เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำสั่งกรณีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลฯดำเนินการไต่สวนฯและออกหมายจับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาคุมขังไว้ตามหมายศาลฯ เนื่องจากนายทักษิณไม่ได้ถูกจำคุกตามคำพิพากษา แต่ถูกส่งตัวไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจโดยมิชอบ
ศาลวินิจฉัยว่า นายชาญชัยไม่ใช่คู่ความในคดีหมายเลขแดง อม.4/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2552 และคดีหมายเลขแดงที่ อม.5/2551 ของศาลนี้ ไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อน ไม่มีส่วนได้เสียในคดี จึงไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาล แต่ศาลเห็นว่า “อาจมีการบังคับคำพิพากษาไม่เป็นไปตามหมายจำคุก ศาลย่อมมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร”
จึงเห็นควรให้โจทก์ (ป.ป.ช. /อัยการสูงสุด) และจำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) แจ้งต่อศาลว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร กับสำเนาคำร้องให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์และนายแพทย์ใหญ่รพ.ตำรวจ ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาลด้วยภายใน 30 วัน
ศาลนัดไต่สวน นัดพร้อม ในวันที่ 13 มิ.ย. 2568 เวลา 09.30 น.
1. กรณีนี้ ศาลฎีกาฯ ไม่ได้จะลงโทษซ้ำ ไม่ใช่การฟ้องซ้ำไม่ใช่คดีใหม่ แต่กำลังตรวจสอบการลงโทษตามคำพิพากษาเดิมนั่นเอง ว่าได้จำคุกนายทักษิณ ตามหมายจำคุกถูกต้องครบถ้วนหรือไม่
ฟุตบอลยังดู VAR ได้ นี่ก็ตรวจดูว่ามีทำฟาวล์รึเปล่า
2. ความเป็นไปได้เลวร้ายสุดสำหรับนายทักษิณ คือ กลับไปติดคุกตามคำพิพากษาเดิม (คดีหวยบนดิน คดีเอ็กซิมแบงก์ คดีหุ้นชิน) ตามหมายจำคุก (จำคุก 1 ปี ตามที่ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ)
ส่วนบุคคลที่อื่นใด หากพบว่ามีการกระทำร่วมฝ่าฝืนหรือสนับสนุนให้มีการละเมิดหมายจำคุก ก็อาจจะโดนลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล แต่ถ้าจะเป็นความผิดอาญา มาตรา 157 จะต้องไปให้ ป.ป.ช. ไต่สวนดำเนินคดีตามกระบวนการต่างหาก
อย่างไรก็ตาม ศาลอาจจะไต่สวนแล้ว เห็นว่า การบังคับคดีถูกต้องครบถ้วนแล้ว ทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับเช่นกัน
3. ข้ออ้างว่า การบังคับคดีเป็นเรื่องของราชทัณฑ์เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับศาล อันนี้ไม่ถูกต้อง มั่วมาก
ถ้าเช่นนั้น ผู้มีอำนาจฝ่ายบริหารจะบังคับคดียังไงก็ได้ ทำราวคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เป็นกระดาษเปื้อนหมึกเท่านั้นก็ได้ ซึ่งไม่ถูกต้องแน่นอน
ความจริง ศาลฎีกามีอำนาจติดตามการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลได้อย่างแน่นอน
ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิฯ อาญา) หมวดว่าด้วยการบังคับตามคำพิพากษา ในมาตรา 246 ระบุไว้ชัดเจนให้ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอต่อศาล เมื่อมีกรณีจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก
มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1092/2482 ชี้ขาดว่า ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับได้ไม่ว่าก่อนหรือหลังจากที่ได้สั่งให้บังคับคดีไปแล้ว อำนาจศาลสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีได้ตามประมาวลวิธีพิจารณาอาญา ม.246 หาได้ก้าวก่ายลบล้างกันกับอำนาจของอธิบดีราชทัณฑ์ 2479 นั้นไม่ โดยเป็นคนละส่วนต่างหากจากกัน
อีกทั้ง ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2562 กำหนดให้มีหมวดบังคับคดี ข้อ 62 ระบุว่า เมื่อบุคคลภายนอกยื่นคำร้องหรือคำขอต่อศาลในชั้นบังคับคดี ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาอย่างน้อย 3 คนเป็นองค์คณะพิจารณาชี้ขาดคำร้องหรือคำขอดังกล่าว
ตอกย้ำว่า ภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาไปแล้ว ศาลฎีกาก็ยังมีอำนาจพิจารณาดำเนินการ หากปรากฏว่ามีการกระทำไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล หรือเกิดปัญหาในระหว่างการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล
4. ข้ออ้างว่ากรณีอื่นๆ เรือนจำส่งนักโทษไปโรงพยาบาล ไม่เคยต้องแจ้งศาลเลย
ประเด็นนี้ ก็ต้องไปดูว่ากรณีทั้งหลายเหล่านั้น มีปัญหาเหมือนกรณีของทักษิณหรือไม่? ลองช่วยยกมาสักกรณีได้ไหมในประเทศนี้ ที่เข้าคุกวันแรก ยังไม่ทันข้ามคืน แล้วออกไปอยู่โรงพยาบาลตำรวจ ห้องหรูหราสะดวกสบาย อยู่ยาวนานหลายเดือน โดยไม่ต้องส่งกลับเข้าคุกเลย จนถึงวันได้ออกกลับไปอยู่บ้าน จากนั้น ก็ออกเดินสาย ไม่มีเค้าของคนป่วยใกล้ตายอะไรเลย กรณีทักษิณเป็นกรณีเดียวที่เคยมีในประวัติศาสตร์ประเทศไทย
เพราะฉะนั้น เมื่อกรณีนี้มีคนร้องต่อศาลฎีกาฯ กระทั่งศาลฎีกาฯเห็นว่า อาจมีการบังคับคำพิพากษาไม่เป็นไปตามหมายจำคุกของศาล ศาลย่อมมีอำนาจไต่สวนและออกคำสั่งต่อไปได้
ดังนั้น หน้าที่บังคับคดีเป็นของราชทัณฑ์จริง แต่ถ้าทำหน้าที่บังคับคดีไม่เป็นไปตามหมายจำคุกของศาล ศาลก็มีอำนาจตามกฎหมายที่จะมีคำสั่งให้เป็นไปตามคำพิพากษา ของศาล
ลองนึกภาพ… สุนัขต้อนแกะ
สุนัขมีหน้าที่บังคับแกะเข้าคอกให้เป็นไปตามคำสั่งของมนุษย์ที่เป็นเจ้าของ
ถ้าสุนัขมันไม่ยอมต้อนแกะบางตัว มนุษย์ที่เป็นเจ้าของย่อมมีอำนาจลงไปจัดการแกะตัวนั้น สุนัขจะมาเห่าห้ามคนไม่ได้ แถมคนอาจจะเตะสุนัขเพื่อลงโทษด้วยก็ได้
5. ลุ้นข้อกฎหมายพลิก นักโทษเทวดา ตกสวรรค์ทันที
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ เคยยื่นครั้งแรกเมื่อ 19 ธ.ค. 2566 ปมเจ้าหน้าที่ส่งทักษิณไปนอกเรือนจำ ได้ปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปรากฏว่า การชี้ขาดปัญหานี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาฯ จึงยกคำร้อง
จากนั้น ยื่นอีกครัง เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567 ศาลก็ตีตกไปอีก
มาครั้งนี้ นายชาญชัยอ้างอิงกฎหมาย ป.วิฯ อาญา ม.246 ที่กำหนดให้ต้องแจ้งศาล แต่ปรากฏว่า มีการเอาตัวทักษิณไปอยู่โรงพยาบาลยาว โดยไม่แจ้งศาลฎีกา
การที่ศาลฎีกาฯ เปิดไต่สวนเอง เท่ากับว่า ศาลเห็นประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงจากคำร้องของนายชาญชัยว่าเนื้อหามีน้ำหนักเพียงพอ ถึงขนาดสำเนาคำร้องส่งให้ผู้เกี่ยวข้องต้องชี้แจงศาลมาภายใน 30 วันด้วย
ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ไต่สวนคดีชั้น 14 มีข้อมูลพยานหลักฐาน การลงพื้นที่อยู่แล้ว
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็มีผลการตรวจสอบที่ชี้ว่ามีการเอื้อประโยชน์แก่ทักษิณโดยมิชอบ
ขณะนี้ แพทยสภา อยู่ระหว่างการตรวจสอบ มีข้อมูลจากการตรวจสอบจรรยาบรรณแพทย์ในกรณีชั้น 14 รวมถึงเวชระเบียน และการรักษาต่างๆ ย่อมสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐาน ได้ด้วย
เพราะฉะนั้น ถ้าข้อกฎหมายพลิกจากแนวทางคำอธิบายของฝ่ายรัฐบาล มาเป็นการไม่ปฏิบัติตาม หรือกระทำขัดต่อ ป.วิอาญา นำตัวทักษิณออกไปอยู่โรงพยาบาลยาวๆ โดยมิชอบ แบบที่ไม่ต้องกลับมานอนคุกเลยแม้แต่คืนเดียว ไม่มีการแจ้งต่อศาลฎีกาฯ หรือมีเจตนาอำพราง หลบเลี่ยง บิดเบือน ไม่บังคับตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ไม่ปฏิบิติตามหมายจำคุกของศาล สวรรค์ชั้น 14 อาจจะล่มสลายโดยพลัน ก็อาจเป็นไปได้
6. โทษจำคุกทักษิณ เดิมที่มีกำหนดระยะเวลา 8 ปี แต่ได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี
เป็นผลมาจากคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 คดี คือ
คดีที่ 1 คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 4/2551 ความผิดต่อหน้าที่ราชการ กำหนดโทษจำคุก 3 ปี (คดีให้ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ ปล่อยกู้เงินแก่เมียนมา 4 พันล้านบาท) ป.ป.ช.เป็นโจทก์
คดีที่ 2 คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 10/2552 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กำหนดโทษจำคุก 2 ปี (คดีทุจริตโครงการหวยบนดิน) ป.ป.ช.เป็นโจทก์ ซึ่งคดีที่ 1 กับคดีที่ 2 นับโทษซ้อนกันรวมกำหนดโทษจำคุก 3 ปี
และคดีที่ 3 คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 5/2551 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมกำหนดโทษจำคุก 5 ปี (คดีให้นอมินีถือหุ้น“ชินคอร์ปฯ”- แปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตเอื้อประโยชน์แก่ตัวเอง ) อัยการสูงสุดเป็นโจทก์
แต่ละคดี ล้วนเป็นคดีทุจริตประพฤติมิชอบร้ายแรง พฤติการณ์โดยสรุป ดังนี้
กรณีหวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัว ทักษิณสั่งให้สำนักงานสลากเป็นเจ้ามือหวยรับกินรับใช้เลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว โดยไม่รอแก้ไขกฎหมายรองรับ ไม่ต้องการให้เงินจากการขายสลากถูกจัดสรรเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน ไม่เสียภาษีสารพัดอย่าง แถมกู้เงิน 2 หมื่นล้าน จาก “ธนาคารออมสิน” มาสำรองหน้าตัก รายได้จากการขายหวยบนดินก็ไม่ได้จัดสรรปันส่วนนำส่งเข้าเป็นเงินแผ่นดินตามกฎหมายสลากกินแบ่ง แต่ใช้อุบายออกระเบียบใช้จ่ายเงินเอง ที่คุยโม้โอ้อวดว่านำเงินหวยบนดินมาเป็นทุนการศึกษา นั่นเป็นตัวเลขเงินส่วนน้อย เพราะในระหว่างดำเนินโครงการหวยบนดิน ตั้งแต่งวด 1 ส.ค. 2546 ถึงงวด 16 ก.ย. 2549 ได้เงินจากการขายหวยบนดินทั้งสิ้น 123,339 ล้านบาท หักเงินรางวัลจ่ายให้ผู้ถูกรางวัลทั้งหมด 69,242 ล้านบาท เหลือกำไรอยู่มากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ต่อให้หักส่วนที่นำไปเป็นทุนการศึกษาเด็กออกสักหมื่นล้านบาท ก็ยังเหลือเงินไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท หายไปไหน ไม่มีหลักฐานชี้แจงมาจนถึงวันนี้ ลองคิดดูว่า เงิน 4 หมื่นล้านบาทในยุคนั้น มหาศาลขนาดไหน
กรณีคดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยเงินกู้ให้รัฐบาลพม่า 4,000 ล้านบาท ทักษิณอาศัยความเป็นนายกรัฐมนตรีไทย สั่งการเอ็กซิมแบงก์ปล่อยเงินกู้ให้รัฐบาลทหารพม่า 4.000 ล้านบาท ทั้งที่เดิมจะให้กู้ 3 พันล้าน โดยไม่มีเรื่องโทรคมนาคม จากนั้น ทักษิณสั่งให้เพิ่มเงินกู้ “เราให้หลักการขอไว้ 3,000 ล้านบาท เมื่อเขาขอมา 5,000 ล้านบาท ก็ให้พบกันครึ่งทาง ให้เขา 4,000 ล้านบาท และให้นายสุรเกียรติ์ แจ้งไปว่านายกฯ ทักษิณสั่งการว่าให้เพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาท และจะให้การอุดหนุนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย” นำมาซึ่งการสนับสนุนโครงการการพัฒนาโทรคมนาคมในชนบทของพม่า 3 โครงการ มูลค่า 24 ล้านดอลลาร์ โดยมีบริษัทชิน แซทเทลไลท์ เป็นผู้ดำเนินโครงการ เป็นเหตุให้เอ็กซิมแบงก์ได้รับความเสียหายตามประมาณการโครงการทั้งสิ้น 670 ล้านบาท และกระทรวงการคลังต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ปี’49 และ ปี’50 ชดเชยความเสียหาย คิดถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2551 เป็นเงิน 189 ล้านบาท แม้ในภายหลัง ทางพม่าจะได้ชำระหนี้จนครบถ้วน เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 แต่นั่นก็ภายหลังจากการกระทำผิดสำเร็จแล้ว และเป็นการชำระหนี้ในยุคหลัง ปัจจุบัน สำนักงาน ป.ป.ช. (โจทก์) ได้มีหนังสือแจ้งให้กระทรวงการคลังดำเนินการเพื่อให้นายทักษิณ (จำเลย) ชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษา
กรณีคดีนอมินีหุ้นชินฯ ศาลฎีกาฯ ชี้ชัดว่า ทักษิณคือเจ้าของหุ้นชินฯ ตัวจริงโดยตลอดช่วงที่ยังเป็นนายกฯ แต่ใช้วิธีใช้ตัวแทนเชิด ระบุว่า พานทองแท้ - พินทองทา - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร - บรรณพจน์ ที่ปรากฏชื่อถือหุ้นชินฯในช่วงทักษิณเป็นนายกฯ นั้น ล้วนแต่เป็นผู้ถือหุ้นแทนนายทักษิณ เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายทั้งสิ้น โดยคุณหญิงพจมานเป็นคนชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนให้นายบรรณพจน์ ส่วนการขายหุ้นให้นายพานทองแท้ นางสาวยิ่งลักษณ์ และนายบรรณพจน์ ต่างก็ใช้วิธีออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชําระค่าซื้อหุ้น มีกําหนดใช้เงินเมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย “ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่า แท้จริงไม่มีการโอนซื้อขายและไม่มีการชําระราคากันจริง” แถมมีเอกสารเชิงลึกจากธนาคารกลางประเทศสิงคโปร์ประกอบ มัดแน่น ว่าเจ้าของหุ้นชินตัวจริง คือ ทักษิณและภริยา ขณะเดียวกัน ก็มีพฤติกรรมอาศัยอำนาจรัฐเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจส่วนตัวดังกล่าวด้วย กรณี พ.ร.ก.เก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐ และให้คู่สัญญาภาคเอกชนนำภาษีสรรพสามิตมาหักออกจากส่วนแบ่งรายได้หรือค่าสัมปทานที่คู่สัญญาภาคเอกชนจะต้องนำส่งให้คู่สัญญาภาครัฐได้ เอื้อประโยชน์ให้แก่เอไอเอส และบริษัท ดีพีซี ทั้ง 2 บริษัทเป็นบริษัทในเครือของบริษัทชินฯ ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ทำให้ทั้ง 2 บริษัทได้รับคืนเงินภาษีสรรพสามิต โดยมีสิทธินำไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องนำส่งให้ ทศท. และ กสท. เป็นผลให้ ทศท. และ กสท. ได้รับความเสียหาย
สุดท้าย รอติดตามว่า สวรรค์ชั้น 14 จะล่มสลาย กรรมตามสนองผู้เกี่ยวข้อง หรือไม่?
งานนี้ นอกจากอดีตนายกฯ ทักษิณ ต้องลุ้นเหนื่อยแล้ว นายกฯแพทองธารก็ลุ้นหนักด้วย
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี