การเจริญกรรมฐานขั้นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานขั้นตอนแรกซึ่งต่อเนื่องจากขั้นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานขั้นสุดท้ายที่กายสังขารสงบรำงับ กำลังของสมาธิยกระดับขึ้นเป็นอุปจารสมาธิคือสมาธิเฉียดฌาน การปรุงแต่งทางกายสงบรำงับลงองค์ฌานทั้งห้าก็ปรากฏขึ้นอย่างเบาบาง
แต่ปัญหาใหญ่ก็คือมายาหรือนิมิตที่เคยเกิดขึ้นในระดับกายก็เกิดขึ้นในระดับเวทนาหรือในระดับการปรุงแต่งจิตดังที่ได้พรรณนามานั้น
มายาดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนประณีต และโดยทั่วไปจะมีลักษณะไปในทางเดียวกัน คือความสุข ความสบาย ความเบิกบาน ความโปร่งใส ความสว่าง ชนิดที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ดังนั้นจึงทำให้ติดยึดกระทั่งหลงผิดคิดว่าเป็นผลจากการเจริญกรรมฐาน กระทั่งจำนวนไม่น้อยหลงผิดคิดว่าได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว
ดังนั้นอย่าได้ดูหมิ่นดูแคลนว่าเป็นเรื่องเล็ก โดยเฉพาะผู้เจริญกรรมฐานวิธีอื่นที่ไม่ใช่อานาปานสติ ซึ่งจะมีจุดสูงสุดอยู่ที่การทำกายสังขารให้สงบรำงับ โดยมิได้ระบุการปฏิบัติในขั้นที่สูงกว่า ดังนั้นเมื่อประสบพบกับมายาเช่นนั้นแล้ว โดยทั่วไปก็จะหลงผิดพออกพอใจมีความยินดีติดยึดอยู่ในมายาเหล่านั้น เห็นเป็นของวิเศษ เป็นของเหนือโลก กระทั่งลำพองทะนงตนว่าบรรลุมรรคผลไปแล้ว
ก็เพราะมายาที่พบที่เห็นนั้นก็พบเห็นอยู่จริงๆ แต่อาจจะไม่รู้ว่าที่เห็นนั้นไม่จริงจึงหลงติดยึดไป นี่คือปัญหาใหญ่ของผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติกรรมฐานวิธีอื่นที่ไม่ใช่อานาปานสติ ถ้าจะกล่าวโดยไม่เกรงใจก็อาจจะกล่าวได้ว่าเรื่องนี้ใหญ่โตมาก ที่จะทำให้บางคนหลงผิดและติดยึดไปจนตายซึ่งเป็นการตัดหนทางมรรคผลนิพพานอันจะพึงมีพึงได้ หากปฏิบัติให้ถูกต้องอีกสักหน่อยเดียวเท่านั้น
ผู้เจริญกรรมฐานแบบอานาปานสติจะมีข้อได้เปรียบจากการเจริญกรรมฐานแบบแผนอื่นเพราะได้รู้แผนที่ล่วงหน้าแล้วว่าการเจริญกรรมฐานนั้นเมื่อผ่านขั้นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้วก็ไม่ใช่จุดสูงสุดสุดท้าย ยังจะต้องมีขั้นตอนปฏิบัติอีกหลายขั้นคือ ขั้นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานอีกสี่ขั้นย่อยจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานอีกสี่ขั้นย่อย และต้องเจริญปัญญาคือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานอีกสี่ขั้นย่อยจนกระทั่งถึงซึ่งความหลุดพ้น ถึงซึ่งภาวะวิชชาและวิมุตติ
ถึงภาวะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ว่าวิราคา วิมุจจะติ วิมุตตัสสมิง วิมุตตะมิติ ญาณังโหติ ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่าเมื่อจิตหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลายซึ่งหมายถึงความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้าแล้ว ก็จะมีญาณหยั่งรู้เองว่าได้หลุดพ้นออกไปแล้ว ซึ่งถึงภาวะที่เรียกว่าวิมุตตะมิติแล้ว นั่นคือบรรลุมรรคผลที่สุดได้แก่พระนิพพานนั่นเอง
ดังนั้นผู้ปฏิบัติทั้งหลายจึงไม่พึงติดยึดหลงอยู่กับมายาหรือนิมิตในขั้นนี้ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงซึ่งขั้นตัดมรรคผลนิพพานกันทีเดียว อย่าทำเป็นเล่นไป
พระสงฆ์บางรูปที่ดูเหมือนบรรลุมรรคผลขั้นสำคัญแล้ว แต่วาจาสามหาว หยาบคาย พูดจาดูหมิ่นเหยียดหยามคนอื่น พูดคำหยาบ ซึ่งไม่เป็นแก่นสารแก่เรื่องราวที่จะพูดนั่นแหละคืออาการอย่างหนึ่งของผู้ที่หลงแบบนี้และมีให้เห็นอยู่ทั่วไป จึงเป็นเรื่องที่ประมาทหรือดูแคลนไม่ได้
ดังนั้นเมื่อรู้เท่าทันมายาคติที่เกิดขึ้นตามธรรมดาธรรมชาติด้วยความรู้เท่าทัน ในทันทีที่กายสังขารสงบรำงับ มายาคตินั้นก็จะไม่สามารถหลอกหลอนให้ติดยึดหลงผิดได้อีกต่อไป การปรุงแต่งจิตจากมายาเหล่านั้นก็จะไม่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติอีกต่อไป
ประการสำคัญคือภาวะแห่งการรู้เท่าทันมายาคตินั้น โดยผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติที่แท้จริงก็คือได้เข้าใจ ได้สัมผัส และได้เห็นอย่างชัดเจนว่ามายาคตินั้นก็ไม่ใช่เรื่องจีรังยั่งยืนอะไร เป็นเรื่องประเดี๋ยวประด๋าว มีลักษณะเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่แล้วก็หายไปเป็นธรรมดา และเมื่อรู้เท่าทันเห็นชัดเจนขึ้นโดยลำดับก็จะเกิดความเบื่อหน่ายขยะแขยง และเมื่อนั้นมายาเหล่านั้นก็จะหายไป หรือดับไปเป็นธรรมดา ซึ่งแสดงว่าการปฏิบัติได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง
แต่ทว่าบางกรณีหรือบางคนก็สามารถปฏิบัติก้าวรุดหน้าไปโดยไม่มีมายามาหลอกหลอนข้องแวะให้วุ่นวาย ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นบุญเป็นกุศลหรือเป็นภาวะจิตของท่านผู้นั้นที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญกรรมฐานให้มีความก้าวหน้าและต้องถือว่าเป็นผู้ที่มีบุญมากซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อย
และเมื่อมายาเหล่านั้นดับหายไปแล้ว เมื่อนั้นองค์ฌานทั้งห้าก็จะปรากฏชัดขึ้น โดยจิตจะทำหน้าที่ของจิตสามอย่างแห่งองค์ฌาน คือ วิตกวิจาร และเอกัคคตารมณ์ ส่วนอารมณ์ที่จะบังเกิดขึ้นในองค์ฌานมีอยู่โดยธรรมชาติสองอย่างคือ ปีติและสุข ทั้งห้าประการนี้แหละเรียกว่าองค์แห่งฌานทั้งห้า
กล่าวสรุปก็คือในองค์ฌานทั้งห้าที่ก่อตัวขึ้นนั้นเป็นส่วนของการทำหน้าที่ของจิตสามประการหรือสามองค์ คือเอกัคคตารมณ์ วิตก และวิจาร และมีสิ่งที่ปรุงแต่งจิตปรากฏให้เห็นชัดขึ้นตามธรรมชาติสองประการคือปีติและสุข
โดยปีตินั้นจะเห็นเด่นชัดก่อนเพราะกระโชกโฮกฮาก โดดเด่น ซ่ายิ่งกว่าสุข เหตุนี้จิตที่ทำหน้าที่สามประการนั้นจึงเพ่งพิจารณากับปีติก่อน
เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสแนวทางปฏิบัติหรือในการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานขั้นที่หนึ่งว่ากำหนดรู้ปีติหายใจออกกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า
ซึ่งหมายความว่าทำการพิจารณาศึกษากำหนดรู้เกี่ยวกับปีติในทุกลมหายใจเข้า-ออก ในทุกแง่ทุกมุม ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏและประกอบขึ้นเป็นปีติ ตลอดจนภาวะที่ปีติปรุงแต่งจิตว่าเป็นอย่างไร นี่จึงกล่าวว่าเป็นการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานขั้นที่หนึ่ง คือกำหนดรู้ปีติทุกลมหายใจเข้า-ออกนั่นแล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี