตยเมื่อมีรัฐบาลก็ต้องมีฝ่ายค้านดังนั้นเมื่อเราไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน
“สำหรับผมส่วนตัว ขออนุญาตที่ประชุมว่าขอลงมติไม่รับ คนอื่นไม่เกี่ยว ผมให้เหตุผลว่าเพราะผมสู้กับนักการเมือง เหล่านี้ตั้งแต่ไทยรักไทย เพื่อไทย มาในเรื่องที่มีการเลือกปฏิบัติต่อภาคใต้ และจังหวัดที่ไม่เลือก เขาพัฒนาเฉพาะจังหวัดที่เลือกพรรคไทยรักไทย จังหวัดอื่นไว้ทีหลัง ซึ่งมีผลกระทบมาก รวมถึงปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งผมบอกว่าเราสู้เรื่องนี้และบอกกับประชาชนว่าอย่าเลือกพรรคนี้เพราะเขาแกล้งเรา เขาเลือกปฏิบัติกับเรา ซึ่งชาวภาคใต้ส่วนหนึ่งเขาปฏิบัติตามที่ผมแนะนำคือไม่เลือก ดังนั้น ในส่วนตัวผมคิดว่าเราทำขนาดนี้แล้วและประชาชนได้กรุณาปฏิบัติตามที่เราแนะนำ ถ้าเราจะทำอะไรก็ตามอันเป็นลักษณะที่ไปสนับสนุนพรรคนี้เท่ากับเราทรยศคนภาคใต้ ผมจึงบอกว่าสำหรับผมขออนุญาตไม่รับเพราะไม่ต้องการทรยศคนภาคใต้ และได้คะแนนเข้ามาเป็นสส.ตลอดชีวิต 50 กว่าปีเขาเลือกมาโดยไม่ต้องใช้เงินซื้อเสียงสักบาท เป็นบุญคุณที่ใช้ไม่หมดในชีวิต”
นายชวนกล่าวต่อว่า เมื่อตนบอกว่าขอลงมติไม่เห็นด้วย ซึ่งที่ประชุมไม่ได้ขัดข้อง นายจุรินทร์ จึงได้เสนอว่าไม่ลงมติได้หรือไม่ หมายถึงไม่ต้องลงมติงดออกเสียง หรือลงมติด้วยวิธีอื่น แต่ที่ประชุมก็บอกให้ลงมติ ในที่สุดก็บอกว่าสำหรับคนอื่นก็ให้ลงมติงดออกเสียงนี่คือที่มานี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่อยากให้ใครไปบิดเบือน
ครั้งนี้สส.บัญชีรายชื่อได้เพียง 3 คน เพราะคนให้คะแนนแค่ 9 แสนกว่าคะแน นจาก 10 กว่าล้าน หรือหลายล้านในอดีต แต่คะแนน 9 แสนกว่าคะแนนคือคะแนนบริสุทธิ์ยุติธรรมที่ได้มาจริงๆ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องตอบแทนประชาชน พรรคจะเหลือเท่าไหร่ก็ไม่รู้ แต่ไม่เป็นไร มีกี่คน ตนก็อยู่ เว้นแต่ตนถูกขับ ตนเป็นสส.มา 17 สมัย มาในระบบยุคก่อน คือไม่ได้ใช้เงิน ไม่ซื้อเสียง ไม่โกงเลือกตั้ง นี่คือหัวใจของประชาธิปไตยที่แท้จริง ตนก็อยากเห็นการเมืองรูปแบบนี้ แต่ช่วงหลังต้องยอมรับว่าเราแพ้ อาจจะใช้คำว่าแพ้มากที่สุดครั้งหนึ่ง อย่างที่ไม่เคยได้อย่างนี้แค่ 25 เสียง อย่างดีก็ 30 เสียง ซึ่งตนบอกหัวหน้าพรรคฯว่าไม่โทษใคร เพราะพวกเราเป็นคนเลือกหัวหน้าพรรคฯ เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดนี้เอง แต่ต้องมาทบทวนว่าจะฟื้นพรรคฯได้อย่างไรนี่คือความหวังดีของคนในพรรคฯ ที่ว่า ไม่ควรจะไปร่วมรัฐบาล ควรจะหันมาทบทวนความพ่ายแพ้และฟื้นพรรคมาใหม่ให้แข็งแกร่งขึ้น
“เราก็หวังว่าคนรุ่นใหม่จะหันมาทำงานเพราะเที่ยวนี้ระบบพรรคเราแพ้หมด เราต้องยอมรับความเป็นจริงและหันมาสร้างพรรคกันใหม่ ทุกฝ่ายมีความหมาย ทุกคนในพรรคมีคุณค่า ใช้ความหมายนั้นให้เป็นประโยชน์ อยากให้พรรครักษาผลกระทบ เกียรติภูมิชื่อเสียงพรรค การบอกว่าเป็นพรรคอะไหล่ คิดดูก็แล้วกัน คนในพรรคที่เป็นกำลังสำคัญทั่วประเทศจะรู้สึกอย่างไร
“ในวันประชุมก็มีการพูดว่าทำไมตอนโหวตพรรคก้าวไกลถึงงดออกเสียง ผมเป็นคนหนึ่งที่บอกว่าตอนพรรคก้าวไกล ไม่ได้มีการประกาศว่าไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์ แต่ตอนนี้นายเศรษฐา ประกาศด้วยตัวเองว่าไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเหตุผลที่ตามมาว่าเขาเองก็ไม่ได้อยากได้เรา เรามีเสียงเท่านี้ 25 เสียง ต้องมาตั้งหลักเพื่อฟื้น และผมได้บอกนายจุรินทร์ ว่านี่คือโอกาสที่จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเข้มแข็ง” นายชวน กล่าว
สรุป : ขณะนี้ พรรคประชาธิปัตย์ และความแตกแยกที่ไม่ปิดบังสังคมนั้น เป็นเรื่องที่คนเขาเวทนา รู้สึกไร้ค่า และไม่ฝากความหวัง
ในเมื่อประเทศมีนายกฯ แล้ว และกำลังจะมีรัฐบาล งานของประชาธิปัตย์ตอนนี้ จึงอยู่ที่จะฟื้นฟูพรรคอย่างไรให้คนรู้สึกว่า “ยังเป็นตัวเลือก” ยังเป็น “ความหวัง” ยังเป็น “เครื่องมือหนึ่งที่ขาดไม่ได้”
ถ้าจะทำเพื่อชาติ ทำให้ดีที่สุดในบทบาทและสถานะของตัวเอง วางความต้องการของตัวเองลงซะ แล้วเอา “ความต้องการของประเทศชาติ” มาเป็นจุดหมาย
แต่ถ้าจะทำเพื่อตัวเอง ก็ทำไปตามที่ต้องการต่อไป
เพียงแค่อยากให้ทราบว่า อนาคต ประเทศไทย “ไม่มีพรรคประชาธิปัตย์” ก็ไม่เห็นเป็นไร คือ ทรรศนะของคนในเวลานี้ !!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี