บ้านเมือง กำลังอยู่ปากเหว...
ประเทศไทยจะจัดการกับภาษีโต้ตอบของสหรัฐอย่างไร? 9 ก.ค.นี้แล้ว รัฐบาลจะช่วยบรรเทาผลกระทบ ลดแรงกระแทก สำหรับคนไทยในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม-เอสเอ็มอี ที่จะได้รับผลกระทบอย่างไร?
ประเทศไทยจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในได้อย่างไร? พ่อค้าแม่ขายรายย่อยยอดขายตกต่ำ เกษตรกรรายได้หดหาย นักท่องเที่ยว ต่างชาติถดถอย การลงทุนจริงๆ ของเอกชนชะงักงัน (มีแต่ยอด BOI) ภาระหนี้รัฐบาลพุ่งกระฉูดใกล้ชนเพดาน ยาเสพติดเกลื่อนเมือง ฯลฯ
ประเทศไทยจะรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงจากกัมพูชาอย่างไร? ฝ่ายฮุนเซนยังเดินหน้าต่อ แถมแบล็กเมล์ทักษิณและลูกสาวได้ทุกวัน คนไทยต้องผวาต่อไปเรื่อยๆ ว่าจะมีอะไรซุกซ่อนหมกเม็ดไว้อีกหรือไม่
ประเทศไทยจะมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ภาคธุรกิจ และต่างชาติ ได้อย่างไร? ไม่ใช่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกหลังปรับ ครม.ก็ต้องรีบปิดหนีสภาล่มเสียแล้ว รัฐบาลสภาพแบบปัจจุบันจะไปขับเคลื่อนอะไรได้? ทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และในชั้นวุฒิสภา
1. ยุบสภาในตอนนี้ ไม่ใช่คำตอบของประเทศ
ขณะนี้ สภาผู้แทนราษฎรมีงานสำคัญคาอยู่ คือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ 2569 วงเงินกว่า 3 ล้านล้านบาท ที่จะต้องลงไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจขณะที่การเลือกตั้งใหม่จะต้องใช้งบฯ กว่า 6,000 ล้านบาท
ประชาชนคนไทยออกมาชุมนุมเรือนหมื่นเรือนแสน เรียกร้องให้นายกฯอุ๊งอิ๊งค์แสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
2. ขณะนี้ นายกฯแพทองธาร มีคดีคาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาด แต่ศาลรัฐธรรมนูญ มติ 7 ต่อ 2 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าจะวินิจฉัยชี้ขาด (2 เสียงก็ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่จำกัดเฉพาะงานความมั่นคง ต่างประเทศ การคลัง) ด้วยปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 160 (4) และ (5)
จากกรณีปรากฏคลิปเสียงอื้อฉาว ที่อาศัยสถานะนายกฯไปสนทนากับฮุนเซน ในลักษณะที่ทำให้ประเทศไทยเสื่อมเสียเกียรติภูมิ ลดทอนศักดิ์ศรีและเกียรติของกองทัพบก และยังแสดงท่าทีโอนอ่อนเข้าร่วมผลประโยชน์เป็นฝ่ายเดียวกับผู้นำต่างชาติที่กำลังเป็นคู่ปรปักษ์ของราชอาณาจักรไทย ซึ่งกำลังข่มขู่คุกคามอธิปไตยแผ่นดินไทย ถึงขนาดบอกว่า “อยากได้อะไรจะจัดให้” –“ไม่อยากให้อังเคิลไปฟังฝ่ายตรงข้ามกับเรา แม่ทัพภาคที่สองเป็นคนของฝ่ายตรงข้ามกับเรา” ฯลฯ
3. ปรากฏว่า นายกฯแพทองธารรู้แล้วว่าตนเองถูก สว.ยื่นคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ รู้ทั้งรู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะประชุมพิจารณา
แต่อาศัยอำนาจในฐานะนายกฯ ปรับครม. โดยแต่งตั้งให้ตนเองดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่ง
ส่อเจตนาเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง โดยต้องการจะให้ตนเองยังคงได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หากแม้นถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะปรากฏเหตุควรสงสัยว่าขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือไม่
4. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง และสั่งนางสาวแพทองธารหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะวินิจฉัยชี้ขาด ด้วยปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง
ปรากฏว่า นายกฯ แพทองธาร ยังบังอาจให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี นำตนเอง (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญญาณต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อเข้ารับหน้าที่ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม” ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 เป็นการกระทำอันบังอาจ อุกอาจ และสุ่มเสี่ยงละเมิดทั้งกฎหมายอาญาแผ่นดิน และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่?
5. เรื่องนี้ สว.ที่เคยยื่นศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคลิปเสียงของนายกฯอุ๊งอิ๊งค์ น่าจะได้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญสำหรับกรณีรัฐมนตรีวัฒนธรรมด้วย เพื่อให้สิ้นกระแสความ
ส่อพฤติการณ์รู้ทั้งรู้ รู้อยู่แก่ใจตนเองว่าตนเองมีปัญหาปมความซื่อสัตย์สุจริต ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง แต่ยังอาศัยสถานะนายกฯ กระทำการปรับ ครม. เพิ่มตำแหน่งรัฐมนตรีวัฒนธรรมให้ตนเอง เพื่อหวังคงตำแหน่งในอำนาจรัฐของตนเองเอาไว้ต่อไป ส่อเจตนาหลบเลี่ยงคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยมีเจตนาเล็งเห็นผลในการรักษาตำแหน่งอำนาจของตนเองและพวก หรือไม่?
ถูกทักท้วง วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ก็ไม่นำพา
แล้วหลังจากถูกศาล รธน.สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังให้รักษาการนายกฯ พาตัวเองที่เป็นนายกฯที่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เข้าถวายสัตย์ในตำแหน่งรัฐมนตรีวัฒนธรรมอีก แล้วจากนั้นก็ปฏิบัติหน้ที่รัฐมนตรีวัฒนธรรมต่อไป
ยิ่งเป็นการตอกย้ำ กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา หรือไม่?
ในฐานะหัวหน้าพรรค จะบานปลายไปถึงพรรคการเมือง กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่? ผลจะเป็นอย่างไร?
ศาลรัฐธรรมนูญเคยยุบพรรคที่กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาแล้ว
6. กรณีนี้ แตกต่างจากสมัยนายกฯ ลุงตู่ อย่างสิ้นเชิง
เพราะอดีตนายกฯลุงตู่ ถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญ และถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในอดีตนั้น คือ ปมดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปีแล้วหรือไม่? ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตำแหน่งนายกฯ โดยตรง
ไม่ใช่เรื่องไม่ซื่อสัตย์สุจริต ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ที่ความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงเหมือนกรณีนายกฯอุ๊งอิ๊งค์ในปัจจุบัน
7. กรณีฝ่ายรัฐบาลใช้วาทะชี้แจงทำนองว่า “เหมือนครูใหญ่ถูกปลด เป็นครูใหญ่ไม่ได้แล้ว ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะเป็นครูน้อยไม่ได้ด้วย มันจะเกินเลยกว่าขอบเขตคำสั่งศาลไป”
ตรรกะนี้ ยิ่งตอกย้ำ ถ้าคิดด้วยสามัญสำนึก ยิ่งควรจะต้องหยุดทุกตำแหน่งหน้าที่สำคัญ
ลองคิดง่ายๆ ถ้ามีครูใหญ่ถูกสอบสวนว่าล่วงละเมิดเด็ก ให้หยุดทำหน้าที่ครูใหญ่แล้ว ถามว่า ยังจะให้ครูใหญ่คนดังกล่าว ไปทำหน้าที่สอนเด็กนักเรียนอยู่อีกหรือ? พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กจะรู้สึกอย่างไร? เหมาะสมหรือไม่? ปลอดภัยหรือไม่?
8. นักกฎหมายนามว่า “ทนายบ้านๆ” ได้อธิบายความไว้อย่างชัดเจน ระบุว่า
“...คำสั่งของศาลตามมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก็มีผลกระทบกระเทือนต่อคุณสมบัติของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้เช่นเดียวกัน
...ตามมาตรา 82 วรรคสองดังกล่าว หากศาลวินิจฉัย ว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร มีสถานะ “ความเป็นรัฐมนตรี”สิ้นสุดลง ย่อมมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ศาลสั่งให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568
การที่มีผลย้อนหลังนี้ จึงทำให้ “คำวินิจฉัย” ของศาลรัฐธรรมนูญ สัมพันธ์กับ “มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนวินิจฉัย”
เจตนาของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นเจตนาที่เล็งเห็นผลว่าอาจเกิดความเสียหายในภายภาคหน้าที่ยากต่อการแก้ไขเยียวยา จึงให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน ดังนั้น หากเป็นความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากคุณสมบัติของคนคนใดคนหนึ่ง
หากคนนั้นไปดำรงตำแหน่งใดก็ต้องหยุดไว้ก่อนทุกตำแหน่ง ไม่ใช่หยุดเฉพาะตำแหน่งนี้ แต่ให้ไปดำรงตำแหน่งอื่นได้
ประการที่สอง ผลกระทบกระเทือนต่อคุณสมบัติของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ต่อมา วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตรถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
สถานะความเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 แต่ถัดมาเพียงวันเดียว คือ วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ความเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ก็ได้รับผลกระทบกระเทือนจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
แม้ว่าที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาลเห็นว่า “ไม่กระทบต่อคุณสมบัติของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร” นางสาวแพทองธาร ชินวัตร สามารถถวายสัตย์ปฏิญาณและสามารถทำหน้าที่ “รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม” ต่อไปได้ แต่น่าจะเป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อน
เพราะศาลรัฐธรรมนูญ “มีเหตุอันควรสงสัยว่า สถานะ “ความเป็นรัฐมนตรี” ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เนื่องมาจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร อาจไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และหรือมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
“ความสงสัยของศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นความสงสัยต่อ “ตัวนางสาวแพทองธาร ชินวัตร” อันเป็นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามที่มีต่อ “ตัวนางสาวแพทองธาร ชินวัตร”
เปรียบได้กับเจ้าของบริษัทเกิดความสงสัยว่าพนักงานคนใดไม่ซื่อสัตย์สุจริตหรือฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เมื่อเจ้าของบริษัทสั่งให้พักงานพนักงานคนนั้นไว้ก่อนแล้ว ต่อจากนั้นก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงหรือสอบสวนความผิด ระหว่างพักงาน เจ้าของบริษัทย่อมไม่กล้าเรียกพนักงานคนนั้นกลับมาทำงานและมอบหมายงานให้กับพนักงานคนนั้นเพิ่มเติมอีก
หากมีเจ้าของบริษัทคนใดเรียกพนักงานที่อยู่ระหว่างพักงานกลับมาทำงานโดยที่การพิจารณาความผิดยังไม่แล้วเสร็จ และมอบหมายการงานให้กับพนักงานคนนั้นเพิ่มเติมอีก ย่อมเป็นเรื่องวิปริตผิดแผกไปจากความรู้ความเข้าใจของปุถุชนทั่วไป..”
9. ทางเลือก ทางออก
หากนางสาวแพทองธารรีบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีเหตุต้องวินิจฉัยชี้ขาดกรณีตามคำร้องต่อไป เพราะพ้นจากตำแหน่งไปหมดแล้ว ทั้งนายกฯ ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม การเลือกนายกฯ คนใหม่ ก็เป็นไปตามกลไกรัฐธรรมนูญ เริ่มจากเลือกในบัญชีนายกฯของพรรคการเมือง
โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลต่อไป ก็ยังคงมีสูงกว่าทุกพรรค หากสามารถเจรจาเริ่มต้นใหม่กับกลุ่มพรรคร่วมเดิมได้สำเร็จว่าจะสนับสนุนใครในบัญชีของกลุ่มพรรคร่วมฯเดิมเป็นนายกรัฐมนตรี
ส่วนพรรคส้ม ไม่มีชื่อนายกฯในบัญชีพรรคแล้ว จึงดิ้นรนจะให้ยุบสภาอย่างเดียว และยังประกาศไว้ชัดเจนก่อนนี้แล้วว่าจะไม่จับมือเป็นรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยในสมัยนี้แน่นอน (ยังคงจะนิรโทษคดี 112 ด้วย)
หากนายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ลาออก ต้องยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยก็ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แม้จะสูญเสียความเชื่อมั่นจากสังคมไปมหาศาลจากกรณีคลิปเสียงและผลงานที่ผ่านมาจึงจำเป็นต้องจะต้องคำนึงถึงเสียงสนับสนุนอย่างมีเสถียรภาพของพรรคร่วมเดิม เพื่อให้มีเสถียรภาพมากกว่าสภาพแบบรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ในปัจจุบัน (ปรับครม.ล่าสุดก็เห็นแล้ว ใช่ว่าพรรคเพื่อไทยได้รัฐมนตรีเพิ่มกว่าเดิม แต่แบ่งให้พรรคร่วมมากขึ้นกว่าเดิม)
เพื่อให้สามารถนำพาบ้านเมืองผ่านสถานการณ์วิกฤตในหลากหลายด้านดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชนให้มากขึ้นกว่าปัจจุบันนี้ให้ได้
จากนั้น ก็ไปให้ประชาชนตัดสินผ่านการเลือกตั้ง เมื่อบ้านเมืองผ่านปากเหวของวิกฤตแล้ว
10. ล่าสุด ไอเอฟดีโพล เผยผลการสำรวจ ช่วง 1 – 3 ก.ค. 2568 ใน 6 ภูมิภาค
ปรากฏว่า ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ไม่เชื่อมั่น/ไม่ค่อยเชื่อมั่น
85.59%
คาดว่า รัฐบาลอยู่ไม่เกิน 3 เดือน 58.03% หนุนยุบสภา-ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ไม่เอารัฐประหารโดยทหาร คุณสมบัตินายกฯ ที่อยากได้ คือ ทำเพื่อประเทศ-ซื่อสัตย์-มีวิสัยทัศน์
ประเด็นใครควรเป็นนายกฯ หากเลือกจากบัญชี
แคนดิเดตพรรค พบว่า
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 29.82%
อนุทิน ชาญวีรกูล 24.77%
ชัยเกษม นิติสิริ 21.56% ฯลฯ
สรุป
การเมืองไม่ใช่การห้ำหั่นกันจนตายตกไปตามกัน ผลักประเทศชาติตกลงสู่หุบเหว ในภาวะวิกฤตระดับโลก แต่คือการหาทางออกจากสถานการณ์เลวร้ายที่สุด เพื่อได้หนทางที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดคงไม่มีใครได้อะไรเต็มร้อยแต่สำคัญ คือ ต้องรักษาประเทศชาติให้รอดจากปากเหววิกฤตขณะนี้ให้ได้
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี