ภายหลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศเรื่อง “พระราชทานอภัยลดโทษ” ให้แก่นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร จากโทษจำคุก 8 ปี ให้รับโทษเพียง
1 ปีนั้น ผมได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า
“สิ่งสำคัญที่สุด คือ 1 ปีหลังจากนี้ ราชทัณฑ์ ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะต้อง “บังคับโทษ” จำคุก๑ปี นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร อย่างจริงจัง เป็นที่ประจักษ์ ทั้งการแต่งกายทรงผม การกินอยู่ เยี่ยงนักโทษ ตามโทษ มิใช่เยี่ยง “บุคคลสำคัญ” หรือ “อภิสิทธิ์ชน” ครอบครัวต้องรู้จัก “สำรวมวาจา” เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อแสดงความสำนึกผิด เคารพต่อความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศ และเป็นธรรมต่อสิทธิผู้ต้องขังรายอื่นๆ ด้วย”
1) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก “Prinya Thaewanarumitkul” หัวข้อ ทักษิณต้อง #ติดคุกจริงๆ
หรือไม่ โดยระบุรายละเอียดว่า ตามที่คุณทักษิณ ชินวัตร ได้รับการพระราชทานอภัยโทษลดโทษจำคุกจาก 8 ปี เหลือ 1 ปีนั้น มีคำถามว่าคุณทักษิณ ซึ่งขณะนี้ได้รับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ จะอยู่นอกเรือนจำไปเรื่อยๆ จนเวลาครบ 1 ปีได้หรือไม่?
คำตอบของเรื่องนี้อยู่ที่ กฎกระทรวงยุติธรรม เรื่อง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ซึ่งลงนามโดยคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในขณะนั้นครับ
หลักเกณฑ์โดยสรุปคือ ถ้าผู้ต้องขังมีอาการป่วยโดยสถานรักษาพยาบาลของเรือนจำไม่สามารถรักษาได้ ผู้บังคับบัญชาเรือนจำ มีอำนาจอนุญาตให้ส่งตัวไปรับการรักษานอกเรือนจำได้ และถ้าจำเป็นจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนก็ได้
อย่างไรก็ตามหากการรักษานอกเรือนจำมีระยะเวลานาน กฎกระทรวงข้อ 7 กำหนดว่า
• หากเกิน 30 วัน นอกจากต้องมีความเห็นจากแพทย์ผู้ทำการรักษา และต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์
• หากเกิน 60 วัน นอกจากอธิบดีต้องให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องรายงานให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมทราบ
• หากเกิน 120 วัน ต้องรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทราบ
ถามว่าเกิน 120 วันจะเป็นอย่างไร? คำตอบคือ กฎกระทรวงฉบับนี้เขียนไว้เพียงแค่นั้น หมายความว่าจะเกิน 120 วันหรือ 4 เดือน ไปถึง 6 เดือน หรือ 1 ปี ก็ได้ แต่ต้องเป็นความเห็นของแพทย์ ว่า อาการป่วยยังจำเป็นต้องได้รับการรักษานอกเรือนจำ และได้รับความเห็นชอบจากอธิบดี และแจ้งปลัดกระทรวงกรณีเกิน 60 วัน และแจ้งรัฐมนตรีกรณีเกิน 120 วัน
โดยสรุปคือตราบใดที่คุณทักษิณยังป่วยถึงขนาดโรงพยาบาลของเรือนจำยังรักษาไม่ได้ ก็ยังรักษาตัวข้างนอกได้ แต่ถ้าหายแล้ว ก็ต้องกลับมาต้องขังในเรือนจำ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเห็นแพทย์ และการให้ความเห็นชอบของอธิบดีในกรณีเกิน 30 วันดังที่ได้กล่าวไปครับ
ความจริงแล้วเป็นเรื่องถูกต้องที่ผู้ต้องขังที่ป่วยควรสามารถไปรับการรักษาพยาบาลนอกเรือนจำได้ถ้าโรงพยาบาลของเรือนจำรักษาไม่ได้หรือไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่รักษาได้
แต่เนื่องจากกรณีนี้ อาจจะมีคำถามและข้อสงสัยกันมาก ว่า ป่วยถึงขนาดต้องรักษานอกเรือนจำจริง หรือเป็นเรื่องของ “ดีล” หรือไม่ ดังนั้น หากครบ 30 วันแล้ว (ซึ่งจะครบ 30 วันในวันที่ 21 กันยายน) แพทย์ผู้ทำการรักษาเห็นว่ายังต้องรับการรักษานอกเรือนจำต่อไป อธิบดีกรมราชทัณฑ์ซึ่งจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบก็ควรต้องมีการแถลงต่อสาธารณชน และตอบคำถาม เพื่อไม่ให้สังคมสงสัย ว่าเป็นเรื่องอภิสิทธิ์ หรือการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมอย่างที่ผู้คนรู้สึกกัน แล้วหากจะต้องรักษาเกิน 60 วัน ปลัดกระทรวงยุติธรรมก็ต้องแถลง และหากจะเกิน 120 วัน รัฐมนตรีก็ต้องเป็นผู้แถลง
เรื่องนี้ต้องทำให้เป็นการปฏิบัติที่โปร่งใสและเสมอภาค ผู้ต้องขังไม่ว่าใครจะยากดีมีหรือจน หากป่วยแล้วโรงพยาบาลราชทัณฑ์รักษาไม่ได้ก็พึงได้สิทธิและโอกาสในการออกมารักษาตัวนอกเรือนจำเช่นเดียวกัน และอยู่ภายใต้หลักว่าถ้าหายป่วยแล้วก็ต้องกลับไปเข้าเรือนจำ หากไม่ทำดังที่ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่และกระทบรัฐบาลแน่นอนครับ
2) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ย. 2566 มีการอ้างถึง “แหล่งข่าวระดับสูงของกระทรวงยุติธรรม” ระบุว่า
นายทักษิณเป็นผู้ต้องขังสูงวัย และมีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังถึง 4 โรค ประกอบด้วย โรคหัวใจ ปัญหาทางปอด ความดันโลหิตสูง และภาวะกระดูกเสื่อม อาจเข้าเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎกระทรวงแห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ที่ต้องรับโทษอย่างน้อย 1 ใน 3 ซึ่งหากนายทักษิณผ่านหลักเกณฑ์ ก็จะเหลือโทษ 1 ใน 3 ของ 1 ปี และหากได้รับการพักการลงโทษ ก็จะเป็นไปตามขั้นตอนคือ กรมราชทัณฑ์นำตัวไปรายงานต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติภายใน 3 วัน เพื่อกำหนดนัดหมายวันเวลาสำหรับการรายงานตัวรายเดือน
แหล่งข่าวยังกล่าวถึงการติดหรือไม่ได้ติดกำไลอีเอ็ม ว่า ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานคุมประพฤติ แต่ในกรณีของนายทักษิณ เป็นผู้ต้องขังสูงวัยที่ป่วยรุมเร้าด้วย 4 โรคเรื้อรัง และยังเคยดำรงตำแหน่งนายกฯสำนึกในการกระทำความผิด เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงเป็นไปได้ว่าจะไม่เข้าข่ายต้องติดกำไลอีเอ็ม แต่อาจพ่วงเงื่อนไขไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับงานการเมืองใดๆ
“ความเป็นไปได้ที่นายทักษิณจะพ้นโทษและได้รับการปล่อยตัวทันที คือ กรณีมีพระราชกฤษฎีกาประกาศลงราชกิจจานุเบกษา โดยพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ในวาระโอกาสสำคัญ เช่น วันที่ 13 ต.ค. หรือวันที่ 5 ธ.ค. เป็นต้น ซึ่งจะต้องดูรายละเอียดแนบท้ายด้วย ว่า มีสาระเนื้อหาการยกเว้นอื่นใดหรือไม่
แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของพระราชอำนาจ”
3) โดยส่วนตัวผมคลางแคลงใจมาก เรื่อง“เคยดำรงตำแหน่งนายกฯ สำนึกในการกระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี” เพราะเขาเอาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปหาประโยชน์ ไปใช้อำนาจโดยมิชอบ การเป็นนายกฯ ของเขา จึงไม่ควรเป็น “ความดีความชอบ” ในทางตรงข้าม กลายเป็น “ความเลวระยำอย่างยิ่งยวด” เพราะตำแหน่งสูง แต่จริยธรรมต่ำจนถึงขั้นไม่มี ความสำนึกในการกระทำผิด คนไทยก็ไม่เคยเห็น มีแต่ยุยงมวลชนว่า “ถูกกลั่นแกล้ง” หนักข้อถึงขั้นเคยกล่าวว่า “อำมาตย์อิจฉา” ด้อยค่ากระบวนการตรวจสอบและกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด ยิ่งคำว่า“เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี”นี่ แทบอยากจะกัดลิ้นฆ่าตัวตาย
4) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เปิดเผยว่า ภายหลังนายทักษิณ ชินวัตร ได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษจาก 8 ปีเหลือเพียง 1 ปีทำให้สังคมไทยให้ความสนใจกับความเคลื่อนไหวของ นายทักษิณหลังจากนี้ โดยเฉพาะการพูดกันอย่างหนาหูเกี่ยวกับการขอพักโทษ ซึ่งหากเป็นจริง สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมแห่งดับเบิลสแตนดาร์ดหรือ 2 มาตรฐานที่น่ารังเกียจที่ชัดเจนที่สุด
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า แม้ช่องทางการพักโทษจะมีอยู่ 2 ช่องทาง ตามขั้นตอน คือ 1. การรับโทษแล้ว 1 ใน 3 ซึ่งก็จะเข้าเงื่อนไขการเป็นนักโทษชั้นดี สามารถปรับขึ้นได้ตามปกติ หรือ ขึ้นเป็นในกรณีพิเศษ ซึ่งหากทำตามนี้ ก็จะไปครบในวันที่ 22 ธ.ค. ก็จะเลยวันที่ 13 ต.ค. เลยวันที่ 5 ธ.ค. ส่วนข้อที่ 2 คือ การพักโทษกรณีพิเศษ เช่น สูงวัยอายุเกิน 70 ปี หรือเป็นป่วยหนักมีโรคประจำตัว ก็อาจจะใช้ช่องทางนี้ แต่ถึงแม้จะใช้ช่องทางใด ก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการใช้อำนาจหรือดุลยพินิจหรือเลือกปฏิบัติโดยใช้กฎกระทรวงที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในสมัยที่นายสมศักดิ์ เทพสุทินเป็น รมว.ยุติธรรม เพราะมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญ 2560
ทั้งนี้ กฎกระทรวง กำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาด ซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ.2562 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2564 ที่ออกตามความ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ดังกล่าว น่าจะมีเจตนาที่จะออกมาเพื่อรองรับ น.ช.ทักษิณ เป็นการเฉพาะ ซึ่งทำให้ผู้ที่ผลักดันกฎกระทรวงดังกล่าวได้รับประโยชน์ถูกแต่งตั้งให้เป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลเศรษฐา 1 ในขณะนี้
ด้วยเหตุดังกล่าว องค์กรรักชาติ รักแผ่นดินจึงได้ทำหนังสือด่วนถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์และ รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการราชทัณฑ์ เพื่อขอให้ทบทวนหรือยกเลิกกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ รวมทั้งหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ.2562 ดังกล่าว ซึ่งอาจมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์เพียงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนักโทษเทวดาบางคนที่ไม่ยอมเข้าคุกจริงๆ ตามคำพิพากษาของศาลซึ่งถือเป็นการออกกฎหมายที่มีลักษณะของการเลือกปฏิบัติหรือไม่
นายศรีสุวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมจำจะต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตามพ.ร.บ.หลักเกณฑ์การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มีผลกระทบอื่นอันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม แก่ประชาชน ญาตินักโทษ และหรือนักโทษอีกหลายแสนคนที่อาจต้องป่วยและถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำอยู่ในขณะนี้ซึ่งในที่สุด นายทักษิณจะต้องไม่ถูกพักโทษไม่ว่ากรณีใดๆ ไม่เช่นนั้นคงต้องพึ่งศาลปกครองต่อไป
สรุป : เมื่อองค์พระประมุขทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแล้ว สิ่งที่นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ครอบครัว และบริวารพึงกระทำ คือ ตอบแทนคุณแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์และสำนึก หยุดใช้อภิสิทธิ์ใดๆ หยุดกล่าววาจาเลวทรามหยามเหยียดทั้งปวง และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ต้องรักษาไว้ซึ่ง “ความโปร่งใสและเที่ยงธรรม” เพื่อให้ความเชื่อถือต่อ “ระบบยุติธรรมและราชทัณฑ์” ของไทยยังได้รับการยอมรับ ทั้งจากคนในชาติและนานาชาติต่อไป!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี