รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรี ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน กำลังจะนำพาเศรษฐกิจของประเทศไทยไปทางใด?
ไปเวทีโลกเที่ยวนี้ นายกฯเศรษฐาเปิดเผยทำนองว่าจะเหยียบคันเร่งมิดตีน เอาอัตราการเติบโตเศรษฐกิจพุ่งแรงกว่าเดิมทันที
นอกจากเพิ่มงบประมาณแผ่นดิน 2567 สูงขึ้นจากกรอบเดิมอีก 1.3 แสนล้านบาทแล้ว จะมีอะไรที่น่าสนใจ และน่าวิตกกังวลอีกบ้าง?
1. รัฐบาลเศรษฐามือเติบ
เข้ามาสู่อำนาจปุ๊บ ก็มีแต่จ่ายกับจ่าย
รายจ่ายท่วมรายได้อยู่ที่เดิม แล้วยังเพิ่มวงเงินรายจ่ายเข้าไปอีก
แถมยังลดรายได้บางอย่างลงไปอีกด้วย อาทิ ภาษีสรรพสามิตดีเซล แหล่งรายได้จากภาษีบางประเภทที่คาดว่าจะได้ก็เลิกหรือชะลอไป
เรียกว่า มีทั้งยืมมาแจก กู้มาจ่าย และยอมเสียโอกาสรายได้ เพื่อคะแนนนิยมทางการเมืองเฉพาะหน้า
ล่าสุด ไปต่างประเทศใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำยกคณะไปกว่า 50 คน พร้อมภรรยาและลูกสาวที่เป็นนักธุรกิจ
2. มาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เข้ากระเป๋าดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องใช้เงินอีก 560,000 ล้านบาท
คาดว่า จะยืมมาแจก
ไม่สนการทักท้วงของผู้มีประสบการณ์ทำงานด้านเศรษฐกิจโดยตรง อาทิ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติอดีตปลัดคลัง นักเศรษฐศาสตร์สำนักต่างๆ ฯลฯ
3. ไม่เหมือนตอนหาเสียงไว้
ตอนหาเสียง - พรรคเพื่อไทย นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน ประกาศว่าจะแจกเงินหมื่นบาท เข้าดิจิทัลวอลเล็ตให้ประชาชนได้ โดยไม่ต้องกู้เพิ่มสักบาทเดียว
พอเป็นรัฐบาล ล่าสุด นายกฯ เศรษฐา ประกาศเดินหน้าแจกเงินหมื่น ราวๆ เดือน ก.พ.ปีหน้า
แต่สุดท้าย ต้องขาดดุลงบประมาณเพิ่ม (ก็คือการต้องกู้เพิ่ม เพื่อเอาเงินไปทำโครงการต่างๆ)
และยังไม่พอ จะต้องยืมเงินจากรัฐวิสาหกิจเพื่อมาแจกเงินหัวละหมื่นบาทอีกต่างหาก
ย้อนกลับไป นายเศรษฐาเคยทำคลิปชี้แจงชัดเจน ประกาศให้สังคมมั่นใจว่า โครงการนี้ไม่น่าเป็นห่วงจะไม่มีการกู้เพิ่ม !!!
ย้อนกลับไปอีก เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 นายเศรษฐาเคยโพสต์เฟซบุ๊ค ยืนยันว่าโครงการแจกเงินหมื่นฯไม่ต้องกู้สักบาท ระบุว่า
“....เมื่อพูดถึงประโยชน์ ก็คงต้องกล่าวถึงที่มาที่ไปของเงินด้วย ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญมากล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยต้องกู้เงินมาแจก
ผมขอชี้แจงชัดๆว่าที่มาของงบประมาณนโยบายนี้ ไม่จำเป็นต้องกู้สักบาทเดียว
และที่สำคัญการหมุนเวียนของเงิน จะสามารถจ่ายคืน (Payback) ค่าใช้จ่ายในนโยบายนี้ได้ด้วยตัวเองในตลอดระยะเวลาของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย...”
ย้อนกลับไป พรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้ ชี้แจงวงเงินที่มาของเงินไว้ ดังนี้
วงเงินที่ต้องใช้ 560,000 ล้านบาท ที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ ระบุว่า
จะใช้การบริหารงบประมาณปกติ และบริหารระบบภาษีจาก ส่วนแรก ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี’67 จำนวน 260,000 ล้านบาท, ส่วนที่สอง ภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย จำนวน 100,000ล้านบาท, ส่วนที่สาม การบริหารจัดการงบประมาณ จำนวน 110,000 ล้านบาท และสุดท้าย มาจากการบริหารจัดการงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อนจำนวน 90,000 ล้านบาท”
ไม่เคยบอกว่าจะต้องกู้ยืม
แถมเคยยืนยันว่าจะไม่ต้องกู้เพิ่มสักบาท!!!
4. ถ้าย้อนกลับไปดูบทเรียนจากยุคยิ่งลักษณ์
สมัยที่เพื่อไทยหาเสียงยุคยิ่งลักษณ์ ว่าจะใช้เงินในอากาศ ไม่ต้องกู้ แต่สุดท้ายก็กู้
สมัยเพื่อไทยหาเสียงว่า จำนำข้าวจะไม่ขาดทุน แถมจะมีกำไร แต่สุดท้ายขาดทุนกว่าห้าแสนล้าน
ปัจจุบัน ยังเหลือภาระหนี้จำนำข้าวติดค้าง ธ.ก.ส.อยู่สองแสนกว่าล้านบาท!!!
5. สถานะทางเศรษฐกิจการเงินการคลังของประเทศไทย เป็นอย่างไร?
ในปี 2567 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2
สำหรับปี 2568 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.6 และขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ในปี2569-2570
ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2567 -2570 เท่ากับร้อยละ 64.00 64.65 64.93 และ 64.81 ตามลำดับ
ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท เข้ากระเป๋าดิจิทัลวอลเล็ตให้ประชาชน มูลค่าเม็ดเงินกว่า 560,000 ล้านบาท
ซึ่งจะต้องจัดหาเงินก้อนมหาศาลนี้มาจากการยืมเงินจากที่ใดที่หนึ่ง (น่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ และอาจจะเป็นออมสิน) แล้วรัฐบาลมีภาระตั้งงบประมาณแผ่นดินชดเชยภายหลัง
จะเพิ่มแรงกดดันการขาดดุลงบประมาณมากขึ้น และทำให้เสียโอกาสจัดสรรเงินลงทุน ตลอดจนพัฒนาประเทศชาติในด้านต่างๆ มหาศาล
การจะทุ่มเงินกว่า 5.6 แสนล้านบาท ไปกับนโยบายดังกล่าว จึงไม่ต่างกับการทุ่มเดิมพันแบบเทหมดหน้าตัก
ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเงินการคลังและเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ทั้งๆ ที่ ประเทศไทยไม่ได้จำเป็นจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน 5 แสนล้านบาทนั่นเลย (ถ้าจำเป็นเร่งด่วนจริง จะไปรอแจกเอาต้นปีหน้าได้อย่างไร?)
แต่เพื่อตอบสนองการคันเท้า อยากเหยียบคันเร่งมิดตีน ดันจีดีพีให้โตกว่าเดิม จะได้เป็นที่กล่าวขาน ฟูฟ่อง ซึ่งมันจะช่วยดันจีดีพีเฉพาะหน้าจริง แต่ก็เพียงปีสองปี หลังจากนั้น คือ ภาระหนี้ที่รัฐบาลและประชาชนทั้งประเทศจะต้องแบกรับต่อไปอีกไม่ต่างกับหนี้โครงการจำนำข้าว
6. ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ เตือน ระวังหนี้ประเทศพุ่ง-จีดีพีโตไม่ยั่งยืน
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ หนึ่งในผู้มีชื่อในโผเป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีคลังของพรรคเพื่อไทยเอง ส่งสัญญาณเตือนนโยบายแจกเงินหมื่นเข้าดิจิทัลวอลเล็ต 5.6 แสนล้านบาท
ระบุว่า เป็นเดิมพันสูง เป็นการกระตุ้นกำลังซื้อ-การบริโภค ไม่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน อาจไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง-ยั่งยืน เสี่ยงเจอปัญหา “ขาดดุลแฝด” คือ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณมากขึ้น
“...เนื่องจากนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน ต้องใช้เงินก้อนใหญ่มาก คือ กว่า 5 แสนล้านบาท เพิ่มความเสี่ยงเรื่องสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศ โดยรัฐบาลจะต้องทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำเงินไปใช้ทำนโยบาย และอีกส่วนก็ต้องเป็นการหมุนเงินจากสถาบันการเงินของรัฐ โดยขยายกรอบวงเงินใช้มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
...ถ้านโยบายนี้สำเร็จก็จะทำให้จีดีพีเติบโต มีรายได้เงินภาษีเพิ่มขึ้น แต่ถ้านโยบายไม่สำเร็จ คือไม่สามารถทำให้จีดีพีขยายตัวได้ตามคาดหวัง ก็จะทำให้รัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณมากขึ้น และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะสูงขึ้น เพราะจีดีพีไม่ได้ขยายตัว
...นโยบายการแจกเงินเป็นการกระตุ้นดีมานด์ในการบริโภคของประชาชน ไม่ได้จูงใจให้เกิดการลงทุนระยะยาว เป็นการกระตุ้นระยะสั้น และโอกาสที่จะให้จีดีพีโต 5% ต่อเนื่องอย่างที่รัฐบาลต้องการยาก
นอกจากนี้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ใช่แค่ปัญหาระยะยาว แต่ระยะสั้นจะสังเกตได้ว่าเงินบาทเริ่มอ่อน ซึ่งก็จะทำให้เงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้นอีก แล้วพอเงินเฟ้อขึ้น ธปท.ก็จะขึ้นดอกเบี้ยอีก ก็เป็นปัญหาตามมาอีก...” - ดร.ศุภวุฒิอธิบาย
7. ล่าสุด James McCormack กรรมการผู้จัดการ Fitch Ratings กล่าวในงาน 2023 Fitch on Thailand : Global and Regional Economic & Bank Outlook ว่า
ขณะนี้ฐานะการคลังของไทยอ่อนแอลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้อยู่ในระดับ BBB ด้วยกัน
แรงกดดันด้านการคลังของไทยที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นในการใช้จ่าย (ด้านการคลัง) ของรัฐบาลชุดใหม่ ขณะที่แรงกดดันด้านการคลังของประเทศอื่นๆ มีสาเหตุมาจากปัจจัยที่ต่างกัน โดยส่วนใหญ่แล้วการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ดังนั้น ปัจจุบันเราจะเห็นภาพทั่วโลกมีฐานะการคลังที่อ่อนแอ
8. กู้มาจ่าย ยืมมาแจก(แบบเหวี่ยงแห)เทหมดหน้าตัก เหยียบคันเร่งมิดตีน
คือ เค้าลางหายนะ!!!
เสี่ยงว่าประเทศไทยจะแหกโค้งตกเหว หรือไม่?
ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเสี่ยงแบบนั้นเลย
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี