ใครจะคิดว่า “คุณชายสะอาด” พูดน้อยๆ ทำงานนิ่งๆ อย่าง “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” จะมีเรื่องรุมเร้าหนักกว่าใครในเวลานี้ ตั้งแต่ถูกรุกไล่ให้ตอบว่า มีจุดยืนอย่างไรเรื่อง “กาสิโน” ตามมาด้วยเรื่อง “ถุงบริจาค” ที่เอาของรัฐวิสาหกิจมาแปะสติ๊กเกอร์ตัวเอง ซึ่ง ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ออกมาเคลียร์ให้แล้วอย่างชัดเจน
ล่าสุด เจอเรื่องร้องเรียนจาก นายอรรทิตย์ฌาณ คูหาเรืองรอง เข้าอีกเรื่อง
โดยนายอรรทิตย์ฌาณ ยื่นหนังสือถึงนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เรื่อง “ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมและบทบาทของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่ามีเกี่ยวข้องกับการส่งเสริม และสนับสนุนในการสร้างด้อมพีระพันธุ์ หรือด้อมพัง (ชื่อกลุ่มแฟนคลับ) หรือไม่”
โดยนายอรรทิตย์ฌาณ กล่าวว่า เนื่องจากด้อมดังกล่าวมีพฤติกรรมในการล่วงละเมิดหรือล่วงเกิน คุกคามผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยมีการถ่ายทอดสดหรือผลิตวีดีโอที่บิดเบือนข้อมูลด่าทอ ใช้ข้อความที่หยาบคาย รวมถึงการบูลลี่เด็กพิเศษด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการคุกคาม เรื่องของสิทธิเสรีภาพของคนที่มีความเห็นต่าง ผ่านทางแอปพลิเคชั่นติ๊กต็อกและ
เฟซบุ๊กโดยการคุกคามดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อแอปพลิเคชั่นติ๊กต็อกและเฟซบุ๊ก โดยพฤติกรรมที่คิดว่านายพีระพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างกลุ่มแฟนคลับหรือไม่นั้น เป็นเพราะนายพีระพันธุ์ได้ใส่เสื้อพัง ซึ่งเป็นเสื้อที่ทางพรรคไปทำเสื้อ โดยวันนี้ที่มายื่นหนังสือ เพราะมีหลักฐานที่แฟนคลับไปช่วยกันแพ็กเสื้อพัง รวมถึงปฏิทินของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งภาพที่ปรากฏคาดว่าสถานที่นั้น เป็นสถานที่ราชการ คือ บ้านพิบูลธรรมซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับนายพีระพันธุ์
“ไม่แน่ใจว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ สนับสนุนให้มีการส่งเสริมหรือสนับสนุน ให้มีการจัดกิจกรรม การพบปะของด้อมพีระพันธุ์หรือไม่ โดยหลักฐานที่เรานำมายื่น ประกอบด้วย โดยครั้งแรกจะเป็นการเปิดตัวด้อมพีระพันธุ์ ตั้งแต่ช่วงเม.ย.ปี’67 หลังจากนั้นจะมีการจัดงานเสวนาอีก 2 ครั้งที่สามย่านมิตรทาวน์ และล่าสุดคือเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมด้อมพีระพันธุ์ อีกครั้ง แต่ทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรมนายพีระพันธุ์ จะไปร่วมด้วย และในวันที่ 20 เม.ย. นายพีระพันธุ์มีการพูดในประเด็นที่ทำให้เกิดการโต้แย้งกันในสังคมถึงการทำงานของนายพีระพันธุ์ ทั้งนี้ ในหลักฐานที่ผมนำมายื่นจะมีเรื่องของคลิปเสียง คลิปวีดีโอของนายพีระพันธุ์ ที่เปรียบเปรยประชาชนที่ไม่ได้สนับสนุนตัวเอง เป็นในกลุ่มโคลนตม ไม่ใช่หน้าที่ที่จะต้องมุดลงไป กระชากคนเหล่านั้นขึ้นมา ทำให้ผมตั้งข้อสังเกตว่าพฤติกรรมต่างๆ ของนายพีระพันธุ์ อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับด้อมพีระพันธุ์หรือไม่แน่ใจว่าสนับสนุนหรือส่งเสริมด้วยหรือไม่
จึงอยากให้นายภราดร ช่วยตรวจสอบพฤติกรรมต่างๆ หากนายพีระพันธุ์ มีส่วนเกี่ยวข้อง ผมไม่แน่ใจว่าจะผิด รัฐธรรมนูญ ในหมวด 8 มาตรา 164 วรรค 4 ด้วยหรือไม่ รวมถึงอาจจะต้องมีการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมด้วยว่าเข้าขั้นร้ายแรงหรือไม่” นายอรรทิตย์ฌาณ กล่าว
แต่เรื่องที่ “ร้ายแรงยิ่งกว่า” คือ การร้องเรียนของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
“เรืองไกร” ยื่นให้ กกต. ตรวจสอบนายพีระพันธุ์ ดังนี้...
ข้อ 1. รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) และ มาตรา 187 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “มาตรา 170 ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ (5) กระทำการอันเป็นการต้องห้าม ตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187”
“มาตรา 187 รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ และต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด”
ข้อ 2. “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2567 มาจนถึงปัจจุบัน ในรัฐบาลที่มี “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี
ข้อ 3. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้ทำสัญญาจัดการหุ้นส่วน หรือหุ้นของรัฐมนตรี ไว้กับ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) รวมจำนวน 4 บริษัท คือ หุ้นบริษัท วีพี แอโร่เทค จำกัด จำนวน 588,500 หุ้น หุ้นบริษัท พี แอนด์ เอส แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จำนวน 46,500 หุ้น หุ้นบริษัท รพีโสภาค จำกัด จำนวน 22,000 หุ้น หุ้นบริษัท โสภา คอลเล็คชั่นส์ จำกัด จำนวน 1,000 หุ้น
ข้อ 4. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 จากการขอข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในช่วงระหว่างดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงพลังงาน ยังคงเป็นกรรมการอยู่ 3 บริษัท ก่อนที่จะมีการลาออกในภายหลัง จำนวน 2 บริษัท ดังนี้
- เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2567 บริษัท โสภา คอลเล็คชั่นส์ จำกัด ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนว่า มีกรรมการออก 2 คน คือ (1) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (2) นางสาว...
- เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2567 บริษัท วีพี แอโร่เทค จำกัด ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนว่า มีกรรมการออก 3 คน คือ (1) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (2) นางสาว...(3) นางสาว... (โดยมีข้อสังเกตว่า พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการผู้ขอจดทะเบียนตามแบบ บอจ.1 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 และมีแบบ บอจ.4 แนบด้วย)
- เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ออกหนังสือรับรองว่า บริษัท รพีโสภาค จำกัด ยังมีกรรมการอยู่ 2 คน คือ (1) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (2) นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค โดยระบุว่า จำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทได้ คือ กรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อ และประทับตราสำคัญของบริษัท
ข้อ 5. จากเอกสารของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อาจเห็นได้ว่า หลังจากที่ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2567 นั้น “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ยังคงเป็นกรรมการบริษัท ทั้ง 3 แห่งอยู่ หลังจากเป็นรัฐมนตรีแล้ว ทั้งนี้เห็นได้จากการจดแจ้งชื่อ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ออกจากกรรมการบริษัท โสภา คอลเล็คชั่นส์ จำกัด และบริษัท วีพี แอโร่เทค จำกัด ตามคำขอ ลงวันที่ 30 ต.ค. 2567 และตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2568 ก็ยังรับรองว่า บริษัท รพีโสภาค จำกัด ยังคงมีกรรมการอยู่ 2 คน คือ (1) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (2) นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค
ข้อ 6. จากการย้อนไปดูบัญชีทรัพย์สินฯของ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 พีระพันธุ์ ได้แจ้งว่า มารดาชื่อ นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค โดยไม่ได้ระบุอายุ ไม่ได้ระบุอาชีพ และทำเครื่องหมายขีดไว้ในช่อง ตาย ไว้ด้วย
แต่ตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2568 ยังปรากฏชื่อ นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค เป็นกรรมการของ บริษัท รพีโสภาค จำกัด อยู่ด้วย จึงมีเหตุอันควรสงสัย และควรตรวจสอบเพิ่มเติม ว่า นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค ที่เคยแจ้งว่า ตาย แล้ว กับนางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค ที่เป็นกรรมการของบริษัท รพีโสภาค จำกัด อยู่เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2568 เป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ !?
ข้อ 7. จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและ จาก ป.ป.ช. จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ตรวจสอบเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและมีคำพิพากษาว่า กรณีที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เคยเป็นหรือยังคงเป็นกรรมการทั้ง 3 บริษัทข้างต้น ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หลังจากวันที่ 3 กันยายน 2567 นั้น จะเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 และเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) หรือไม่
ข้อ 8. ทั้งนี้ ขอให้นำข้อมูลการลาออกจากกรรมการบริษัทต่างๆ ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2567 ที่ได้แจ้งต่อป.ป.ช. ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ประกอบกับหนังสือที่ นร 0503/ว(ร) 157 ลงวันที่ 5 เมษายน 2560 มาประกอบการพิจารณาด้วย
จากปมร้อนนี้ มีคำถามว่า “พีระพันธุ์” จะชี้แจงอย่างไร ในขณะที่ผลงานก็นิ่งๆ เขายังจะได้ไปต่อหรือต้องเรียก “กลุ่มพัง” มาเก็บฉาก จาก “พีระพันธุ์” เป็น “พีระพัง” ดังแคมเปญ !
จิตกร บุษบา
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี