กรณีโครงการก่อสร้างตึกสำนักงาน สตง.มูลค่า 2.1 พันล้านบาท พังถล่มเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว
มีปมคดีหลายประเด็น
คดีพิเศษ ดีเอสไอกำลังสอบสวนประเด็นต่างๆ เช่น มีการใช้นอมินีต่างด้าวหรือไม่? ใช้วัสดุก่อสร้างได้มาตรฐานหรือไม่? ประมูลงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญว่า เหตุใดตึกจึงถล่ม? เป็นอุบัติเหตุ หรือมีการกระทำประมาท บกพร่องร้ายแรง? มีการควบคุมงานก่อสร้างถูกต้องหรือไม่? แบบแปลนมีปัญหาหรือไม่? ผู้รับเหมาทำงานถูกต้องระมัดระวังเพียงพอหรือไม่? สตง.ตรวจรับงานที่ผ่านมาถูกต้องหรือไม่? ฯลฯ
1. การสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการอยู่ใน 3 เรื่อง คือ
พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (นอมินี)
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (ฮั้วประมูล)
และ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
2. ล่าสุด ดีเอสไอได้มีการจับกุมตัวกรรมการไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 โดยจับกุมได้ที่บริเวณที่พักในเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร แจ้งข้อหาคนต่างด้าวประกอบธุรกิจต้องห้ามตามพ.ร.บ.นอมินีฯ
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะ ได้แถลงข่าวจับกุมตัวนายจาง (ZHANG) สัญชาติจีน กรรมการบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นับเบอร์ 10 จำกัด
ตามหมายจับศาลอาญาที่ 2389/2568 ลงวันที่ 18 เมษายน 2568 คดีพิเศษที่ 32/2568 ในข้อหาเป็นคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจซึ่งต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบกิจการ หรือต้องได้รับอนุญาตก่อน และเป็นนิติบุคคลซึ่งรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
2.1 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.สุรวุฒิฯ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 4 ราย ซึ่งผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นคนไทย 3 ราย ส่วนอีก 1 ราย เป็นชาวจีนและนิติบุคคลคือบริษัทไชน่าฯ ที่ถูกจับกุม ในความผิดตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (นอมินี)
จากการสอบสวนพบหลักฐานที่เชื่อได้ว่าบริษัทได้นำคนไทยจำนวน 3 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามตัวไปถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เนื่องจากมีหลักฐานทางการเงิน 2,000 กว่าล้านบาท ที่มีการกู้ยืมกรรมการบริษัทที่เป็นคนจีน เป็นเหตุให้บริษัทดังกล่าวเข้าทำสัญญากับ สตง. ในรูปกิจการร่วมค้า
2.2 ดีเอสไอ เผยว่า ประเด็นการประมูลงานเข้าข่ายการฮั้วประมูลหรือไม่ หากเป็นต่างด้าวอำพรางนอมินีมาร่วมกันทำสัญญากับ สตง. ก็อาจจะเข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 7 คือ เป็นการใช้อุบายหรือกระทำโดยวิธีอื่นใดเพื่อให้ได้งาน ซึ่งการเป็นนอมินีก็จะต้องตรวจสอบว่าเข้าข่ายหรือไม่
2.3 ประเด็นการแก้ไขแบบที่มีถึง 9 ครั้ง ขณะนี้หลักฐานต่างๆ อยู่ระหว่างการขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสัญญาสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ นายจางยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา และบริษัทไชน่าฯ ก็เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง สามารถนำหลักฐานมาชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าทำไมตึก สตง. จึงถล่มและทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็พร้อมจะรับฟังและดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา
3. คดีที่ตำรวจทำ คือ คดีคนบาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหาย
ตำรวจตั้งเรื่องไว้ว่าเป็นความประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
การพิสูจน์ก็อาจใช้พยานหลักฐานในชุดเดียวกัน เช่นเรื่องการคุมงาน และการออกแบบ หรืออาจสืบสวนลึกลงไปว่ามีความเจตนาหรือไม่ ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่ง
4. จะเห็นว่า ประเด็นเรื่องนอมินีในขณะนี้ ยังไม่ใช่การชี้ขาดว่า ตึกถล่มเพราะอะไร
ประเด็นตึกถล่มเพราะอะไร จะต้องรอการตรวจสอบเชิงลึกการทำแบบจำลอง การตรวจสอบวัสดุก่อสร้าง การตรวจสอบแบบแปลน การตรวจสอบการควบคุมงานก่อสร้าง ฯลฯ
ประเด็นเหล่านี้ ไม่ได้มีแต่บริษัทจีนที่เกี่ยวข้องแต่หลักๆ คือ บริษัทไทยทั้งนั้น
หากพบว่า เข้าข่ายกระทำความผิด ก็จะต้องถูกดำเนินคดี ร่วมรับผิดชอบด้วยเช่นกัน
4.1 กิจการร่วมค้าที่รับเหมาก่อสร้าง ประกอบด้วย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาถือเป็นบริษัทหลักด้วยซ้ำ และบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10
สตง.ว่าจ้างก่อสร้างวงเงิน 2.1 พันล้านบาท
ทำไมบริษัทไทย ซึ่งเป็นบริษัทหลักในกิจการร่วมค้าจึงไม่ถูกสปอตไลท์จับเท่าที่ควรจะเป็น
4.2 บริษัท ควบคุมงานก่อสร้าง ตึก สตง.
สตง.ว่าจ้างด้วยวงเงิน 74.65 ล้านบาท กิจการร่วมค้า PKW ได้แก่
บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด
บริษัท ว.และสหายคอนซัลแตนตส์ จำกัด
บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด
ประเด็นปลอมลายเซ็นวิศวกร หรือแอบอ้างชื่อ เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครจะต้องรับผิดชอบ
4.3 บริษัทที่ออกแบบอาคาร สนง.สตง. หลังใหม่
สตง.ว่าจ้างวงเงิน 73 ล้านบาท บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทคและบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด
น่าสังเกตว่า การจะเปลี่ยนแบบ หรือแก้ไขเพิ่มเติมแบบนั้น บริษัทผู้ออกแบบ จะต้องร่วมพิจารณาด้วยหรือไม่และจะต้องมีผู้แทนของ สตง. อนุมัติหรือไม่
4.4 ประการสำคัญ คณะกรรมการตรวจรับพัสดุงานจ้างก่อสร้างฯ และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุงานจ้างควบคุมงานฯ ล้วนแต่มีบุคคลระดับ รองผู้ว่าการ สตง.เป็นประธาน ควรจะต้องถูกตรวจสอบด้วย
งานก่อสร้างรับมอบงานไปแล้ว 22 งวด หากงานถูกต้องครบถ้วน โครงสร้างตึกควรจะแข็งแรงกว่าที่ปรากฏหรือไม่? เพราะอะไรถึงพังถล่ม?
5. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ทำจดหมายเปิดผนึก ถึงนายกรัฐมนตรี
ระบุ ขอให้เร่งรัดและชี้แจงความคืบหน้ากรณีอาคาร สตง. แห่งใหม่ถล่ม
“..ขอขอบคุณที่ในที่สุดทางรัฐบาลได้ออกมาชี้แจงมาตรการ การตรวจสอบและลงโทษกรณีตึก สตง. แห่งใหม่ถล่มเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 แม้ว่าประชาชนทั้งประเทศ รู้สึกผิดหวังกับการที่ท่านนายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจงหลังจากเกิดเหตุไปแล้ว 3 สัปดาห์ และที่ตอกย้ำความผิดหวังมากที่สุดคือ คำแถลงดังกล่าวไม่ได้มีอะไรที่แสดงถึงความตระหนกตกใจถึงประเด็นการโกงกินที่ส่งผลถึงชีวิต ที่สูญเสียและเงินภาษีที่สูญหายไปในพริบตา เป็นเพียงคำแถลงให้มีการตรวจสอบโดยไม่มีการกล่าวถึงระยะเวลา ที่ต้องสรุปข้อเท็จจริงให้กับสังคมโลก
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ขอเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาคำตอบให้ชัดเจน ตามข้อสงสัยดังนี้
1. การออกแบบถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ และใครเป็นคนรับผิดชอบ
2. การควบคุมงาน ใครเป็นวิศวกรและสถาปนิกผู้ควบคุมงานที่แท้จริง และมีการตรวจสอบวัสดุที่ใช้เป็นประจำหรือไม่ (ในสัญญาควบคุมงานระบุว่า ต้องตรวจสอบวัสดุกี่ครั้ง/อย่างไร และได้มีการทำตามขั้นตอนหรือไม่/อย่างไร) ต้องหาคนรับผิดชอบมาลงโทษตามกฎหมาย
3. ผู้รับเหมาได้ทำงานผิดพลาดในการก่อสร้างหรือไม่/อย่างไร ทั้งวิธีการทำงานและวัสดุที่ใช้ และบทลงโทษคืออะไร
4. การที่อาคารถล่มเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันหรือไม่/อย่างไร ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่ต้อง นำตัวมาลงโทษ
5. การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ไม่ให้เกิดการคอร์รัปชัน ใครเป็นคนรับผิดชอบเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียเช่นนี้อีกในอนาคต
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านนายกรัฐมนตรี จะเร่งรัดให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส ดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม และให้ได้คำตอบที่ชัดเจนภายในวันที่ 28 เมษายน 2568 (1 เดือนนับจากวันเกิดเหตุ) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และเสริมสร้างหลักธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น ในภาคราชการ อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ในการบริหารงานของประเทศต่อไป” - นายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
6. การสอบสวนคลี่คลายคดีนี้ จะต้องทำอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นธรรม
อย่าให้มีการโยนบาป ตัดตอนความผิดไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ถ้ามีการบิดเบือนตัดตอน โยนขี้ให้รัฐวิสาหกิจจีน อาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ก่อนหน้านี้ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ตอบคำถามสื่อมวลชน
ถาม: หลายวันมานี้ จากเหตุการณ์อาคารถล่ม ซึ่งบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) มีส่วนร่วมในการก่อสร้างนั้น ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยต่อบริษัทจีนในประเทศไทย ไม่ทราบว่าสถานเอกอัครราชทูตจีนมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?
ตอบ: ความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างจีน-ไทย มีส่วนช่วยในการส่งเสริมการพัฒนาของทั้งสองประเทศ และนำความสุขมาสู่ประชาชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งความร่วมมือด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นส่วนสำคัญของความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย
เมื่อไม่นานมานี้ อาคารที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) มีส่วนร่วมในการก่อสร้างนั้น ได้ถล่มเนื่องจากแผ่นดินไหว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ
เหตุการณ์นี้ได้รับการจับตามองอย่างกว้างขวางจากสังคมไทย และรัฐบาลไทยกำลังดำเนินการสอบสวนเพื่อหาสาเหตุของการถล่มดังกล่าว
ในการนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซีนัมเบอร์เทน (ไทย) ซึ่งบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) มีส่วนร่วม ได้ออกแถลงการณ์ต่อสาธารณชนโดยยืนยันว่า
การจัดซื้อวัสดุและการก่อสร้างอาคารดังกล่าวได้ดำเนินการตามข้อกำหนดในสัญญาโครงการ (ToR) กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรฐานทางวิศวกรรม และหลักปฏิบัติทางวิศวกรรม
ที่ดีอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของโครงการ
ขณะนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซีนัมเบอร์เทน(ไทย) กำลังให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับรัฐบาลไทยในการสอบสวน และเชื่อว่าผลการสอบสวนจะให้ข้อสรุปที่เป็นวิทยาศาสตร์และยุติธรรม
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทจีนจำนวนมากได้ตอบรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทย และเข้ามาลงทุนและดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งได้นำมาซึ่งโอกาสการจ้างงานหลายแสนตำแหน่ง ฝึกอบรมบุคลากรด้านเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นจำนวนมาก และมีส่วนสนับสนุนอย่างสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างรายได้ภาษีกับประเทศไทย
นอกจากนี้ บริษัทจีนเหล่านี้ยังมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแข็งขัน ทั้งในด้านการช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติและดำเนินกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์ทางสังคม ฝ่ายจีน
สนับสนุนให้มีการตรวจสอบและดำเนินคดีกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบางบริษัทตามกฎหมาย แต่ก็คัดค้านการใส่ร้ายป้ายสีและบิดเบือนข้อเท็จจริงกับบริษัทจีน
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี