การสร้างหนี้ให้ประเทศโดยรัฐบาล ถือเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังให้จงดี เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะจำนวนมากมายมหาศาล ขอย้ำว่าการมีหนี้สินมากๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ อย่าหลงคิดว่า ประเทศมีหนี้มากๆ คือการที่ประเทศมีเครดิตดีในสายตาของนานาชาติ
จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานบริหารหนี้ สาธารณะ ระบุหนี้คงค้าง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 ดังนี้ หนี้ของรัฐบาล วงเงิน 9.6 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 1.07 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินโดยรัฐบาลค้ำประกัน 2.23 แสนล้านบาท หนี้หน่วยงานของรัฐ 6.1 หมื่นล้านบาท
แน่นอนว่าหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลนี้เกิดขึ้นมาก่อนรัฐบาลล่าสุด ที่นำโดยเศรษฐา ทวีสิน จะเข้ามาบริหารประเทศ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มิได้หมายความว่ารัฐบาลเศรษฐาจะปฏิเสธการชดใช้หนี้ดังกล่าว โดยจะอ้างว่าเป็นหนี้ที่ก่อไว้ตั้งแต่รัฐบาลก่อนๆ หน้านี้ มิได้
สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทย รายงานล่าสุดเมื่อ 31 มีนาคม 2566 อยู่ที่ ร้อยละ 61.3 แต่รัฐบาลก็ยังคงบอกว่าความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ ภาคการคลังสาธารณะของไทยยังคงแข็งแกร่ง
ก็อาจจะพอเข้าใจได้ว่าการมีหนี้สินเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประเทศไทย เพราะเรามีความจำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อหาเงินมาใช้จ่ายภายในประเทศ เนื่องจากรายได้ในประเทศของเราไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย แต่ถึงกระนั้น ก็ต้องยอมรับว่าการมีหนี้สินมากๆ ไม่ใช่เรื่องดี และเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนับสนุน แม้เราจะพอเข้าใจได้ว่าประเทศต้องก่อหนี้เพื่อพยุงสถานะทางเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไป
มาถึงรัฐบาลเศรษฐา สิ่งหนึ่งที่ผู้มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ตั้งข้อสังเกตกันมากคือ การพยายามจะแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทต่อคน สำหรับคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยรัฐบาลนี้อ้างว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
ถามกลับว่า จะหาเงินจากที่ไหนไปจ่ายสำหรับโครงการประชานิยมดังกล่าว และถามต่อไปว่าจำเป็นต้องแจกเงินให้คนทุกคนหรือ เพราะคนไทยไม่ได้ยากจนเท่ากันทุกคน ดังนั้นการจะหว่านแจกเงินให้กับคนที่มีฐานะดี หรือฐานะไม่ยากจน จึงเป็นเรื่องไม่สมควรกระทำ เพราะมันคือการภาระหนี้สินมหาศาลให้ประเทศ แล้วก็ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลที่ก่อหนี้ไว้
ไม่เคยอยู่ชดใช้หนี้สินที่ก่อไว้
รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายประชานิยมมากมาย เช่น ลดค่าไฟฟ้า ลดค่าก๊าซ ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายเงินให้กับประชาชนในเรื่องต่างๆ นานาสารพัด เช่น โครงการรักษาโรคฟรีให้กับคนทุกคน หรือการแจกเงินให้เด็กเกิดใหม่ รวมถึงเรื่องการพักชำระหนี้ให้เกษตรกร
ถามอีกครั้งว่า รัฐบาลมีปัญญาหาเงินจากที่ไหนเพื่อนำไปหว่านแจกในนโยบายประชานิยม การพักชำระหนี้ ต้องมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ถามว่าใครต้องรับภาระเมื่อมีการประกาศเลื่อนชำระหนี้ หรือพักหนี้ถามย้ำๆ ว่า ภาระที่เกิดจากการพักชำระหนี้จะตกกับใคร
ที่ผ่านมานั้นประเทศไทยได้พักชำระหนี้ให้ เกษตรกรไปแล้วกี่ครั้ง (มากกว่า 10 ครั้ง) คำถามคือแล้วหนี้สินของเกษตรกรหายไปหรือไม่ เกษตรกรไม่ได้กลับมาก่อหนี้ก่อสินใหม่ กระนั้นหรือ เปล่าเลย หลังจากพักชำระหนี้ไปแล้ว ก็ยังคงมีหนี้สินต่อไปเรื่อยๆแล้วก็จะต้องพักชำระหนี้ไปเรื่อยๆ
รัฐบาลมีปัญญาแค่สร้างหนี้ สร้างภาระหนี้สินให้กับประเทศเท่านั้นเองหรือ ไม่มีปัญญาหาเงินให้กับประเทศหรือ
ถ้าได้เป็นรัฐบาลแล้วสร้างหนี้สินเพิ่มพูนให้ ประเทศตลอดเวลา แบบนี้เอาแมวหรือเอาเด็กไร้เดียงสาไปเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ เพราะใครๆ ก็สามารถสร้างหนี้ได้ ประเทศนี้มีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่สร้างหนี้สินให้ประเทศมามากเกินพอแล้ว ประเทศไทยต้องการนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลทีเข้ามาช่วยล้างหนี้ และหารายได้เข้าประเทศให้มากขึ้น ไม่ได้ต้องการนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลทีเข้ามาสร้างหนี้ ขอย้ำว่าการสร้างหนี้ให้ประเทศคือการสร้างความวิบัติให้ประเทศ คนที่ทำให้ประเทศวิบัติไม่ควรจะมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี