ในห้วงเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่าน สื่อตะวันตกปั่นกระแสสงครามกลางเมืองในเมียนมา ให้ดูเหมือนกับว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา กลุ่มชาติพันธุ์ยึดเมืองสำคัญๆ ได้ครึ่งค่อนประเทศ และฝ่ายต่อต้านกลุ่มชาติพันธุ์ประสานงานการรุกรบกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People Defense Force =PDF) ที่สหรัฐและตะวันตกสนับสนุน จัดตั้งขึ้นมาพร้อมๆ กับรัฐบาลเงาเมียนมา ที่เรียกว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ เอ็นยูจี (National Unity Government=NUG) มีความก้าวหน้า มีทีท่าจะยึดเนปิดอว์ เมืองหลวงประเทศเมียนมาได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ภาพที่สื่อตะวันตก โดยเฉพาะฝ่ายปฏิบัติการข่าวสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุเอเชียเสรี สำนักข่าววีโอเอหรือ Voice Of America และสื่อตะวันตกในเครือข่ายสร้างภาพขึ้นมาว่า พีดีเอฟกับแนวร่วมกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เปิดฉากรุกรบครั้งใหญ่ยึดพื้นที่ในเขตซะไกง์ ในรัฐชินใกล้ชายแดนอินเดียและในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของเมียนมาได้ นอกจากนั้น ฝ่ายต่อต้านยังยึดเมืองใหญ่ในรัฐคะยาใกล้ชายแดนไทยได้อีก
ที่สำคัญ กองกำลังพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยเมียนมา อันประกอบด้วยชาติพันธุ์โกก้าง อาระกันและชาติพันธุ์ปะลอง ยึดเมืองสำคัญๆ ทางเหนือของรัฐฉานได้โดยเฉพาะเมืองเล่าก์ก่าย ซึ่งเป็นเมืองเถื่อนศูนย์กลางการค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ บ่อนการพนันออนไลน์ เล่าก์ก่ายยังเป็นกองบัญชาการใหญ่ของขบวนการหลอกลวงต้มตุ๋นที่คนไทยส่วนใหญ่เรียกว่า “คอลเซ็นเตอร์”
เล่าก์ก่าย เป็นเมืองที่อยู่ในเขตอิทธิพลโก้ก้าง ตั้งแต่ปี 2530 เป็นแหล่งค้ายาเสพติดใหญ่แห่งหนึ่งในเมียนมาที่กองทัพรัฐบาลเข้าไปไม่ถึง หรือไม่ตั้งใจเข้าไปกวาดล้าง เล่าก์ก่าย เหมือนกับพื้นที่ต่างๆ ตอนใต้ของรัฐฉานและสามเหลี่ยมทองคำ ที่กองทัพเมิงไต อาร์มี่ (Mongtai Army) ของขุนส่า และ กองกำลังชาติพันธุ์ว้า (United Wa State Army) แย่งพื้นที่เส้นทางค้าฝิ่น เฮโรอีน ยาบ้ากัน เล่าก์ก่าย ก็เหมือนกับปางซางทางเหนือของรัฐฉาน และ (Homong) หัวเมือง ทางใต้ของรัฐฉานที่อยู่ใต้อิทธิพลการบริหารของราชายาเสพติด
ปี 2552 สมัยที่พลโทมิน อ่อง หล่าย เป็นผู้บัญชาทหารเมียนมาภาคเหนือรัฐฉาน ได้เกิดการแตกแยกขัดแย้งขึ้นเมืองเล่าก์ก่าย เวลานั้นนาย Peng Jiasheng เป็นหัวหน้าทหาร และผู้บริหารเล่าก์ก่าย ทหารเมียนมาส่งกำลังเข้าไปปราบปรามในช่วงจังหวะที่โกก้างแตก เป็นสองฝ่ายนาย Peng Jiagsheng พ่ายแพ้นำนักรบโกก้างกลุ่มหนึ่งหนีลี้ภัยเข้าไปลี้ภัยในประเทศจีน ทหารเมียนมาร่วมกับโกก้างที่ยึดเมืองได้ก็บริหารร่วมกันเล่าก์ก่าย ต่อมา ส่วนนักรบโกก้างก็แปลงร่างเป็นกองกำลังรักษาดินแดนร่วมกับทหารเมียนมา
กระทั่งเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์กองกำลังแนวร่วมเพื่อประชาธิปไตยเมียนมาและปฏิบัติการ 2017 ขึ้นมา Peng Daxun ลูกชาย Peng Jianheng ผู้ล่วงลับนำกองกำลังแนวร่วมเพื่อประชาธิปไตยเมียนมายึดเมืองเล่าก์ก่ายได้อย่างง่ายดาย
โกก้างยึดเมืองเถื่อนคืนจากโกก้างได้กลายเป็นภาพลวงตาที่นักวิเคราะห์ตาบอดคลำช้างมองว่ากองทัพเมียนมาอ่อนแอลงทหารเมียนมาถอดใจไม่สู้รบซึ่งอาจนำไปสู่ฝ่ายต่อรัฐบาลทหารโค่นล้มรัฐบาลทหารพลเอกมินอ่อง หล่าย ลงได้ในไม่ช้า แต่หากพิเคราะห์จากความเป็นจริง และเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ จะพบว่าทหารเมียนมาแทบไม่มีส่วนร่วมกับการสู้รบที่ชาติพันธุ์ทำสงครามเพื่อยึดพื้นที่คืน และมีปัจจัยจีนเกี่ยวข้องทำให้กองทัพเมียนมาปล่อยโกก้างเหิมเกริมชั่วคราว เนื่องจากทหารเมียนมารู้ว่าอีกไม่นานแนวร่วมเพื่อประชาธิปไตยเมียนมาต้องแตกแยกกันเองถึงวันนั้นก็ขับไล่โกก้างออกไปได้อีก
ประสบการณ์การทำข่าวสงครามกลางเมืองในประเทศเมียนมาและคลุกคลีกับกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมากว่ายี่สิบปีพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา ส่วนใหญ่สู้รบยึดครองพื้นที่เพื่อผลประโยชน์ในเขตอิทธิพลของตนเองเท่านั้น มีน้อยกลุ่มเต็มทีที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไปจนถึงโค่นล้มรัฐบาล
ในบรรดาชนกลุ่มน้อย หรือ กลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ๆที่ผู้เขียนเข้าไปทำข่าวและสัมภาษณ์ผู้นำมาตั้งแต่ปี 2524 ถึง 2545 อาทิ ชาติพันธุ์ฉาน (ไตใหญ่) นำโดย ขุนส่า,ชาติพันธุว้า นำโดย อ้าย เสี่ยวสือ กับ เต้ กุงหมิง, ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเคเอ็นยู นำโดย นายพลโบเมียะ และ กองกำลังมอญกู้ชาติ นำโดย ไนง์ สเวฉิน ชาติพันธุ์ที่กล่าวถึงในยุคนั้นล้วนเป็นรัฐกันชนให้ประเทศไทย ผู้สื่อข่าวที่เข้าถูกช่องทาง จึงเข้าถึงกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ได้ง่าย และในห้วงเวลาที่คลุกคลีกับกลุ่มชาติพันธุ์จึงพบว่าชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการยึดครองพื้นที่อิทธิพลเพื่อผลประโยชน์จากจุดนั้นๆ
กลุ่มชาติพันธุ์ว้า กับชาติพันธุ์ฉาน ที่นำโดยขุนส่าใช้เวลาส่วนใหญ่ทำสงครามครอบครองเส้นทางยาเสพติด ผู้เขียนเคยไปทำข่าว กองทัพเมิงไตอาร์มี ของขุนส่า รบกับทหารว้า ที่ดอยลางและดอยสามเส้าในเมียนมา ตรงข้ามอำเภอแม่อาย เชียงใหม่ หลายครั้งพบว่าทั้งสองฝ่ายผลัดกันยึดพื้นที่ไป-มาอยู่หลายปี ไม่เคยมีสักครั้งที่เห็นทหารขุนส่าและทหารว้ารบกับทหารเมียนมา หลังจากขุนส่ามอบตัวกับรัฐบาลเมียนมาในปี 2539 ชาติพันธุ์ฉานก็แบ่งแยกออกเป็นสี่กลุ่ม และส่วนใหญ่สู้รบกันเองเพื่อแย่งชิงพื้นที่ยึดครอง ฉานสองกลุ่มตกลงหยุดยิงกับเมียนมา
กะเหรี่ยงเคเอ็นยู ได้ชื่อว่า แข็งแกร่งที่สุดในยุคนั้นมีทหารกว่าสามหมื่นคน มีกองบัญชาการใหญ่ที่“มาเนอร์ปลอ” ตรงข้ามอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก กะเหรี่ยงเคเอ็นยู เคลื่อนไหวอยู่ในเขตอิทธิของตัวเอง และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ต่างประเทศรวมทั้งกะเหรี่ยงในประเทศไทย ปี 2532 นักศึกษาเมียนมาหลายพันคนหนีตายจากการปราบคณะรัฐประหารของนายพลซอ หม่อง มาพึ่งใบบุญนายพลโบเมียะ
เมื่อมีนักศึกษาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นับพันคนมาอยู่ด้วย ประเทศตะวันตก นำโดยสหรัฐก็ระดมปัจจัยช่วยเหลือสนับสนุนเคเอ็นยู
นักศึกษาเมียนมา ได้จัดตั้งกองกำลังนักศึกษาแนวหน้าเพื่อประชาธิปไตยขึ้นมาในค่ายกะเหรี่ยงเคเอ็นยูเมื่อมีเงินสนับสนุนจากตะวันตกเข้ามา นักศึกษาเมียนมา ก็แตกออกเป็นหลายกลุ่ม อาทิ นักศึกษาแนวหน้าเพื่อประชาธิปไตย นักศึกษาเมียนมาคริสต์ นักศึกษาพุทธเพื่อประชาธิปไตย และไม่นานหลังจากนั้น กะเหรี่ยงเคเอ็นยูก็เกิดขบถภายในแตกแยกออกเป็นกะเหรี่ยงคริสต์ กะเหรี่ยงพุทธ และหลังจากค่ายมาเนอร์ปลอแตกในปี 2545 กะเหรี่ยงแตกออกเป็นสี่กลุ่มสองกลุ่มอยู่เข้ากับรัฐบาลเมียนมาอีกสองกลุ่มกระจัดจายอยู่ตามพื้นที่ใกล้ชายแดนไทย
กองกำลังชาติพันธุ์อื่นๆไม่ว่าจะเป็นมอญ กะฉิ่นโกก้าง ปะโอ อาระกัน ล้วนแต่แตกแยกออกเป็นหลายกลุ่มหลายฝ่ายเนื่องจากจัดสรรผลประโยชน์กันไม่ลงตัว ชาติพันธุ์ในเมียนมาส่วนใหญ่จึงสู้รบเพื่อยึดครองพื้นที่ ไม่ใช่สู้รบเพื่อเอกราชหรือโค่นล่มรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หลังจากทหาร นำโดย พลเอกมิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจพรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มชาติพันธุ์ที่ล่มสลายไปแล้ว และกระจัดกระจายอยู่ตามชายแดนไทย-เมียนมา ได้รับการกู้ชีพฟื้นฟูขึ้นมาโดยซีไอเอและประเทศตะวันตก ที่อุปโลกน์ชาติพันธุ์เหล่านั้นให้เป็นนักรบเพื่อประชาธิปไตย เป็นนักรบแนวร่วมของเอ็นยูจีและพีดีเอฟ เพื่อโค่นล้มรัฐบาลทหารเมียนมา จึงได้เกิดภาพลวงตา ให้นักวิเคราะห์ตาบอดคลำช้างเข้าใจว่ารัฐบาลทหารและกองทัพเมียนมาอยู่ในภาวะเพลี่ยงพล้ำอาจถึงขั้นถูกคว่ำในไม่ช้าไม่นาน
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี