ติดตามข่าวความรุนแรงในภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 จากประสบการณ์ตรงพบว่า เป็นเพราะความเน่าเฟะของระบบราชการไทย ที่มีพฤติกรรมนอกกฎหมายตามนายใหญ่ จึงไม่แปลกที่คดีตากใบจับจำเลยไม่ได้แม้แต่คนเดียว เพราะหากจับจำเลยซึ่งล้วนเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ ก็อาจพาดพิงถึงผู้สั่งการตัวจริงที่ใหญ่คับฟ้าเวลานี้
นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานรัฐสภาอย่างละสองสมัย แนะนำให้จำเลยมอบตัวก่อนหมดอายุความวันที่ 25 ตุลาคมนี้ “จำเลยควรมอบตัวสู้คดีเพื่อรักษาไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรมของไทย หากหนีก็ต้องหนีจนตาย”นายชวน พูดกับผู้สื่อข่าวและกล่าวเสริมว่า เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นผลพวงของความผิดพลาดทางนโยบาย วันที่ 8 เมษายน 2544
นโยบาย 8 เม.ย.เกิดขึ้น หนึ่งวันหลังจากเกิดระเบิดสถานีรถไฟหาดใหญ่ ที่นายกรัฐมนตรี ในเวลานั้นร้อนใจบินลงไปประชุมกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ ซึ่งในที่ประชุมมีตำรวจ ทหาร ข้าราชการพลเรือนร่วมประชุมกันพร้อมหน้า และสรุปเหตุการณ์ให้นายกฯรับทราบถึงที่มาของระเบิดรถไฟ
หลังจากฟังรายงานสรุปถึงเหตุการณ์นายกรัฐมนตรีกล่าวในที่ประชุมว่า “เป็นพวกโจรกระจอก มีสองสามร้อยคน จัดการวันละ 2 คน สามเดือนก็หมด”ตามกฎหมายนายกรัฐมนตรีกล่าวในที่ประชุมถือเป็นมาตรการตามกฎหมาย ที่ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องนำไปปฏิบัติ
ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2544 เป็นต้นมา เจ้าหน้าด้านความมั่นคงตำรวจทหารนำนโยบายไปใช้ปฏิบัติอย่างแข็งขัน โดยการใช้มาตรการอุ้มฆ่าอุ้มหาย จนมีการชุมนุมประท้วง และตอบโต้ประปรายจากกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายแต่ก็ปักใจเชื่อว่า เป็นฝีมือของขบวนการแยกดินแดน แต่เจ้าหน้าที่มั่นคง เลือกใช้คำที่เบาลงว่า “เป็นผู้ก่อความไม่สงบ”
การตอบโต้ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เริ่มจากปล้นปืนจาก อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ที่กระทรวงมหาดไทย แจกจ่ายให้ 5,000 กระบอก เพื่อใช้รักษาความสงบในชุมชน และปืนจากอาสาสมัครส่วนใหญ่ถูกปล้นอย่างง่ายดาย กลายเป็นอาวุธให้ผู้ก่อความไม่สงบสร้างความรุนแรงมากขึ้น มีการใช้รถจักรยานยนต์ประกบยิงเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายตายรายวัน
เหตุการณ์ร้ายในจังหวัดชายแดนใต้ร้อนแรงมากว่าสองปี และ ถึงจุดเดือดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2547 เมื่อคนร้ายหลายสิบคนบุกปล้นค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาส ฆ่าทหารตายสามนาย ปล้นปืนและอาวุธร้ายไปกว่าสามร้อยกระบอก
ถึงตอนนี้นายกฯ ผู้อหังการสำเหนียกว่าหาใช่โจรกระจอกดังที่สำรอกไว้ไม่ ตำรวจ ทหารหลายพันนายจากภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ระดมกันลงไปปราบผู้ก่อความไม่สงบ ที่ฝ่ายมั่นคงฯประเมินว่า มีแนวร่วมเป็นชาวบ้านประมาณ 6-7 พันคน
และเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นเช้ามืดวันที่ 28 เมษายน 2547 กลุ่มบุคคลประมาณ 15-18 คน นั่งรวมกลุ่มหน้ามัสยิดกรือเซะ ก่อนเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นสีดำและกางเกงลายพราง แล้วมุ่งหน้าไปยังจุดตรวจตำรวจ ต่อสู้และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บอีก 2 นาย ผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัสอีก 3 ราย
กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มวาดะห์ หลบเข้าไปอยู่มัสยิดกรือเซะ เจ้าหน้าที่ล้อมปราบพร้อมเจรจานานกว่าแปดชั่วโมง สุดท้ายตัดสินใจยิงถล่มกรือเซะ ซึ่งเป็นศาสนสถานสำคัญของมุสลิมในภาคใต้มีคนตายในกรือเซะ 32 ศพ นายกฯชื่นชม พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี หัวหน้าชุดปฏิบัติการว่า “ทำได้ดีมาก”
การสังหารหมู่ในกรือเซะ เป็นแผลลึกฝังใจมุสลิมในภาคใต้ ต่อมา วันที่ 25 ตุลาคมเกิดเหตุการณ์สลดใจที่หน้าสถานีตำรวจตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อผู้ประท้วงประมาณพันห้าร้อยคน ประท้วงกดดันให้ตำรวจปล่อยตัวผู้ต้องหาปล้นปืนหกคน ที่ถูกขังอยู่ในสถานี ตำรวจ หน่วยงานมั่นคงตำรวจ ทหารระดมกำลัง หวังเจรจาสลายม็อบ แต่เกิดความตึงเครียดเนื่องอากาศร้อนประกอบกับผู้ประท้วงส่วนใหญ่อยู่ระหว่างถือศีลอด
ระหว่างการเจรจา กดดันมีการปะทะกันทำให้มีผู้เสียชีวิตเจ็ดศพ จนเจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้กำลังสลายการชุมนุม จับผู้ประท้วงได้กว่าหนึ่งพันคน และระหว่างการรอรถบรรทุกของทหาร 25 คัน ลำเลียงผู้ประท้วงไปยังค่ายทหารในจังหวัดยะลา ผู้ประท้วงหลายคนเป็นลมเพราะอ่อนเพลียจากอดอาหารตากแดดทั้งวัน
เมื่อรถบรรทุกทหาร 25 คันมาถึงพร้อมกัน ผู้ประท้วงถูกนำขึ้นรถให้นอนทับซ้อนกันในกระบะหลังรถ จากการเดินทางไกลและขาดอากาศหายใจผู้ประท้วงเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง 85 ศพ
เหตุการณ์ตายหมู่ตากใบ เป็นเรื่องใหญ่ในโลกมุสลิมเป็นเหตุให้รัฐบาลกุลีกุจอสั่งการให้ตั้งทีมงานสอบสวนขึ้นมาหลายชุด แต่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ผลการสอบสวนเงียบหายไป ไม่มีหน่วยงานไหนเร่งรัดให้ดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนทำให้คนตาย โดยที่สังคมไทยไม่ระแคะระคายว่า การดำเนินคดีคืบหน้าไปถึงไหน
ดังนั้น คำพิพากษาศาลอาญายกฟ้องนายชวนเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ตามคำให้การและพยานหลักฐานที่ระบุว่า “#รัฐบาลและข้าราชเกี่ยวข้องมีพฤติกรรมการกระทำนอกกฎหมาย” จึงเป็นหลักฐานที่อาจนำมาดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ที่เป็นผู้ออกนโยบายและไม่ระงับยับยั้งเมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำการนอกกฎหมาย
ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีนี้เพราะเหตุว่าทักษิณ ชินวัตรฟ้องชวน หลีกภัย ข้อหาหมิ่นประมาทใส่ร้ายทำให้โจทย์เสียหาย จากที่นายชวนกล่าวปาฐกถาให้นักศึกษาฟังว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ เกิดจากนโยบายผิดพลาด เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2544
ทักษิณ ฟ้องนายชวน ตั้งแต่ปี 2545 แล้วก็ปล่อยให้เรื่องเงียบหายอยู่หลายปี จนใกล้หมดอายุความนายชวนเกรงว่ากระบวนการยุติธรรมจะเสียหายมอบหมายให้ทนายความส่วนตัวไปเร่งรัดคดีกับอัยการนั้นคือที่มาของศาลอาญาพิพากษายกฟ้องนายชวน หลีกภัยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567
คำพิพากษาวันที่ 26 มีนาคม เป็นหลักฐาน ยืนยันว่า รัฐบาลและผู้ใต้บังคับบัญชา ในเวลานั้นกระทำการนอกกฎหมาย แต่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ตั้งแต่ ดีเอสไอ ตำรวจ ป.ป.ช.ไปถึงอัยการ ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ถ่วงเวลาให้ใกล้หมดอายุความ ถึงทำขึงขัง ตามล่าหาจำเลยที่ล้วน เป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คดีตากใบ ที่ไม่มีวันจับได้เพราะคดีหมดอายุความวันที่ 25 ตุลาคมนี้
วันที่ 15 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีนี้ว่า ศาลจังหวัดนราธิวาส นัดสอบคำให้การ 7 จำเลย คดีตากใบ ประกอบด้วย จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันเป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย (วันนี้ยื่นลาออกแล้ว), จำเลยที่ 2 พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 (ยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง), จำเลยที่ 3 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ยศในขณะนั้น อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5,
จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และเป็นอดีต สว., จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ยศขณะนั้นในฐานะอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และเป็นอดีตจำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุลอดีตผู้กำกับ สภ.ตากใบในขณะนั้น, จำเลยที่ 7 พ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน อดีตรองผู้กำกับ สภ.ตากใบ
ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมถึงวันนี้ จำเลยอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ส่วนใหญ่อยู่วัยเจ็ดสิบปีขึ้นไปได้ใช้วิธีหนีศาลเหมือนกับที่ ตัวการใหญ่ผู้สั่งการผู้ออกนโยบายให้กระทำนอกกฎหมาย ได้สร้างมาตรฐานในการโกงความยุติธรรมไว้ โดยฝ่าฝืนพระราชโองการที่พระราชทานอภัยโทษลดโทษ จำคุกแปดปี เหลือหนึ่งปี ตามที่ผู้ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ยอมรับผิดและยอมติดคุกตามคำพิพากษาศาล แต่ไม่ยอมเข้าคุกแม้แต่วันเดียว
จำเลยในคดีตากใบจึงทำตามแบบอย่างนายใหญ่อดีตผู้บังคับบัญชา ผู้สั่งการตามนโยบาย จัดการวันละสองคนคิดว่าสามเดือนก็หมด ในเมื่อหัวกระดิกหางก็ส่ายคดีตากใบจึงกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งแล้วหายไปในผิวทรายเหมือนหลายคดีใหญ่ในประเทศไทย
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี