ขอชื่นชมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่ปารีสหนนี้
ในเรื่องจำนวนคนดูในสนามแข่งขันกีฬาแต่ละชนิด มีความคึกคัก แน่นขนัด ได้บรรยากาศการเชียร์อย่างยิ่ง
ในเรื่องสนามที่แข่งขันกีฬาแต่ละชนิด บางชนิดกีฬา เช่น ขี่ม้า วอลเลย์บอลชายหาดจัดแข่งกันตามแลนด์มาร์คสถานที่สวยอย่างยิ่ง เป็นบรรยากาศใหม่ที่แจ่มว้าวมาก
แต่จุดที่เป็นรอยด่าง ต่ำตม หยาบช้าสามานย์ คือ โชว์บางชุดในพิธีเปิด Olympic 2024
โดยเฉพาะการล้อเลียน “The Last Supper” (อาหารค่ำมื้อสุดท้าย) เจตนาจัดฉากเย้ยหยันเสียดสีพระศาสดา
หรือโชว์ “ปฏิวัติฝรั่งเศส” เล่นเอาภาพของ Marie Antoinette “มารีอ็องตัวเนตต์” ออกมายืนถือหัวตัวเองในชุดสีแดง พร้อมกับการบรรเลงเพลงร็อค ประกอบโทนสีเลือดแดงฉาน ระเบิดไฟลุก เหยียบย่ำบุคคลในประวัติศาสตร์ ตอกย้ำการบิดเบือนในประวัติศาสตร์ไปแบบเนียนๆ
ขบวนการสามนิ้วในบ้านเรา ฟินน้ำแตก หลงลืมไปหมดเรื่องของการบูลลี่ด้อยค่า เหยียบย่ำซ้ำเติมบาดแผลในประวัติศาสตร์
เรื่องที่เข้าใจผิด แต่ถูกบิดเบือนตีไข่ใส่สี เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การใช้ความรุนแรงโค่นล้มระบอบกษัตริย์ เพื่อให้ดูสะใจจนเกินเลยความจริงไปมาก มีหลายส่วนที่น่าสนใจ ดังนี้
1. มารี อ็องตัวเนตต์ (Marie Antoinette)
เพจ สามก๊ก เซ็นโกคุ ประวัติศาสตร์ History Teller ให้เกร็ดข้อมูลที่น่าสนใจระบุว่า
...มารี อ็องตัวเนตต์ (Marie Antoinette) ราชินีฝรั่งเศสที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักทั่วโลกมากที่สุด ล่าสุดพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส ฝรั่งเศส ก็ยังเอานางมาบอกเล่าเชิงยั่วล้อ
แต่ที่จริงในยุคหลังมีการศึกษากันมากขึ้นว่า พระนางอาจเป็นหนึ่งในแพะที่ถูกโยนความผิดบาปทั้งหมดให้ โดยคณะปฏิวัติฝรั่งเศสในตอนนั้น
มารี อ็องตัวเนตต์ พื้นเพเป็นเจ้าหญิงออสเตรียจากราชวงศ์ฮาพส์บวร์คของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เกิดและเติบโตขึ้นมาในฐานะพระธิดาองค์สุดท้องของจักรพรรดิ ฟรานซิสที่ 1 และจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา แห่งออสเตรีย จึงได้รับการเลี้ยงดูและรับการศึกษาอย่างดีในสาขาต่างๆ ทั้งภาษา ดนตรี และศิลปะ ต่อมาเมื่อพระนางอายุเพียง 14 ปี ก็ถูกส่งไปฝรั่งเศสเพื่อแต่งงานกับหลุยส์-ออกุสต์ ดอฟินแห่งฝรั่งเศส ซึ่งกลายเป็นกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 การแต่งงานครั้งนี้เป็นการสร้างพันธมิตรทางการเมืองระหว่างออสเตรียและฝรั่งเศส
จากบันทึกทั้งหมดระบุว่า ตอนแรกที่เข้ามา มารี อ็องตัวเนตต์ ได้รับความนิยมในราชสำนักฝรั่งเศสและประชาชนทั่วไปเนื่องจากความสวยงามและความมีเสน่ห์ของนาง
แต่ตอนนั้นฝรั่งเศสเริ่มเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการสร้างพระราชวังแวร์ซายส์ และการใช้จ่ายที่หรูหราฟุ่มเฟือยของชนชั้นสูงในฝรั่งเศส แล้วการที่นางเป็นเจ้าหญิงต่างชาติที่กลายเป็นราชินี จึงเป็นเป้าให้ถูกโจมตีด้วย
ในปี ค.ศ. 1789 การปฏิวัติฝรั่งเศสเริ่มขึ้น ราชวงศ์ถูกบีบให้ย้ายออกจากแวร์ซายส์ต่อมาในปี ค.ศ. 1792 ราชวงศ์ทั้งหมดถูกจับกุมและนำตัวไปขังในหอคอยเทมเปิลพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกตัดสินประหารชีวิตในปีถัดมาด้วยการลงคะแนนเสียงที่แตกต่างกันนิดเดียว
ส่วนมารี อ็องตัวเนตต์ ถูกนำขึ้นศาลพิจารณาคดีและถูกกล่าวหาว่าทรยศต่อประเทศชาติและเป็นกบฏต่อประชาชนฝรั่งเศส แน่นอนว่าเธอไม่สามารถและไม่มีสิทธิแก้ต่างอะไรได้อยู่แล้ว เนื่องจากเวลานั้นกระแสความโกรธแค้นของประชาชนต่อชนชั้นสูงและราชวงศ์ไม่อาจหยุดยั้งได้ และกลุ่มผู้นำฝ่ายปฏิวัติอย่างเช่น แม็กซิมิเลียนโรแบร์ส ปิแอร์ ก็ต้องการกำจัดราชวงศ์ทั้งหมด
ในที่สุด เธอถูกตัดสินประหารชีวิตและถูกนำไปประหารด้วยกิโยตีนในวันที่16 ตุลาคม ค.ศ. 1793
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ฝรั่งเศสได้เข้าสู่ “ยุคสมัยแห่งความหวาดกลัว” ที่เหล่าคณะปฏิวัติได้กำจัด “ทุกคนที่เห็นต่างทางการเมือง” นั่นทำให้ประชาชนเริ่มลุกฮือ และในที่สุดฝ่ายหัวรุนแรงอย่าง แม็กซิมิเลียน โรแบร์ส ปิแอร์ ก็ถูกกิโยตีนที่เขาให้ใช้ประหารผู้คนมากมาย เป็นเครื่องมือประหารเขาด้วยเช่นกัน (มีการวิเคราะห์ตอนหลังว่า โรแบร์ส ปิแอร์ อาจเป็นคนมีอาการ Xenophobia)
จนถึงปัจจุบัน ภาพลักษณ์ของ มารี อ็องตัวเนตต์ แทบไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก แต่เริ่มมีการศึกษาและพิสูจน์แล้วว่า ประโยคอมตะที่บอกว่า “ถ้ากินขนมปังไม่ได้ก็ไปกินเค้ก” ไม่ใช่คำที่เธอพูด แต่อยู่ในหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ตอนที่มารียังเด็กและยังไม่ได้มาฝรั่งเศสด้วยซ้ำ
โดยคำนี้เชื่อว่ามาจากหนังสือ Confessions ของนักปรัชญาทางการเมืองชาวฝรั่งเศสชื่อดัง ฌ็อง-ฌาร์กส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) ซึ่งได้เขียนไว้ว่าเขานึกถึงคำพูดของเจ้าหญิงพระองค์หนึ่งเคยกล่าวว่า “Let them eat brioche” หมายถึงให้ไปกินขนมบริออช
หลายฝ่ายเลยเริ่มวิเคราะห์ว่า คณะปฏิวัติต้องการโจมตีพระนาง ในฐานะราชินีจากต่างชาติ และถูกมองว่าเป็นตัวแทนความฟุ้งเฟ้อของราชวงศ์ในฝรั่งเศส จึงยกข้อความนี้มาใช้ดัดแปลง แล้วโจมตี ซึ่งก็ได้ผลดีอย่างยิ่ง
...สำหรับโพสต์นี้ไม่ได้จะบอกว่าชนชั้นสูงฝรั่งเศสไม่ได้ฟุ้งเฟ้อ เพราะพวกเขาเป็นจริงๆ ในตอนนั้น และการที่ไม่สามารถแก้ปัญหาอดอยากแร้นแค้นของประชาชนได้ ทำให้พวกเขาถูกทำลายจริงๆ แค่แยกประเด็นเรื่องการโจมตีมารีออกมาเท่านั้น เพื่อให้เห็นว่า ผู้คนพร้อมจะไม่สนใจว่าอะไรคือความจริงหรือการปั่นเมื่อพวกเขาเดือดร้อนจนไม่มีอะไรจะกิน
ทั้งนี้ การโจมตีมารีด้วยการใช้ประโยคนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดขึ้นช่วงที่จับกุมพระนางแล้ว หรือเป็นการเอามาล้อเลียนหลังตายแล้ว”
2. เล่าเรื่องปฏิวัติฝรั่งเศส
คุณ David Boonthawee นักวิชาการประวัติศาสตร์ เคยศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสหลายปี ได้เล่าเรื่องปฏิวัติฝรั่งเศสในอีกมุม ที่น่าสนใจ ระบุว่า
“..เหตุการณ์ (ที่ต่อมาพวกก่อการเรียกให้ดูดีในภายหลังว่า “การปฏิวัติ”) ในปี 1789 นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแค่วันที่ 14 กรกฎาคม เพียงวันเดียว แต่เกิดมาก่อนหน้านั้นแล้วจากหลายสาเหตุที่สั่งสมกันมา ทั้งจากความผิดพลาดในด้านเศรษฐกิจของราชสำนัก และจากความกระเหี้ยนกระหือรือต้องการขึ้นสู่อำนาจของพวกก่อการ ผสมผสานกันไป
แต่ภายหลังพวกก่อการเลือกเอาเหตุการณ์ “ทลายคุกบาสตีย์” เมื่อวันที่ 14 กรกฎา มาเชิดชูให้เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (และกลายเป็นวันชาติฝรั่งเศส ที่เรียกแบบลำลองว่า “บาสตีย์เดย์) เพราะมันดู “แย่” น้อยที่สุด
จากนั้น ก็เอามาบิดเบือนใส่สีตีไข่ให้ดูโรแมนติกเลือดสูบฉีดว่า คุกแห่งนี้เป็นที่คุมขังนักโทษการเมืองหลายร้อยคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับราชสำนัก
แต่จากหลักฐานที่ค้นคว้ารวบรวมได้ในภายหลัง (จริงๆ ก็คือเมื่อไม่กี่สิบมานี้เอง)ทำให้ทราบข้อเท็จจริงว่า ในวันทลายคุกจริงๆ นั้น มีนักโทษอยู่แค่ 7 คนเท่านั้น
โดย 4 คนถูกขังด้วยข้อหาฉ้อโกงธนาคาร อีก 2 คนเป็นคนวิกลจริตที่โดนข้อหาทำร้ายร่างกายและก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อผู้คน ส่วนอีก 1 คน เป็นท่านเคานต์ต้องโทษเพราะเข้าไปช่วยเหลือน้องสาวให้หนีจากสามีที่ทำร้ายร่างกายเธอ
ใน 7 คนนี้ ไม่มีแม้แต่คนเดียวเป็นนักโทษการเมือง และ 6 คนถูกส่งกลับเข้าคุกในภายหลัง (ยกเว้นท่านเคานต์)
การโจมตีคุกบาสตีย์ที่แทบจะไม่มีนักโทษ และเข่นฆ่าสังหารเจ้าหน้าที่คุกอย่างโหดเหี้ยมทารุณของฝูงชน (ที่มีผู้ก่อการอยู่เบื้องหลัง) มีสาเหตุแท้จริงมาจากข่าวลือที่สะพัดไปทั่วในขณะนั้นว่า คุกแห่งนี้เก็บดินปืนไว้จำนวนมหาศาล และมีเจ้าหน้าที่คอยคุ้มกันอยู่แค่ 82 นาย จึงน่าจะบุกเข้าไปยึดมาครอบครองได้อย่างง่ายดาย
เมื่อคณะผู้ก่อการตัดสินใจ “เลือก” เอาเหตุการณ์นี้มาเป็นตัวจุดชนวนการปฏิวัติ กระทั่งต้องจดบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ จึงจำเป็นต้อง “ใส่ไข่” ให้ผู้อ่านรู้สึกฮึกเหิม มีจิตใจรุกรบ อย่างที่เรามักได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านกันมานั่นแหละ
การทลายคุกบาสตีย์ ในอีกแง่มุมหนึ่งจึงอาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเข่นฆ่าทารุณอย่าง “เสรี” ที่จะตามมาอีกหลายระลอก
เสริมอีกนิด ไม่กี่ปีมานี้ก็มีข่าวลือ (จากนักเขียนฝรั่งเศสเอง) ว่า “ปืนใหญ่” 2 กระบอก ที่สมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา ส่งไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซายส์นั้น คือปืนใหญ่ที่ถูกฝูงชนปล้นเอามาถล่มคุกบาสตีย์
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ปืนใหญ่ของสมเด็จพระนารายณ์นั้นเป็นปืนที่สั่งทำพิเศษจากอินเดีย เพื่อถวายเป็นของกำนัลแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยเฉพาะ
ไม่ใช่ปืนที่ใช้งานได้จริง ปัจจุบันก็ยังเก็บรักษาอย่างดีอยู่ที่พระราชวังแวร์ซายส์
ส่วนปืนใหญ่ 2 กระบอกที่ถล่มคุกบาสตีย์ เอามาจาก “แองวาลิดส์” สถานพยาบาลและพักฟื้นของทหารทุพพลภาพจากสงคราม ซึ่งถูกโจมตีและปล้นสะดมมาก่อนหน้านั้น 1 วัน คือวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1789
(น่าแปลกใจว่าทำไมกลุ่มผู้ก่อการจึงไม่เลือกวันที่ 13 กรกฎา เป็นวันชาติฝรั่งเศสหรือจะเป็นเพราะเหตุการณ์นี้มันน่าสลดหดหู่ เพราะการโจมตีแองวาลิดส์นั้น ผู้บุกรุกได้ทำร้ายทหารผ่านศึกผู้พิการจำนวนมาก และคำว่า “แองวาลิดส์” (Invalides) เอง ก็แปลว่า “คนพิการ” หรือ “ผู้ทุพพลภาพ” หากนำมาเรียกวันชาติฝรั่งเศสว่า “แองวาลิดส์เดย์” แทนที่จะเป็น “บาสตีย์เดย์” มันจะชวนหดหู่ขนาดไหน
ป.ล. 1 คำว่า บาสตีย์ (Bastille) หมายถึงป้อมหรือค่ายทหาร ที่สร้างมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 14 (ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา) ต่อมาเปลี่ยนเป็นเรือนจำคุมขังนักโทษ และถูกทุบทำลายลงราบคาบในปี 1792 หรือ 3 ปีหลังการปฏิวัติ ปัจจุบันเรียกบริเวณที่ตั้งเดิมของคุกว่า จัตุรัสบาสตีย์ เป็นวงเวียนขนาดใหญ่กลางกรุงปารีส
ป.ล. 2 แองวาลิดส์ ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์การทหารของฝรั่งเศส และยังเป็นที่ฝังศพของนโปเลียน โบนาปาร์ต...”
ประวัติศาสตร์ มักมีเรื่องทำนองนี้เสมอ ไม่ว่าจะที่ฝรั่งเศส หรือที่ไทยเราเอง
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี