ด้วยการสนับสนุนอย่างแข็งขันทุกด้านจากจีนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านชายแดนติดกัน ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมายืนยันพร้อมจัดการเลือกตั้งได้ในปี 2025 แถลงการณ์ครบรอบ 4 ปียึดอำนาจวันที่ 1 ก.พ.รัฐบาลทหารเมียนมาต่อภาวะฉุกเฉินอีกหกเดือนโดยให้เหตุผลว่า จำเป็นใช้อำนาจบริหารเพื่อเตรียมเลือกตั้ง แถลงการณ์ยังยืนยันคำมั่นที่ให้ไว้ในวันขึ้นปีใหม่
พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวถึงการจัดการเลือกตั้งระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ปีใหม่ที่มีการเผยแพร่ในสื่อของรัฐว่า เขามุ่งมั่นที่จะจัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของสภาบริหารแห่งรัฐให้สำเร็จในปี 2025
คำกล่าวของผู้นำเมียนมามีขึ้น ในวันเดียวกับที่สื่อของเมียนมา ได้รายงานผลสำรวจสำมะโนประชากรของเมียนมาในวันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นการเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นว่า ประชากรเมียนมาในปี 2024 มี 51.3ล้านคน ซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 10 ปีก่อน
การสำรวจสำมะโนประชากรที่ได้รับการสนับสนุนเครื่องมือเทคโนโลยีล้ำสมัย และกำลังคนจากรัฐบาลปักกิ่ง ทำให้การสำรวจสำมะโนประชากรที่เคยใช้เวลาหลายปีสำเร็จลงได้ภายใน 6 เดือน ทำให้ พลเอกมิน อ่อง หล่าย มั่นใจว่า จีนแผ่นดินใหญ่ช่วยผลักดันให้การเลือกตั้งผ่านไปได้
สื่อเมียนมารายงานด้วยว่า ชาวเมียนมานับแสนคนออกมาเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ในวันที่พลเอกมินอ่อง หล่าย ประกาศความมุ่งมั่นจัดการเลือกตั้ง วันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา เมืองใหญ่หลายเมืองของเมียนมาโดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และกรุงเนปิดอว์ต่างมีการจัดงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่มีประชาชนจำนวนมากออกมาร่วมเคาท์ดาวน์กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
โดยผู้ว่าราชการเมืองย่างกุ้ง ได้มีการยกเว้นประกาศห้ามคนออกจากบ้านยามค่ำคืนเป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ออกมาร่วมเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ การจัดงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มีประชาชนจำนวนมากออกมาร่วมเคาท์ดาวน์กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
ส่วนที่กรุงเนปิดอว์ พิธีส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ถูกจัดขึ้นที่สนามกีฬาซึ่งสามารถจุผู้ชมได้มากถึง 30,000 คนโดยพิธีได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม กระทั่งสิ้นสุดลงหลังผ่านพ้น 24.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นปีใหม่
การเฉลิมฉลองปีใหม่ในเมืองใหญ่ผ่านไปโดยไม่มีเหตุการณ์ร้ายใดๆ แสดงว่ารัฐบาลควบคุมสถานการณ์ในประเทศได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับที่สื่อตะวันตกปั่นกระแสความสำเร็จของฝ่ายต่อต้านว่า ฝ่ายต่อต้านยึดเมืองใหญ่ได้ 70% ทั่วประเทศเมียนมา
ในเวลาเดียวกันจีนซึ่งมีผลประโยชน์มหาศาลในเมียนมาพยายามให้เกิดความสงบและจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อให้รัฐบาลประชาธิปไตยหาข้อยุติความขัดแย้งหลังเลือกตั้ง
เดือนกรกฎาคม 2567 กองกำลังพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยเมียนมา ประกอบด้วย กองกำลังชาติพันธุ์โกก้าง ตะอาง และ อาระกัน รุกรบคืบหน้ายืดเมืองจากแนวร่วมเมียนมา ได้หลายสิบเมืองทางเหนือรัฐฉาน ใกล้ชายแดนจีน ปักกิ่งเรียกร้องให้หยุดยิง และเมื่อพันธมิตรฝ่ายต่อต้านดื้อรั้น ทางการจีนจัดให้มีการซ้อมรบใกล้ชายแดนจีน-เมียนมา ตามมาด้วยการปิดชายแดนตัดเส้นทางค้าขาย จนเมืองที่ฝ่ายต่อต้านยึดได้ขาดแคลนยารักษาโรคและอาหาร
ถึงเดือนตุลาคม กองกำลังพันธมิตรสามฝ่ายหยุดยิงโดยปริยาย แต่ไม่ยอมคืนเมืองที่ยึดได้ให้เมียนมาตามที่จีนต้องการ เดือนพฤศจิกายนผู้บัญชาการทหารโกก้างพร้อมด้วยรองผู้บัญชาการทหารว้าถูกกักตัวในเมืองยูนนานฐานขัดขืนไม่คืนเมืองล่าเสี้ยวให้เมียนมา ต่อมาตะอางประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว และกองกำลังอาระกันถอนตัวจากพันธมิตรสามฝ่ายย้ายไปรบรัฐบาลในรัฐยะไข่ เสียงปืนทางเหนือรัฐฉานเงียบลงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567
14 ธันวาคม กองทัพโกก้างประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว และพร้อมเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมาสรุปว่าสงครามทางเหนือรัฐฉานตั้งแต่ปฏิบัติการ 2017จนถึงวันที่ฝ่ายต่อต้านประกาศหยุดยิง และพร้อมเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมา จีนมีบทบาทสำคัญที่สั่งให้ฝ่ายต่อต้านหันซ้ายหันขวาได้
ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ในรัฐฉาน ไม่ว่าจะเป็นโกก้าง ตะอาง และว้า ล้วนแต่เป็นอดีตพรรคคอมมิวนิสต์เชื้อสายจีน ดังนั้น ความผูกพันทางด้านเชื้อชาติและอุดมการณ์จีนกับฝ่ายต่อต้าน จึงเป็นเนื้อเดียวกัน เนื่องจาก โกก้าง ตะอางและว้า ล้วนแต่พึ่งพาจีนตั้งแต่อาวุธ อาหารและการค้า จึงไม่น่าประหลาดใจเมื่อจีนต้องการให้มีการเลือกตั้งในเมียนมา กลุ่มต่อต้านเชื้อสายจีนต้องทำตามที่ปักกิ่งต้องการ
สำนักข่าว Kurtai ของฉานใต้รายงานเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ว่า กองทัพอาระกัน (Arakan Army=AA) ออกแถลงว่า ปัจจุบัน AA พร้อมจะแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทาง
การเมืองมากกว่าทางทหาร และจะดูแลคุ้มครองโครงการลงทุนของต่างประเทศในรัฐยะไข่ ไม่ว่าทหารเมียนมา หรือ เอ็นยูจี เป็นรัฐบาล ยะไข่จะไม่แยกตัวจากเมียนมาเป็นประเทศอิสระ แต่จะขอปกครองตนเองแบบว้า และเมืองลา
เป็นที่น่าสังเกตว่า กองทัพอาระกันออกแถลงการณ์พร้อมเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมา ในวันเดียวกันที่มีรายงานว่า จีนส่งเจ้าหน้าที่เทคนิคประมาณ 500 คนไปที่เมืองจ้าวผิ่ว รัฐยะไข่ เพื่อติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ และกล้องวงจรปิด ให้โครงการท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของจีน ส่วนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดอาวุธของจีนจะเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่แทนทหารเมียนมาในภายหลัง
พิเคราะห์จากท่าทีอ่อนลงของกองทัพอาระกัน อนุมานได้ว่า กองทัพอาระกันซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านสำคัญในรัฐยะไข่ที่สื่อตะวันตกรายงานว่า กองทัพอาระกันยึดได้
17 ใน 21 เมืองของรัฐยะไข่ AA คงคิดว่า แค่เจ้าหน้าที่ทางเทคนิค จีนยังส่งกำลังมาประมาณ 500 คน แล้วถ้าเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยติดอาวุธจีน จะส่งกำลังมามากเท่าไหร่ถึงดูแลคุ้มครองผลประโยชน์ของจีนทั่วเมียนมาได้เพื่อความอยู่รอดทางการเมืองกองทัพอาระกันร่วมมือกับจีนเหมือนกับพันธมิตรทางเหนือรัฐฉานเช่น โกก้าง ตะอาง และ ว้าน่าจะได้ประโยชน์กว่า ตามก้นอเมริกาที่อยู่ไกลออกไป
ต้องยอมรับความจริงว่า เมียนมาเป็นสนามแย่งชิงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ เอ็นยูจี ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาฝ่าย นางออง ซาน ซู จีและกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ พีดีเอฟ ตลอดถึงกองกำลังชาติพันธุ์ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาที่อยู่ใกล้ชายแดนไทย ล้วนได้รับการสนับสนุนจากวอชิงตัน
ส่วนปักกิ่งซึ่งมีผลประโยชน์มหาศาลจากแก๊ส น้ำมัน โครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจการค้า จีนจึงจำเป็นต้องเป็นมิตรกับรัฐบาลทหาร และฝ่ายต่อต้านหลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายต่อต้านเชื้อสายจีน
บทบาทของปักกิ่งกับวอชิงตันจึงแตกต่างกันในการบริหารจัดการวิกฤตการเมืองเมียนมา จีนซึ่งมีชายแดนติดกับเมียนมาที่ต้องใช้อิทธิพลทั้งเศรษฐกิจ การค้าและความมั่นคง จึงมีรายงานตลอดมาว่าจีน ใช้เงินมหาศาลในการร่วมทุนกับรัฐบาลทหารเมียนมา ในเวลาเดียวกัน จีนก็ช่วยเหลือกลุ่มต่อต้าน ด้านอาวุธและปัจจัยให้กลุ่มต่อต้านหลากหลายเพื่อใช้คุ้มครองผลประโยชน์ของจีนในเมียนมาไม่ว่าจะเป็นท่อส่งแก๊สท่อส่งน้ำมัน ตลอดถึงโครงสร้างพื้นฐานที่บรืษัทจีนได้สัมปทานจากรัฐบาลเมียนมา
มีรายงานอย่างไม่เป็นทางการ และไม่สามารถยืนยันได้ว่า จีนมีกองกำลังติดอาวุธหลายหมื่นคนประจำการในเมียนมา ในรูปแบบของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกระจายอยู่ทั่วเมียนมาเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของจีน ในบางโอกาสเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ช่วยสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน เช่น ปฏิบัติการในเมืองเล่าก์ก่าย
ด้านวอชิงตันก็สนับสนุนฝายต่อต้านทางด้านปัจจัย อุดมการณ์ทางการเมืองในข้ออ้างประชาธิปไตย โดยการเน้นปฏิบัติการข่าว หรือทำโฆษณาชวนเชื่อเป็นหลัก ดังนั้นข่าวฝ่ายต่อต้านคืบหน้า ข่าวรัฐบาลทหารเมียนมากำลังล่มสลายล้วนเป็นข่าวไอโอของวอชิงตัน นอกจากนั้นวอชิงตันยังใช้พรรคการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน และสมาชิกอาเซียนบางชาติต่อต้านกดดันรัฐบาลทหารเมียนมา
ปี 2025 ที่มาเลเซียเป็นประธานหมุนเวียนอาเซียน สมาชิกอาเซียนบางชาติแสดงตนเป็นปฏิปักษ์พลเอกมินอ่อง หล่าย ออกหน้า และประกาศจะไม่รับรองการเลือกตั้งของเมียนมา รอดูกันว่าปี 2025 มีเลือกตั้งเมียนมาเป็นเดิมพันปักกิ่ง กับ วอชิงตัน ใครแน่กว่ากันในอาเซียน
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี