แนวหน้า มั่นคง ตรงไป ตรงมา...■■ เมื่อรู้จักพิจารณาการกระทำของตนด้วยหลักเหตุและผลดังกล่าวนั้นแล้ว การกระทำก็น่าจะไม่มีผิดพลาด แต่ความจริง ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป มักจะยังมีความผิดพลาดอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะธรรมดาทุกคนย่อมมีอคติได้ อคตินั้นเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้มองไม่เห็นทาง เพราะลำเอียงเข้าข้างตัว ด้วยอำนาจความรักบ้าง ความชังบ้าง ความหลงใหลบ้าง เมื่อเกิดอคติแล้วก็จะทำให้สับสนในเหตุและผล ไม่ทำตามเหตุผล และเมื่อไม่ทำตามเหตุผล ความผิดพลาดก็ต้องเกิดขึ้น... (ความตอนหนึ่งจากพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2519)...
■■ มีการวิเคราะห์โดยคอการเมืองไทยว่า รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ภายใต้การบงการของนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร จะไม่มีวันอยู่ในตำแหน่งได้ครบ 4 ปี เพราะแค่เพียงระยะเวลาไม่ถึงปี ยังพบว่ามีความโกลาหลยุ่งขิงจนหาความสงบภายในรัฐบาลไม่ได้ ภาพความไม่สงบราบรื่นของรัฐบาลปรากฏให้เห็นชัดจากการที่เศรษฐา ต้องบินไปโน่นไปนี่ตลอดเวลา เพราะว่าเศรษฐาไม่มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินโดยแท้จริง ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีแล้วยุ่งวุ่นวาย ก็เกิดมาจากอิทธิพลเหนือรัฐบาลของนักโทษชายทักษิณ ประกอบกับการที่นักโทษชายทักษิณต้องการจะมีสถานะเป็นตัวแสดงหลักของการเมือง จึงแทรกแซงรัฐบาลในทุกเรื่องทุกราว ตั้งแต่การโยกย้ายรัฐมนตรี การจุ้นจ้านเรื่องการเมืองระหว่างประเทศว่าด้วยเมียนมาและมาเลเซีย ผสมกับความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรครวมไทยสร้างชาติ และความพยายามหักหน้าพรรคภูมิใจไทย เรื่องกัญชาเสรี ขอบอกว่าความโกลาหลในรัฐบาลจะปรากฏภาพชัดมากขึ้นเป็นลำดับนับจากวันนี้เป็นต้นไป แต่นักโทษชายทักษิณจะยังต้องแสดงอิทธิฤทธิ์ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับบ้านได้ และหนุนส่งให้ แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีให้จงได้ ส่วนเรื่องรัฐประหารครั้งใหม่นั้น ก็ขอให้อดใจรอดูกันต่อไป แต่คอการเมืองบอกตรงกันว่า มาแน่ หากการเมืองไทยยังยุ่งโกลาหลไม่จบไม่สิ้น...
■■ การที่นักการเมืองจำพวกที่จงใจล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ อ้างว่ามาตรา 112 เป็นต้นเหตุของการตายของบุ้ง ทะลุวัง เป็นเพียงการโยนความผิดให้กับข้อกฎหมาย แล้วก็ยังดูเสมือนว่าไม่รับผิดชอบต่อการตายของบุ้ง ทะลุวัง อีกด้วย อย่าลืมความจริงว่า นักการเมืองกลุ่มที่จงใจล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์คือตัวการสำคัญที่ทำให้บุ้งก่อการประท้วง และแสดงพฤติกรรมการเมืองต่างๆ อันนำไปสู่การกระทำผิดกฎหมายต่างกรรมต่างวาระ ถามว่าก่อนที่บุ้งจะตาย นักการเมืองกลุ่มที่สนับสนุนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เคยเข้าไปเยี่ยม เข้าไปให้กำลังใจ หรือเข้าไปดูแลบุ้งบ้างหรือไม่เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือเมื่อบุ้งป่วยในระยะสุดท้ายก่อนจะตาย ไม่มีนักการเมืองกลุ่มที่สนับสนุนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไปพบไปหาบุ้งแม้แต่คนเดียว เรื่องนี้คืออุทาหรณ์สอนใจว่า อย่าตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะสุดท้ายแล้วจะตายอย่างโดดเดี่ยว ในฐานะเหยื่อการเมืองของนักการเมืองล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์...
■■ การที่ผู้หนึ่งผู้ใดได้จงใจกระทำผิดกฎหมาย โดยมีหลักฐานมัดตัวแน่นหนาว่าได้กระทำผิดไปโดยเจตนา ต่อให้ผู้นั้นอ้างว่าไม่ได้กระทำผิด ก็มิอาจหลุดพ้นจากความผิดที่ได้กระทำสำเร็จไปแล้ว ต่อให้ผู้นั้นจะจงใจฆ่าตัวตาย เพื่ออ้างว่าตนเองไม่ได้กระทำผิดก็ไม่อาจทำให้ความผิดที่สำเร็จไปแล้ว กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นการที่ผู้กระทำผิด จงใจไม่รับกระบวนการตัดสินคดีความโดยศาล แล้วอ้างว่าตนเองถูกต้อง แล้วใช้กลอุบายไม่ยอมรับประทานอาหารด้วยความสมัครใจของตนเอง เพราะคิดว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ตนเองกลายเป็นคนถูก ขอย้ำว่าการกระทำผิดแล้วใช้กลอุบายอดอาหารประท้วงศาล มิได้ทำให้คนผิดกลายเป็นถูกและไม่ได้ทำให้เรื่องผิดกฎหมาย กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย...
■■ กรณีการเสียชีวิตของบุ้ง (ขอใช้แค่ชื่อเล่น โดยไม่ต้องการนำเสนอชื่อและนามสกุลจริง) เมื่อสองสามวันก่อน ทำให้สังคมไทยตั้งคำถามว่า หากผู้ต้องหาถูกศาลลงโทษด้วยกระบวนการทางกฎหมาย แล้วผู้ต้องหาจงใจประท้วงด้วยการอดน้ำ อดอาหาร ทั้งๆ ที่รู้ว่าตนเองได้กระทำการอันผิดกฎหมายสารพัดคดี แต่ก็ยังคงอ้างว่าตนเองไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย จนสุดท้ายผู้ประท้วงกระบวนการยุติธรรมถึงแก่ความตาย แบบนี้จะโทษใคร จะโทษศาล โทษเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ หรือจะโทษตัวผู้ประท้วง โทษนักการเมืองที่สนับสนุนให้เกิดการประท้วง หรือโทษพ่อแม่ผู้ปกครองของผู้ประท้วง หรือโทษรัฐบาล หรือโทษคนที่ผู้ประท้วงจงใจประท้วงและหมิ่นประมาท...
■■ การละเมิดอำนาจศาล ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย หากละเมิดศาลแล้วไม่ถูกลงโทษ ต่อไปผู้ใดจะเกรงกลัว ยำเกรงอำนาจศาล ลองกลับไปทบทวนความผิดต่างๆ นานา ต่างกรรม ต่างวาระที่บุ้งได้จงใจกระทำลงไป เช่น การจงใจใช้เชือกดึงพระรูปพระบรมราชชนก ที่ประดิษฐาน ณ กระทรวงสาธารณสุข ถือว่าได้กระทำผิดกฎหมายหรือไม่ ส่วนเรื่องการทำโพลล์ ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนหรือไม่ และการทำโพลล์ เห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามอัธยาศัย โดยตระเวนไปทำเรื่องนี้ในที่ต่างๆ การบุกรุกเข้าไปในสถานที่ของเอกชน แล้วสร้างความวุ่นวาย ใช้กำลังประทุษร้าย บุกรุกอาคารสำนักงานราชการ และสถานที่ของเอกชน การจุดพลุสีพลุควันในสถานที่ต่างๆ โดยจงใจให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย และบุกรุกเข้าไปในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และการจงใจละเมิดอำนาจศาล เรื่องทั้งหมดทั้งสิ้นที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องที่กระทำโดยจงใจ และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ใช่หรือไม่ หากทำผิดกฎหมาย แล้วอ้างว่าไม่ได้กระทำผิด แล้วเมื่อถูกจับกุมตัว ก็กลับใช้การประท้วงด้วยการอดน้ำอดอาหาร แบบนี้จะอ้างว่ากระทำโดยไม่ผิดกฎหมายได้หรือหากปล่อยให้เกิดเหตุแบบนี้ได้ในสังคมไทย แล้วปล่อยไปเรื่อยๆ สังคมไทยจะเกิดสภาพปั่นป่วนโกลาหลสักเพียงใด ขอย้ำว่ากระทำผิดกฎหมาย แล้วอ้างว่าไม่ได้กระทำผิด เรื่องแบบนี้ไม่สามารถปล่อยไว้ได้ เพราะจะทำให้สังคมเกิดความไร้ระเบียบ และเกิดความโกลาหลอย่างไม่สิ้นสุด...
■■ ส่วนการที่นักข่าวอายุมากรายหนึ่งบอกแบบหล่อๆ แต่เป็นความหล่อที่เกิดจากการจงใจประดิษฐ์วาจาว่า สังคมไทยต้องมีที่ยืนให้คนซึ่งมีความคิดเห็นต่างกัน ต้องไม่ทำให้คนที่เห็นต่าง คิดต่างตายไปจากสังคม ก็ต้องบอกว่าคำพูดหล่อๆ นั้นเป็นเพียงวาทกรรมการเมือง ที่ผู้พูดจงใจพูดเพื่อโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่า การแสดงความคิดความเห็นต่าง เป็นคนละเรื่องกับการจงใจกระทำผิดกฎหมาย สังคมไทยนั้นอนุญาตให้คนต่างๆ แสดงคิดไม่เหมือนกันได้ และมีความเห็นไม่ตรงกันได้เสมอ แต่ต้องไม่จงใจกระทำผิดกฎหมาย เมื่อทำผิดกฎหมายแล้วอ้างว่าไม่ได้กระทำผิด แล้วยังใช้การต่อต้านอำนาจศาล แบบนี้มันคือสังคมที่เป็นอนาธิปไตย สังคมแบบนี้ไม่มีความสงบสุข เพราะฉะนั้น ก็ต้องถามกลับว่า นักข่าวต้องการให้สังคมไทยไร้ระเบียบ ไร้ความสงบสุข และสนับสนุนให้คนกระทำผิดกฎหมาย แล้วอ้างว่าไม่ได้กระทำผิด เช่นนั้นหรือ...
■■ ขอถามอีกทีว่า นักข่าวบางจำพวกต้องการให้สังคมเกิดความไม่ปกติสุข เกิดความโกลาหล เกิดความวุ่นวาย และไม่เคารพกฎหมาย ใช่หรือหรือนักข่าวจำพวกที่ว่านั้นต้องการให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทด้วย เพื่อจะได้เขียนข่าว หรือแสดงความเห็นคุกคามใครต่อใครได้ทั้งแผ่นดิน...
■■ มีคำถามจากประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า การแต่งตั้งรักษาการอธิการบดี จุฬาฯ โดยอธิการบดี จุฬาฯ เป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ก็ในเมื่ออธิการบดีคนเดิม คือ บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ จะหมดวาระในวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 แล้วเหตุใดไม่รักษาการในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่ ซึ่งผ่านการสรรหาเรียบร้อยแล้ว มีความจำเป็นอะไรที่อธิการบดีคนเดิมต้องเร่งรัดแต่งตั้งรักษาการอธิการบดี และมีความจำเป็นอะไรในการเร่งรัดแต่งตั้งผู้รักษาการแทนตำแหน่งรองอธิการบดีอีก 9 คน คนในประชาคมจุฬาฯ ถามว่า การที่บัณฑิตต้องรีบเร่งเช่นนี้ เพราะต้องออกไปกินตำแหน่งสำคัญในองค์กรเอกชนภายนอกจุฬาฯ ใช่หรือไม่มีคำถามด้วยว่า ก็ในเมื่อบัณฑิตกินตำแหน่งอธิการบดี จุฬาฯ มาสองสมัย เป็นเวลา 8 ปี แล้วเหตุใดจึงต้องร้อนรนเร่งรีบลาออกจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ยังสามารถรักษาการได้จนกว่าจะได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี จุฬาฯ คนใหม่ คนจุฬาฯยังมองอีกว่า การตั้งคนที่จะเป็นอธิการบดี จุฬาฯ ตัวจริงให้รับตำแหน่งรักษาการอธิการบดี จุฬาฯ โดยไม่รอพระบรมราชโองการ เป็นเรื่องบังควรหรือไม่ ถามจริงๆ บัณฑิตมีอะไรเร่งรัดมาก มากเสียจนไม่สามารถทนรอพระบรมราชโองการได้หรือ...■■
ธรรมกร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี