ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นปัญหาใหญ่ มหึมา และซับซ้อน หลายมิติ
เจ้าหนี้นอกระบบ ส่วนใหญ่คือคนที่ชาวบ้านเคยวิ่งไปขอความช่วยเหลือเขายามเดือดร้อน
ลูกหนี้นอกระบบ ส่วนใหญ่ก็มักจะมีหนี้ในระบบอยู่ด้วยแล้วอีกก้อนมหึมา
โดยรวม จะต้องแก้หนี้สินด้วย แก้ปัญหาอิทธิพลด้วย แก้ปัญหาวินัยการเงินด้วย สร้างรายได้ด้วย ฯลฯ
งานแก้หนี้นอกระบบ จึงเรียกได้ว่า เป็นงานโคตรหิน
1. เมื่อวานนี้ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน รมว.คลัง พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ รมว.มหาดไทย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง และ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าววาระแห่งชาติ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
นับเป็นเรื่องท้าทายมาก
ครั้งนี้ นายกฯ เศรษฐาใช้คำเลิศหรูอลังการถึงขนาดประกาศว่า
“หนี้นอกระบบถือว่า เป็น Modern World Slavery เป็นการค้าทาสในยุคใหม่ที่ได้พรากอิสรภาพ ความฝัน ไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้”-นายกฯเศรษฐากล่าว
ถึงขนาดนี้ นายกฯ จะต้องคุมงานแก้ปัญหาด้วยตนเอง ถ้าทำสำเร็จ ก็เป็นผู้นำที่มีความสามารถ
แต่ถ้าล้มเหลว ก็จะได้ยอมรับว่าผู้นำไร้น้ำยา
หวังว่า นายกฯเศรษฐาจะไม่ทำเหมือนหลายๆ เรื่อง คือ เล่นบทสั่ง สั่ง สั่ง แล้วก็โวยวายออกสื่อ
ผู้นำประเทศ จะต้องคอยสนับสนุนการทำงานของผู้รับมอบนโยบายไปด้วย
2. ตามแนวทางที่นายกฯ แถลงเมื่อวานนี้ สรุปง่ายๆ คือ ตำรวจกับมหาดไทย ทำงานร่วมกัน สำรวจข้อมูล และดำเนินการไกล่เกลี่ย
จากนั้น ขั้นตอนปรับโครงสร้างหนี้ กระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน
ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย จะใช้เครือข่ายและกลไกการทำงานที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ดำเนินการผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและระดับอำเภอ
นายอำเภอจะมีบทบาทในฐานะประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ยร่วมกับพี่น้องประชาชนในนามคณะผู้ไกล่เกลี่ย ดำเนินการให้คู่พิพาททำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ตามเงื่อนไขของหลักกฎหมาย
ในส่วน สตช. รับผิดชอบบังคับใช้กฎหมาย การทวงหนี้ที่รุนแรง ป้องปราบอิทธิพลมืด
จะช่วยปรับระยะเวลา เงื่อนไข และ กระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้หนี้ได้ ไม่เบียดบังการใช้ชีวิต
ในส่วนกระทรวงการคลัง จะดูแลลูกหนี้นอกระบบ ภายหลังที่ปรับโครงสร้างหรือไกล่เกลี่ยกันเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีธนาคารของรัฐดูแล อย่างธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.
3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ มท.1 ระบุชัดเจนว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น กระทรวงมหาดไทยจะทำงานร่วมกันทำงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โดยความร่วมมือกันระหว่างนายอำเภอและผู้กำกับสถานีตำรวจ
ตั้งแต่การช่วยเหลือลูกหนี้ การไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาท การเฝ้าระวังและป้องกัน รวมถึงการปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด
นอกจากนี้ จะมีการประสานเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบไม่ซ้ำซ้อนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน
“กระทรวงมหาดไทย ขอเชิญพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหา “หนี้นอกระบบ” ไม่ว่าจะเป็นการถูกข่มขู่คุกคาม ถูกดูหมิ่น ในการทวงถามหนี้ ถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม
หรือท่านที่มีความประสงค์จะปรับเปลี่ยน แก้ไขหนี้จากนอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบ
สามารถลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบได้ที่ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ณ ศาลากลางจังหวัดทุกแห่ง และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง
โดยในส่วนของกรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง
เพื่อที่กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน นำไปสู่การบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้แก่พี่น้องประชาชนทุกราย
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ยังคิดถึงลูกหนี้บางรายที่บางท่าน ยังมีความหวั่นเกรง ความเกรงกลัวผู้มีอิทธิพล กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ปกครองได้ออกไปทำการสำรวจด้วยตนเองด้วย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่ากระทรวงมหาดไทยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง”
รองนายกฯ อนุทินฯ กล่าว
4.ปัญหาหนี้ กฎหมายและแนวทางที่ลุงตู่วางไว้ เพื่อปลดหนี้
คุณทิพานัน ศิริชนะ ได้เล่าถึงปัญหาหนี้ กฎหมายและแนวทางที่ลุงตู่วางไว้เพื่อปลดหนี้ ระบุว่า
“...ที่ผ่านมารัฐบาลลุงตู่ ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 3.95 ล้านบัญชี ยอดภาระหนี้ 2.98 ล้านล้านบาท (รายงานข้อมูลภาพรวมการช่วยเหลือลูกหนี้ จาก ธปท. ณ 31 ต.ค. 2565)
การแก้ไขหนี้ #ที่รัฐบาลลุงตู่ได้วางรากฐานไว้ หลายเรื่องสำเร็จด้วยดีบางเรื่องวางพื้นฐานกฎหมายไว้เพื่อต่อยอดและเดินหน้าแก้ไขได้ง่ายขึ้น เช่น
1. (เริ่มปี’58) ออก พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ คุ้มครองสิทธิลูกหนี้จากการทวงหนี้โหด
2. (เริ่มปี’59) พิโกไฟแนนซ์ แก้ปัญหาเงินกู้นอกระบบ ด้วยช่องทางเข้าถึงแหล่งเงิน (มี/ไม่มีหลักประกันก็ได้) เป็นธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับกระทรวงการคลัง
3. (เริ่มปี’60) คลินิกแก้หนี้ แก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน/ช่วยปลดภาระหนี้สินด้วยความสมัครใจ/แก้ไขปัญหาหนี้แทนเจ้าหนี้สถาบันการเงินของลูกหนี้อย่างครบวงจร
4. (ปี’60) ออก พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 (แก้ไขฉบับเดิม พ.ศ. 2475) ทำให้ข้อตกลงในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิน 15% ต่อปีถือเป็นโมฆะ ลูกหนี้ไม่ต้องจ่ายในส่วนดอกเบี้ย และเพิ่มโทษเจ้าหนี้ที่คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา คุ้มครองลูกหนี้เงินกู้นอกระบบได้ดีขึ้น
5. (ปี’60) แก้กฎหมาย ป.วิแพ่ง ม.302 ให้เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่น รวมกันไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท ของลูกหนี้จะถูกอายัดเพื่อบังคับคดีไม่ได้ (จากเดิมกำหนดไว้ที่ 10,000 บาท)
6. (ปี’64) แก้ไขกฎหมายดอกเบี้ยใน ปพพ. ปฏิวัติอัตราดอกเบี้ยในรอบ 100 ปี จาก 7.5% เหลือเพียง 3% ต่อปี และการคิดดอกเบี้ยที่เป็นธรรมระหว่างผิดนัด เพื่อสร้างความเป็นธรรรม ลดภาระหนี้ให้ลูกหนี้
7. (ปี’65) ออกกฎหมายให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ทำให้
- อัตราดอกเบี้ยจะต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี หรือ Effective Interest Rate
- เพดานสูงสุดสำหรับรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกิน 10% ต่อปี/รถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกิน 15% ต่อปี/รถจักรยานยนต์ไม่เกิน 23% ต่อปี
8. (ม.ค.2566) กระทรวงศึกษาฯลงนาม MOU แก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาร่วมกับ 12 หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง (ต่อยอดจากโครงการเดิมที่ช่วยเหลือและปรับโครงสร้างหนี้ให้ครูกว่า 15,000 คน ที่เข้าร่วมโครงการไปแล้วมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท)
9. (พ.ค. 2566) แก้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรม/ที่อยู่อาศัย กรณี เจ้าหนี้อิดออดไม่ยอมให้ไถ่ถอน/รับชำระหนี้แล้วแต่ไม่คืนโฉนด
- ไถ่ถอนที่ดินได้เลยโดยวางเงินที่ สนง.ที่ดิน
- รับใบแทนโฉนดเมื่อพ้น 30 วันแล้วเจ้าหนี้ไม่ยอมมาไถ่ถอนให้
10. (ก.ค. 2566) คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ทำ 7 แนวทางแก้ปัญหาหนี้สิน ได้แก่ ช่วยลูกหนี้ กยศ./ไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้โดยกลไกศูนย์ดำรงธรรมและอำเภอ, สนง.ยุติธรรมจังหวัด/ปรับปรุงอัตราดอกเบี้ย-กำกับดูแลสถาบันการเงิน/เช่าซื้อรถยนต์/ แก้ไขหนี้สินข้าราชการ/ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม/แก้ไขข้อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
ทั้งหมดนี้คือกลไกสำคัญที่จะเป็นรากฐานแก้ไขหนี้ในอนาคตได้....และสิ่งเหล่านี้คือความตั้งใจแก้ไขและมีความปรารถนาดีต่อประชาชนทุกคน”
-ทิพานัน ศิริชนะ
5. ปัจจุบัน ปัญหาหนี้นอกระบบยังดำรงอยู่ และยังหนักหน่วง
ถ้ารัฐบาลลุงตู่ไม่ทำอะไรเลย ปัญหาจะหนักกว่านี้ มากกว่านี้ รุนแรงกว่านี้แน่นอน
ปัจจุบัน มีเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ได้เลย (สร้างไว้สมัยรัฐบาลลุงตู่)
เชื่อว่า รองนายกฯ อนุทิน เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลลุงตู่ ย่อมจะเข้าใจปัญหาและรู้ดีว่าควรจะสานต่อตรงไหน ปรับแก้ตรงไหน ใช้เครื่องมือไหน
ปัญหานี้ เป็นปัญหาชาวบ้าน ไม่ใช่ปัญหาขัดแย้งการเมือง ขอเอาใจช่วยการแก้ปัญหาให้ลุล่วงมากที่สุดโดยเร็ว
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี