สิ่งสำคัญในการหาคะแนนนิยมการเมืองของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย คือการสร้างภาพ เล่นละคร หรือที่หลายคนเรียกว่า drama เพราะคนไทยจำนวนไม่น้อยชอบให้คนมียศฐาบรรดาศักดิ์สูงๆ ลงไปแสดงบทคลุกคลีกับประชาชนชั้นล่าง ทั้งๆ ที่ในชีวิตจริงนั้น บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีมากๆ ระดับมหาเศรษฐี หรือมาจากตระกูลนายทุนใหญ่ของประเทศ ไม่เคยลงไปคลุกคลีกับคนระดับล่างเลยแม้แต่น้อย แต่น่าประหลาดใจมาก เมื่อได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว คนที่ไม่เคยเดินตลาดนัด ไม่เคยเดินตลาดกลางคืน ไม่เคยเดินตลาดสด ก็ต้องเล่นบทคนเดินดิน แล้วเดินไปยกมือไหว้ และพูดคุยกับชาวบ้าน โดยทำตัวสนิทสนมกับชาวบ้าน ทั้งๆ ที่ภาพที่ออกมานั้นมันแสนขัดกับความจริงในชีวิตประจำวัน
ภาพการเล่นละครแบบนี้ยังคงเกิดขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่คนไทยทุกคนรู้ดีว่ามันคือฉากบังคับของคนที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้ในชีวิตจริงของนายกรัฐมนตรีบางคนไม่เคยได้สัมผัสกับชีวิตจริงของผู้คนในตลาดสดต่างจังหวัด ไม่เคยยกมือไหว้ชาวบ้าน เพราะบางรายมองไม่เห็นหัวชาวบ้าน แต่เมื่อสวมหัวโขนของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ต้องยกมือไหว้ แบบไหว้กราดไปเรื่อย ไหว้ดะไปเรื่อย ไหว้เพราะสวมบทนายกรัฐมนตรีของคนไทย
มีคำถามว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีของไทยจึงต้องเล่นละครการเมือง เช่น นั่งกินข้าวบนพื้นถนนโดยนั่งล้อมวงกินข้าว (จกข้าวเหนียว) กับผู้ประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และก็ยังสร้างภาพด้วยการใส่ผ้าขาวม้าเพื่อไปอาบน้ำในห้องน้ำของชุมชนแสนกันดารในเขตภาคอีสาน หรือแม้กระทั่งการเข้าไปโอบกอดชาวบ้านที่แต่งตัวซอมซ่อมอมแมม แสนยากจน
ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเศรษฐา ทวีสิน ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาก็ยังคงแสดงบทละครการเมืองไม่ต่างไปจากนักการเมืองรายอื่นๆ ที่ได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ในชีวิตจริงของเศรษฐาไม่เคยลงไปสัมผัสชีวิตคนชั้นล่างเลย เพราะอาชีพการงานของเศรษฐาก่อนที่จะเข้าไปรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนชั้นล่างของสังคมโดยตรง ถึงแม้งานของเขาต้องใช้คนชั้นล่างในการก่อสร้างก็ตาม แต่ก็ต้องยืนยันว่าเศรษฐาไม่เคยสัมผัสใกล้ชิดกับคนชั้นล่าง
มีคำถามว่า ทำไมเศรษฐาจึงเลือกไปเดินตลาดริมถนนรัชดาภิเษก ช่วงสุทธิสาร เมื่อสามสี่วันก่อน (จำได้ไหมว่าวันนั้นมาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ ก็ยังอุตส่าห์ไปเดินตลาดสุทธิสาร เพื่อดักพบเศรษฐาด้วย) แล้วทำไมเศรษฐาจึงไปเดินตลาดถนนคนเดินที่เมืองอุดรธานี (เมื่อวันศุกร์ที่ 8 กันยายน) ตอบได้ว่า ก็เพราะเป็น drama การเมืองตามปกติของคนเป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าเพื่อได้สัมผัสกับชีวิตของพ่อค้าแม่ค้า และคนที่ไปจับจ่ายซื้อหาของกินของใช้ เมื่อนักการเมืองตอบทำนองนี้ ก็ต้องถามกลับไปว่า แล้วก่อนจะเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เคยรู้มาก่อนเลยหรือไรว่าคนชั้นล่างเหล่านั้นเขากิน เขาอยู่กันอย่างไร แล้วเมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จะช่วยให้ความเป็นอยู่เขาคนชั้นล่างดีขึ้นได้อย่างไร จะทำให้เขาเหล่านั้นมีเงินมากพอสำหรับซื้อบ้านราคาแพงๆ จากบริษัทค้าอสังหาริมทรัพย์ที่นายกรัฐมนตรียกกิจการให้ลูกสาวดูแลต่อได้หรือไม่
มีบทสนทนาที่นายกรัฐมนตรีคุยกับพ่อค้าขายขนมคนหนึ่ง โดยพ่อค้ารายนั้นเป็นเด็ก เขาขายลอดช่อง ข่าวบอกว่านายกรัฐมนตรีอยากกินสลิ่ม แต่ในตลาดไม่มีขาย จึงต้องกินลอดช่องแทน โดยพ่อค้าเด็กรายหนึ่งนำลอดช่องไปให้นายกรัฐมนตรีรับประทาน นายกรัฐมนตรีบอกว่าควรจะใส่ตัวลอดช่องให้น้อยลง ใส่น้ำแข็งให้มาก เพื่อจะได้กำไรมากขึ้น แต่พ่อค้าเด็กบอกว่า ไม่เป็นไร ให้นายกรัฐมนตรีได้กินลอดช่องมากๆ ก็พอใจแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงตอบว่า กลัวพ่อค้าตัวน้อยจะขาดทุน
บทสนทนานี้น่าสนใจมาก เพราะสะท้อนเรื่องแนวคิดการทำธุรกิจระหว่างพ่อค้าตัวน้อย กับนายกรัฐมนตรีผู้มาจากเจ้าของธุรกิจระดับหมื่นล้านบาทได้ชัดเจน น่าสนใจที่พ่อค้าเด็กไม่ขายของโดยติดราคาแพงให้กับนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้ดีว่านายกรัฐมนตรีเป็นคนมีฐานะร่ำรวยระดับมหาเศรษฐีของไทยมิหนำซ้ำยังบอกว่าต้องการให้นายกรัฐมนตรีได้กินของมากๆ ส่วนนายกรัฐมนตรีก็บอกให้พ่อค้าตัวน้อยระวังเรื่องกำไรขาดทุน
นั่นคือละครการเมืองฉากหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีลงไปแสดงเอง ซึ่งต้องบอกตรงๆ ว่าไม่มีอะไรผิดหรือถูก เพราะมันคือละครการเมืองที่นายกรัฐมนตรีไทยทุกคน ที่อยู่ในยุคที่ต้องการสร้างคะแนนนิยมการเมืองมากๆ โดยผ่านสื่อสารมวลชนสารพัดชนิด ทั้งสื่อกระแสหลัก และ social media
ยิ่งมีการแข่งขันทางการเมืองเข้มข้นมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งจำเป็นมากขึ้นเท่านั้นกับการที่นักการเมืองต้องสร้างภาพลักษณ์ให้ดี หรือเล่นละครการเมืองให้เก่งมากขึ้น เพราะช่วยทำให้ประชาชนที่รู้ไม่เท่าทันเกิดความประทับใจในตัวนักการเมือง อันจะส่งผลต่อคะแนนนิยมทางการเมืองในอนาคต แต่ภาพลักษณ์เพียงอย่างเดียวก็อาจไม่ทำให้นักการเมืองประสบความสำเร็จขั้นสูงสุด หากขาดกลอุบายการเมืองด้านอื่นๆ (คำว่าอุบายการเมืองด้านอื่นๆ ผู้เขียนขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ เพราะเชื่อว่าผู้อ่านน่าจะรู้ดีว่าคืออะไร) ผสมจนทำให้ประชาชนตัดสินใจไปลงคะแนนเลือกตั้งให้
ไม่มีใครปฏิเสธว่าภาพลักษณ์ของนักการเมืองมีผลต่อคะแนนนิยมทางการเมือง โดยเฉพาะคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) มีการกล่าวว่าภาพลักษณ์ของนักการเมืองมีความสำคัญมากกว่านโยบายของพรรคการเมืองด้วยซ้ำไป
แต่ปัญหาสำคัญในประเด็นภาพลักษณ์ของนักการเมืองนั้นอยู่ที่ประชาชนจะมีความสามารถรู้เท่าทันหรือไม่ว่านักการเมืองสร้างภาพลวงตา ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของประชาชนที่ต้องวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งว่า ภาพลักษณ์ของนักการเมืองที่เห็นนั้นเป็นของจริง เป็นตัวตนแท้จริง หรือเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อลวงตา เพื่อหวังสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองเท่านั้น
ถามต่อไปว่าทำไมนักการเมืองต้องสร้างภาพลักษณ์ ตอบได้ว่า เพราะนักการเมืองต้องการคะแนนนิยมทางการเมือง เพื่อสร้างให้ประชาชนได้รับรู้และยอมรับภาพลักษณ์ ซึ่งเป็นหลักการตลาดอย่างหนึ่งของการขายสินค้าทุกชนิด รวมถึงสินค้าการเมืองด้วย
ดังนั้น การสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองจึงเท่ากับช่วยตอกย้ำให้สาธารณชนเห็นหรือเข้าใจว่าภาพลักษณ์ของนักการเมืองคนนั้นๆ หรือพรรคการเมืองพรรคนั้นๆ เป็นพรรคชนิดใด เช่น พรรคของคนรวย พรรคของคนจนเมือง พรรคของคนจนระดับรากหญ้า พรรคของปัญญาชนคนหัวก้าวหน้า เป็นต้น แต่ก็ต้องย้ำอีกทีว่า ภาพลักษณ์การเมืองมีละครการเมือง ซึ่งทุกอย่างสร้างและประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อหลอกลวงคนที่คิดไม่ทัน หรือรู้ไม่ทันได้เสมอ
สำหรับคนที่รู้ทันนักการเมือง ต่างรู้ดีว่าการสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นเพราะนักการเมืองต้องการได้คะแนนนิยมสูงๆ หรือเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งเท่านั้น จึงต้องอาศัยนักประชาสัมพันธ์การเมืองเป็นกลไกสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ เช่น ภาพลักษณ์ของทักษิณ ชินวัตรว่าเป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในภาคธุรกิจระดับโลก ที่ต้องการเข้ามาทำงานการเมืองโดยไม่แสวงหาผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อตนเอง แต่ต้องบอกว่าภาพลักษณ์การเมืองที่ถูกสร้างขึ้น เป็นคนละเรื่องกับอุปนิสัย และพฤติกรรมจริงๆ ของนักการเมือง
ในเมืองไทยนั้น เคยมีการสำรวจความเห็นประชาชนในประเด็น นักการเมืองคนใดมีความซื่อสัตย์สูงสุด ผู้ทำสำรวจเรื่องนี้คือ กรุงเทพโพลล์ แล้วได้ผลว่า อันดับหนึ่งคืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตามมาด้วยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามมาด้วย ชวน หลีกภัย
ต้องบอกว่าสำหรับคนที่รู้ทันนักการเมือง เมื่อเห็นผลโพลล์ดังกล่าวก็ถึงกับหัวเราะด้วยความขบขัน เพราะไม่เชื่อในผลสำรวจ
เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องประหลาดใจที่จะเห็นใครก็ตามที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วต้องลงไปสร้างภาพว่าตนเองคลุกคลีกันชาวบ้านระดับล่างอย่างใกล้ชิด เพราะเขาต้องการให้คนทั่วไปที่รู้ไม่ทันเข้าใจว่าเขาเป็นคนไม่ถือตัว เข้าถึงได้ง่าย เป็นคนติดดิน อยู่ง่ายกินง่าย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นดังภาพลักษณ์ที่ถูกประดิษฐ์ผ่านสื่อสารมวลชนสารพัดชนิดเลยแม้แต่น้อย
เพราะฉะนั้น จึงขอเตือนสติคนไทยทุกคนว่า ต้องรู้เท่าทันกลเกมของนักการเมือง และต้องรู้เท่าทันกลอุบายการนำเสนอภาพลักษณ์ของนักการเมืองผ่านสื่อสารมวลชนทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสื่อฯ กระแสหลัก หรือสื่อสังคมออนไลน์(online social media) โปรดจำไว้ว่าภาพลักษณ์การเมืองถูกปั้นแต่งขึ้นมาได้ตลอดเวลา เพราะชีวิตจริงของนักการเมืองอาจไม่มีอะไรตรงกับภาพลักษณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อตบตาประชาชนแม้แต่น้อย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี