กรณีนายทักษิณไม่ได้ถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ 3 คดี และถูกส่งตัวไปพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจโดยมิชอบ หรือไม่
กลายเป็นประเด็นร้อน ดุเดือด แหลมคม ขยายวงออกไปมากขึ้นทุกวัน
1. ประเด็นหลัก ของการพิจารณา คือ การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับโทษจำคุกแก่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดหรือไม่ อย่างไร?
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวน นัดพร้อม ในวันที่ 13 มิถุนายน 2568
2. ฝ่ายนายทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า “อย่าเพิ่งสรุป ไม่มีอะไรต้องสรุปล่วงหน้า ผมเชื่อว่า ผู้พิพากษาที่พิจารณาก็ยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะต้องดูพยานหลักฐาน ดูการสืบพยาน
โจทก์ พยานจำเลย ดังนั้น อย่าไปสรุปเองอย่าไปอย่าไปทำนายอะไรล่วงหน้า อย่าไปคาดการล่วงหน้า มันไม่มีอะไร”
ส่วนตัวนายทักษิณเอง ก็ยังไม่ยืนยันว่าจะเดินทางไปศาลฎีกาฯ ในวันนัดพร้อมด้วยตนเองหรือไม่? (แต่มีทนายความไปแน่นอน)
3. ฝ่าย ป.ป.ช. (โจทก์) ได้ตั้งคณะทำงานยกร่างคำชี้แจงต่อศาลฎีกาฯ โดยมีนายสุรพงษ์ อินทรถาวร รองเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นหัวหน้าคณะผู้ว่าคดี นายพัฒนพงศ์ จันทร์เพ็ชรพูล ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ที่ดูแลสำนวนการไต่สวนคดีช่วยเหลือนายทักษิณให้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 เป็นทีมงาน
4. ฝ่ายผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ก็ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาลด้วย
ในประเด็นว่า การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับโทษจำคุกแก่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดหรือไม่ อย่างไร
โดยศาลได้ส่งสำเนาคำร้องของชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ให้ทุกฝ่าย พร้อมให้ชี้แจงกลับมาภายใน 30 วัน (ครบกำหนดแล้ว)
5. นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ เป็นคนไปยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดำเนินการไต่สวนฯและออกหมายจับนายทักษิณ ชินวัตร มาขังไว้ตาม
หมายศาลฯ เนื่องจากนายทักษิณไม่ได้ถูกจำคุกตามคำพิพากษา และถูกส่งตัวไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจโดยมิชอบ
แม้ศาลวินิจฉัยว่า นายชาญชัยไม่ใช่คู่ความในคดีหมายเลขแดง อม.4/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2552 และคดีหมายเลขแดงที่ อม.5/2551 ของศาลนี้ อีกทั้งไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อน ไม่มีส่วนได้เสียในคดี จึงไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาล แต่ศาลเห็นว่าอาจมีการบังคับคำพิพากษาไม่เป็นไปตามหมายจำคุก ศาลย่อมมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร
เป็นที่มาที่ทำให้ศาลฎีกาฯ เห็นว่า อาจมีการบังคับคำพิพากษาไม่เป็นไปตามหมายจำคุกของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นำมาสู่การไต่สวนในประเด็นว่า การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับโทษจำคุกแก่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดหรือไม่ อย่างไร?
เนื้อหาคำร้องของนายชาญชัยบางส่วน ระบุว่า
“...การที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เรือนจำกรุงเทพมหานคร ส่งตัวจำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) ไปยังโรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยป่วยเป็นโรคอะไร ร้ายแรงเพียงใด หากจำเลยถูกจำคุก และบังคับโทษอยู่ในเรือนจำดังกล่าว จะถึงอันตรายต่อชีวิต อีกทั้งไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/2 (1) และมาตรา 246 (2) จึงไม่ชอบ
โดยจะอ้างว่าดำเนินการตามกฎกระทรวง (พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560) เรื่อง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ลงวันที่ 23 ก.ย.2563 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 55 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หาได้ไม่
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 ที่มีการนำตัวจำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) ออกจากเรือนจำกรุงเทพมหานครไปโรงพยาบาลตำรวจ ไม่มีการรายงานอาการป่วย ให้ผู้บังคับบัญชาเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ทราบ คงมีแต่รายงานว่า พยาบาลเวรขอคำปรึกษาจากแพทย์กรมราชทัณฑ์ ซึ่งพิจารณาจากรายงานแพทย์ต่างประเทศ และมีความเห็นว่า ให้นำตัวจำเลยไปโรงพยาบาลตำรวจ เพียงเฝ้าระวังเท่านั้น อันเป็นการขัดต่อกฎกระทรวง เรื่อง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ข้อ 2 (1) (2)
และเมื่อนำตัวจำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) มาถึงโรงพยาบาลแล้ว ก็ได้นำตัวจำเลยไปที่ชั้น 14 ซึ่งเป็นห้องที่แยกต่างหากจากผู้ป่วยทั่วไปที่รับการรักษาอยู่โรงพยาบาลตำรวจ โดยนำจำเลยไปอยู่ชั้น 14 คนเดียว อันเป็นการขัดต่อกฎกระทรวง เรื่อง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ข้อ 4 (2)
ผู้ร้อง (นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์) ขอประทานกราบเรียนต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า จำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดรวม 8 ปี และเมื่อจำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษได้รับโทษจำคุก 1 ปี จำเลยจะต้องถูกจำคุกคุมขังในเรือนจำในเขตศาลที่มีอำนาจ ตามพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ คือ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
แต่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งว่า เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ได้นำตัวจำเลยไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 ซึ่งมิใช่เรือนจำ จนกระทั่งถูกปล่อยตัว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล และนำตัวจำเลยไปอยู่อย่างอิสระ สบายๆ แยกจากผู้ป่วยอื่นๆ โดยอ้างเหตุว่าจำเลยป่วย ซึ่งความจริงแล้ว จำเลยมิได้ป่วยตามที่อ้าง
พฤติกรรมการกระทำของจำเลย (นายทักษิณ) และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง คือ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และแพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจ สมคบร่วมกันเพื่อหลอกลวง ตบตาประชาชนว่า จำเลยป่วย ทั้งที่จำเลยมิได้ป่วยแต่ประการใด
ดังจะเห็นได้จาก เมื่อจำเลยได้รับการปล่อยตัว จากโรงพยาบาลตำรวจแล้ว จำเลย ได้หายป่วยรุนแรงในทันที และกลับมาใช้ชีวิตปกติ เดินทางหาเสียงทางการเมือง ครอบงำทางการเมือง และดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งอยู่เบื้องหลังการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน
เช่นนี้ จำเลยจึงยังไม่ได้รับโทษจำคุก ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด
การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการบังคับโทษจำคุกแก่จำเลย เป็นการเอื้อประโยชน์แก่จำเลย อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
ทั้งการกระทำดังกล่าวมิใช่เป็นการบังคับโทษตามกฎหมาย แต่กรณีถึงขั้นเป็นการทำลายระบบกระบวนการยุติธรรม และหลักนิติรัฐและนิติธรรมของประเทศชาติอย่างร้ายแรง ทำให้คำพิพากษาของศาลถึงที่สุดขาดความศักดิ์สิทธิ์ ขาดความน่าเชื่อถือ...”
ศาลฎีกาฯ ได้ส่ง “สำเนาคำร้อง” ข้างต้นนี้ ไปให้โจทก์ จำเลย และผู้เกี่ยวข้องด้วย เพื่อชี้แจงประกอบการพิจารณาของศาลฯ
มีทั้งประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง และนี่คือประเด็นสำคัญที่มาของการไต่สวนของศาลฎีกาฯ ปมชั้น 14 ในครั้งนี้
7. มติแพทยสภา มีมติลงโทษแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการไปอยู่ชั้น 14 ของนายทักษิณ
7.1 ลงโทษ ว่ากล่าวตักเตือนแพทย์หญิง ร. เรื่องมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
เป็นแพทย์ผู้ทําหน้าที่ตรวจร่างกายผู้ต้องขังแรกรับในเรือนจําเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 มีการบันทึกผลเวชระเบียน ตรวจสอบเอกสารประวัติการรักษาของคนไข้ที่มีอยู่ก่อน โดยได้ประเมินและมีความเห็นว่ากรณีผู้ต้องขังรายนี้ควรติดตามการรักษาและต้องพบแพทย์เฉพาะทาง หลายสาขา ซึ่งเป็นสาขาเฉพาะทางที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มี จึงได้เขียนใบส่งตัวให้ผู้ป่วยไปรับการตรวจรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าในลักษณะผู้ป่วยนอก (OPD) โดยมีการให้คําปรึกษาทางโทรศัพท์กับพยาบาลเวรในช่วงเวลาดึกของวันเดียวกันเกี่ยวกับอาการป่วยของผู้ต้องขังและได้อนุญาตให้ใช้ใบส่งตัวที่เขียนไว้ดังกล่าวเพื่อเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาของผู้บัญชาการเรือนจําในการนําตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจํา และได้มีการนําตัวผู้ต้องขังคนดังกล่าวไปรักษาตัวนอกเรือนจําในเวลาต่อมา
คณะกรรมการแพทยสภาเห็นว่า ไม่ดําเนินการตามมาตรฐานการรักษาในกรณีดังกล่าวให้ถูกต้องครบถ้วน ผู้ถูกร้องควรให้ผู้มีหน้าที่ตรวจประเมินผู้ป่วยบันทึกข้อมูลความรุนแรงของโรคในภาวะวิกฤตและเป็นผู้ลงความเห็นในแบบฟอร์มดังกล่าวเองว่าสมควรรีบส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อนอกเรือนจํา
7.2 ลงโทษ พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมของพลตำรวจโทนายแพทย์ ส. เป็นเวลาสามเดือน กรณีให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง
เป็นนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตํารวจ ได้ให้สัมภาษณ์ตอบคําถามของผู้สื่อข่าว ซึ่งมีการกล่าวถึงอาการป่วยของผู้ต้องขังป่วยซึ่งมารับการรักษาที่โรงพยาบาลตํารวจ จํานวน 2 ครั้ง กล่าวคือ การสัมภาษณ์ในวันที่ 23 สิงหาคม 2566 และในวันที่ 25 สิงหาคม 2566
คณะกรรมการแพทยสภาพิจารณาว่า การกระทําดังกล่าว เป็นการให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่ไม่ครบถ้วนตามที่ปรากฏอยู่ในเวชระเบียน การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวทําให้การเจ็บป่วยดูยังมีความรุนแรง การให้สัมภาษณ์นักข่าวในกรณีที่เป็นประเด็นใหญ่ทางสังคมนั้น ควรมีความระมัดระวังและไม่ให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน การกระทําของผู้ถูกร้องดังกล่าวถือเป็นความผิดร้ายแรงและเป็นจุดเริ่มต้นที่ทําให้สังคมเข้าใจว่าผู้ป่วยมีอาการฉุกเฉินรุนแรงจําเป็นต้องรับตัวไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นการบิดเบือนความจริงไปจากที่บันทึกไว้ในเวชระเบียน ส่งผลทําให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
7.3 ลงโทษ พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมของพลตำรวจโทนายแพทย์ ท. เป็นเวลาหกเดือน กรณีให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง
ให้ข้อมูลทางการแพทย์ไม่ตรงกับความเป็นจริง ข้อเท็จจริงจากการสอบสวนรับฟังได้ว่า สาระของใบแสดงความเห็นแพทย์ ประกอบไปด้วยส่วนสําคัญ ได้แก่ อาการ การวินิจฉัย และความเห็นแพทย์
ในส่วนของความเห็นแพทย์ในใบแสดงความเห็นแพทย์เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ระบุว่า “การรักษายังไม่สิ้นสุด เพราะต้องรักษาแผลที่ ผ่าตัด ตรวจและวางแผนผ่าตัดโรคที่รายงาน จึงจําเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาล”และในใบแสดงความเห็น แพทย์เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ระบุว่า “ต้องรับการผ่าตัดเร่งด่วน เพราะมีอาการปวดรุนแรง มือและแขน อ่อนแรง”
การแสดงความเห็นแพทย์ดังกล่าว คณะกรรมการแพทยสภาลงมติวินิจฉัยว่า เป็นการลงความเห็นที่ไม่ถูกต้อง และเห็นควรลงโทษพักใช้ใบอนุญาต 6 เดือน
เห็นว่า การให้ความเห็นแพทย์ทั้งสองครั้งดังกล่าวไม่ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะใบแสดงความเห็นแพทย์เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ที่มีการระบุความเห็นว่า “จําเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล”
เห็นว่า ผู้ป่วยไม่จําเป็นต้องรักษาตัวต่อเนื่องในโรงพยาบาล โดยรับฟังจากข้อมูลของกลุ่มอาการและโรคของผู้ป่วย ได้แก่
กลุ่มอาการและโรคทางอายุศาสตร์ เห็นว่าโรคและอาการ ทั้งหมดเป็นโรคเรื้อรัง ไม่ต้องพักรักษาในโรงพยาบาล ประกอบกับเวชระเบียนของพยาบาล (nurses notes) กับส่วนของบันทึกติดตามอาการของแพทย์ (progress note) 15 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ถูกร้องเขียนใบแสดงความเห็นแพทย์ ไม่พบการบันทึกภาวะหรือโรคใดๆ ทางอายุรศาสตร์ที่ต้องรักษาในโรงพยาบาล กลุ่มอาการและโรคทางประสาทศัลยศาสตร์ เห็นว่าผู้ถูกร้องไม่ได้ทําการผ่าตัด แต่ให้ใส่ปลอกคอประคับประคองไว้เท่านั้น แพทย์เจ้าของไข้ให้ถ้อยคําว่า ปัญหาเรื่องกระดูกสันหลังไม่ใช่เรื่องภาวะฉุกเฉิน
กลุ่มอาการและโรคทางศัลยกรรมกระดูกและข้อ รับฟังว่า แพทย์ผู้ผ่าตัดอาการนิ้วล็อกให้ถ้อยคําว่า การอยู่ในโรงพยาบาลของผู้ป่วยไม่ใช่ปัญหาของด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ บันทึกติดตามอาการของแพทย์ในวันที่ 15 กันยายน 2566 (ห้าวันหลังจากวันผ่าตัดและเป็นวันเดียวกันกับวันที่เขียนใบให้ความเห็นแพทย์) ก็ไม่พบ ภาวะแทรกซ้อนใดๆ ทางศัลยกรรมกระดูกและข้อ เปรียบเทียบกับผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ต้องขังซึ่งมารับบริการในโรงพยาบาลตํารวจแบบผู้ป่วยใน ซึ่งได้รับการรักษาบริเวณนิ้วคล้ายกับผู้ป่วยก็พักรักษาในโรงพยาบาลตํารวจเพียงสองวัน ประกอบกับการให้ความเห็นของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยว่า โดยปกติการผ่าตัดนิ้วล็อกไม่ต้องนอนโรงพยาบาลและไม่ต้องได้รับการผ่าตัดเร่งด่วน
และในส่วนใบแสดงความเห็น แพทย์เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ที่มีการระบุความเห็นแพทย์ไว้ว่า “ต้องรับการผ่าตัดเร่งด่วน เพราะมี อาการปวดรุนแรง มือและแขนอ่อนแรง” วินิจฉัยว่าเป็นการลงความเห็นที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน โดยพิจารณาจาก ความเป็นของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยที่ระบุว่า จากข้อมูลที่ได้มาไม่มีประวัติอาการ ปวดไหล่ขวามาก่อน ต่อมาได้ข้อมูลจากการวินิจฉัยเอ็นหัวไหล่ข้างขวาฉีกขาดจากการตรวจร่างกายและผล ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น rotator cuff tear ซึ่งหากเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเฉียบพลันทางออร์โธปิดิกส์จะจัดว่าไม่ใช่ภาวะเร่งด่วน ซึ่งหากเป็นไปได้ควรทําการผ่าตัดโดยเร็ว แต่ไม่ควรทิ้งไว้เกิน 3 - 6 สัปดาห์ และหากพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดจําเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังการผ่าตัด
มีความเห็นโดยสรุปว่า การออกใบแสดงความเห็นแพทย์ของผู้ถูกร้องทั้งสองใบถือว่ามีข้อมูลทางการแพทย์ ไม่ตรงกับความเป็นจริง รวมทั้งผู้ถูกร้องเป็นประสาทศัลยแพทย์ ไม่ใช่ผู้มีความรู้ความชํานาญทางศัลยกรรมกระดูกและข้อ ซึ่งเป็นโรคที่ได้รับการผ่าตัดในผู้ป่วยรายนี้ จึงไม่ควรลงความเห็นแทนแพทย์ ศัลยกรรมกระดูกและข้อ โดยควรให้แพทย์เจ้าของไข้หรือแพทย์ผู้ผ่าตัดเป็นผู้ลงความเห็น
นอกจากนี้ ผู้ถูกร้องย่อมทราบว่าความเห็นแพทย์ทั้งสองฉบับดังกล่าว เป็นความเห็นแพทย์ที่จะถูกนําไปใช้ประกอบการขอความเห็นชอบสําหรับกรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวนอกเรือนจํานานเกินกว่า 30 วัน และ 60 วันตามลําดับ ผู้ถูกร้องควรระบุความเห็นให้ชัดเจนว่าผู้ป่วยควรพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลาเท่าใด และเหตุผลที่ชัดเจนในการต้องพักรักษาตัว เป็นการให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง มีพิรุธ ทําให้ผู้ป่วยที่เป็นนักโทษสามารถพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนอกเรือนจํานานเกินกว่าที่ควรจําเป็น อาจทําให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้ประโยชน์โดยมิชอบ เป็นการเลือกปฏิบัติ ส่งผลกระทบต่อสังคมและความเชื่อมั่นต่อวงการแพทย์อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ มีความเห็นวีโต้แพทยสภาทั้ง 3 กรณี
สุดท้าย... ทักษิณจะต้องกลับเข้าคุกหรือไม่?
หรือทักษิณจะรอด และได้คำสั่งศาลเป็นตราประทับรับรองความบริสุทธิ์?
ไม่ว่าศาลฎีกาฯ จะพิจารณาแล้วมีคำสั่งอย่างไร ทุกฝ่ายจะต้องเคารพยึดถือคำสั่งนั้น
....จบ...
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี