ทำไมเวลาคนบางคนถูกฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล คนในสังคมไทยก็ไม่ให้ความสนอกสนใจ แต่ทว่าทำไมคนบางคนถูกฟ้องร้องเป็นคดีความ เมื่อถูกศาลตัดสินแล้ว สาธารณชนต่างให้ความสนใจมากมายล้นหลาม และยังพากันออกมาพิทักษ์ปกป้อง ที่เรียกว่า SAVE คนผู้นั้นกันอย่างเอิกเกริก
ถามต่อไปว่าคนไทยไม่ให้ความเคารพยำเกรงต่อศาลหรือ ตอบว่าคนส่วนใหญ่ยังเคารพยำเกรงศาล แต่ก็มีคนส่วนน้อยไม่เคารพคำพิพากษาของศาล เพราะเมื่อศาลตัดสินแล้ว ก็ไม่ทำตามที่ศาลพิพากษา
แต่ก็มีคำถาม ถามกลับจากคนบางกลุ่มว่า ทำไมเมื่อศาลตัดสินคนบางคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด แล้วคนในสังคมกลับตั้งคำถามกับคำพิพากษา แม้จะบอกว่าเคารพคำตัดสินของศาล แต่ก็ยังคงตั้งคำถามกับคำพิพากษาอยู่ตลอดเวลา นั่นหมายความว่าคนยังเคารพกระบวนการศาลยุติธรรม แต่ไม่เคารพคนบางคนที่อยู่ในตำแหน่งผู้พิพากษา หรืออย่างไร
อันที่จริง หากติดตามข่าวในวงการศาลของไทยอย่างใกล้ชิดก็จะพบเป็นระยะๆ ว่าผู้พิพากษาบางคน ข้าราชการตุลาการบางราย ถูกลงโทษเพราะกระทำผิดจนถึงขึ้นไล่ออก บางรายก็ถูกลงโทษทางวินัย ซึ่งเรื่องเหล่านี้คือสิ่งยืนยันว่าผู้พิพากษาของไทยทุกคนไม่ใช่คนขาวสะอาด แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้พิพากษาส่วนใหญ่ยังมีความขาวสะอาด น่าเคารพเลื่อมใส น่านับถือ ส่วนผู้พิพากษาจำพวกคนเลวนั้นยังถือว่ามีเป็นจำนวนน้อยในวงการศาลไทย ดังนั้น คนไทยจำนวนมากจึงยังให้ความเคารพเลื่อมใสกระบวนการยุติธรรม ถึงแม้จะมีการตั้งคำถามในบางครั้งบางคราก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วก็ยังปักใจเชื่อว่าศาลไทยโดยภาพรวมยังมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมดำรงคงอยู่
สำหรับปรากฏการณ์ผลกระทบจากพิรงรอง (รามสูต) หรือ พิรงรอง effect ที่กำลังเป็นกระแสสังคมในขณะนี้ เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าทำให้ผู้บริโภค และแวดวงวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ กำลังตั้งวงสนทนากันอย่างเอิกเกริก แต่กลับไม่เห็นวงการรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ จะตั้งวงสนทนาหารือประเด็นนี้แม้จะมีอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์บางรายไปร่วมเสวนากับวงของนิเทศศาสตร์ก็ตาม
ปมประเด็นของเรื่องที่กำลังเป็นกระแสสังคมคือ นายทุน (บริษัทเอกชนที่เป็นคู่กรณี หมายถึงฝ่ายโจทก์) เป็นฝ่ายผิด หมายถึงผิดในแง่ผู้เอาเปรียบผู้บริโภค ใช่หรือไม่ หรือว่าพิรงรอง ในฐานะผู้ควบคุมกฎ (regulator) เพราะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ กสทช. (คณะกรรมการกิจการการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นฝ่ายผิด เพราะต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิดตามมาตรา 157 แต่ขณะเดียวกัน ก็มีคนจำนวนไม่น้อยตั้งข้อสังเกตไปยังบุคคลผู้เป็นผู้พิพากษา (แต่ในที่นี้ยังไม่กล่าวถึงข้อสังเกตบางประการที่สาธารณชนตั้งไปยังตัวผู้พิพากษา)
อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่า กสทช. มีหน้าที่อะไร ระหว่างปกป้องพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประชาชนที่เป็นผู้บริโภคที่ใช้บริการจากบริษัทเอกชนที่ให้บริการด้านการสื่อสารในแง่มุมต่างๆ หรือให้การปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทเอกชนที่ให้บริการด้านการสื่อสาร
หากถามแบบนี้ก็ต้องตอบว่า กสทช. ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งกับประชาชนผู้ใช้บริการ และกับบริษัทเอกชนที่ให้บริการกับประชาชน แต่คำถามคือ แล้วที่ผ่านๆ มานั้น กสทช. ให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายจริงหรือ หากจริงแท้แล้ว ทำไมยังมีคนจำนวนไม่น้อยวิพากษ์วิจารณ์ และประณามการทำงานของ กสทช. ในแง่มุมต่างๆ ไม่เว้นแต่ละวัน จนมีคำถามว่า จะต้องมี กสทช.ไปเพื่ออะไร หากทำงานได้เพียงแค่นี้ (ขอย้ำว่าคนที่ประณาม กสทช. มีทั้งฝั่งประชาชนผู้บริโภค และบริษัทต่างๆ ที่เข้าไปประมูลคลื่นวิทยุโทรทัศน์ และคลื่นโทรคมนาคมจาก กสทช.) นอกจากนั้น ยังมีคนจำนวนไม่น้อยประณามผู้บริหาร กสทช. และคณะกรรมการ กสทช. อีกด้วย โดยเฉพาะในประเด็นความไม่โปร่งใสของคนบางคนในคณะกรรมการ กสทช.
จากปรากฏการณ์ save พิรงรอง และ พิรงรอง effect ทำให้ผู้ติดตามข่าวได้ยินได้เห็นว่าคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ปรีดา อัครจันทโชติ ได้อ่านแถลงการณ์ของคณะนิเทศฯ เพื่อสนับสนุนพิรงรอง (ขณะเดียวกันคณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ออกแถลงการณ์สนับสนุนพิรงรอง เช่นกัน)
ในการเสวนาช่วงหนึ่งที่คณะนิเทศฯ จุฬาฯ ณรงค์เดช สุรโฆษิต จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เพียงแค่เป็นเรื่องผิดปกติจากแนวทางปกติที่ควรเป็นเรื่องของศาลปกครอง แต่ยังทำให้มีคำถามสำคัญเกี่ยวกับกลไกทางกฎหมายและการใช้อำนาจรัฐด้วย เพราะโดยปกติแล้ว หากสาธารณชนเห็นว่าคำสั่งของ
เจ้าหน้าที่รัฐไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประชาชนก็จะใช้กระบวนการทางกฎหมายได้หลายช่องทาง เช่น อุทธรณ์โดยตรงไปยังหน่วยงานนั้นๆ หรือการฟ้องศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่ง หรือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐ แต่สำหรับกรณีนี้ กลับพบว่าผู้ทำหน้าที่ในหน่วยงานถูกดำเนินคดีในศาลอาญา ซึ่งนับเป็นลักษณะที่ไม่พบได้บ่อย
ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของคดีนี้ และยังมีข้อสังเกตสำคัญ คือคดีนี้มุ่งเน้นฟ้องร้องไปที่ตัวของคณะกรรมการ กสทช. ในขณะที่ผู้มีอำนาจเซ็นจดหมายหรือเป็นผู้สั่งการจริงๆ กลับไม่มีความชัดเจนว่าควรเป็นผู้รับผิดหรือไม่ประเด็นนี้ทำให้เกิดความแปลกประหลาดในทางกฎหมาย เพราะตามหลักความรับผิดทางอาญา ผู้ที่ออกคำสั่งและลงนามในเอกสารทางราชการควรเป็นผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง แต่คดีนี้กลับมุ่งเป้าไปที่องค์กรกำกับดูแล ทำให้เกิดข้อกังขาว่าอาจเป็นแนวทางใหม่ในการข่มขู่เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่
นอกจากนี้ ณรงค์เดชยังกล่าวด้วยว่า ผลกระทบจากคดีนี้อาจส่งผลไกลกว่า กสทช. เพราะว่าในอนาคต เจ้าหน้าที่รัฐอาจจะเกิดความลังเลที่จะดำเนินงานด้านกำกับดูแลที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ หากเกิดความเสี่ยงกับการถูกฟ้องร้องมากขึ้น เช่น หน่วยงานที่ควบคุมมลพิษอาจหลีกเลี่ยงการเอาผิดโรงงานที่ปล่อยสารพิษ หรือเจ้าหน้าที่กำกับดูแลสื่อฯ อาจไม่กล้าออกมาตรการควบคุมโฆษณาที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค
ส่วนสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. กล่าวว่า คดีนี้สร้างแรงกระเพื่อมในเชิงสิทธิและความเป็นส่วนตัว แต่ก็ช่วยเปิดโปงปัญหาเชิงโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรม กสทช. และอนาคตของอุตสาหกรรมสื่อฯ และโทรคมนาคมไทย คำพิพากษาที่ปรากฏออกมานั้น ช่วยกระตุ้นให้สังคมตั้งคำถามถึงหลักนิติธรรม และมาตรฐานความยุติธรรมในระบบกฎหมายไทย ทำให้นักกฎหมายมากมายมองว่าคดีนี้ควรเป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียงเชิงโครงสร้าง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปที่แท้จริง ไม่ใช่แค่การปล่อยให้เกิดเป็นกระแสชั่วคราวแล้วก็จางหายไป
แต่สิ่งที่สุภิญญากล่าวได้น่าสนใจมากคือ ยังมีอีกหนึ่งประเด็นสำคัญได้แก่ บทบาทของ กสทช. ที่ถูกสังคมตั้งคำถามมากมายถึงเรื่องความโปร่งใส และประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและสื่อฯ ประเด็นนี้ช่วยให้สังคมตื่นตัวในบทบาทของ กสทช. มากขึ้น นับเป็นเรื่องดี เพราะ กสทช. ได้ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์มานานมากในเรื่องธรรมาภิบาลในองค์กรและยังถูกวิพากษ์เรื่องการดำเนินงานที่ไม่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล เพราะฉะนั้น กรณีจึงนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องตรวจสอบและปรับปรุงบทบาทขององค์กรกำกับดูแลนี้อย่างจริงจัง
นี่แสดงให้สังคมเห็นชัดว่าสาธารณชนก็ไม่ได้ปลาบปลื้มชื่นชมการทำงานของ กสทช. มากมายนัก เพราะมีข่าวเป็นประจำว่ามีความไม่ชอบมาพากลใน กสทช. บังเกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือประเด็น OTT (On The Top) ซึ่งเป็น platform หนึ่งที่ถูกนำมาใช้มากขึ้นในแวดวงการสื่อสารยุคใหม่ ที่เข้ามาทดแทนการแพร่ภาพบนจอโทรทัศน์แบบดั่งเดิม นอกจากนี้ยังมีระบบ streaming online อีกด้วย ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ยังไม่มีกฎเกณฑ์ และระเบียบ รวมถึงมาตรการใดๆ ที่ใช้กำกับดูแลให้ชัดเจน แม้ในความจริงจะพบว่าการสื่อสารด้วยระบบออนไลน์ในยุค 5G และ 6G กำลังเฟื่องฟูก็ตาม ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดกฎระเบียบเรื่องนี้ให้ชัดเจนด้วย เพราะสังคมโลกกำลังเร่งพัฒนาและภาคธุรกิจเองก็กำลังแข่งขันกันในเรื่องนี้อย่างหนัก เพราะเป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจที่สำคัญ
น่าสนใจตรงที่ว่ากฎหมายไทยยังไม่มีมาตรการกำกับ platform ใหม่ๆ ของโลกออนไลน์ เช่น streaming platform ที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่ธุรกิจด้านนี้กำลังแข่งขันกันอย่างเข้มข้นมากขึ้น เมื่อไทยยังไม่มีกฎหมายดูและควบคุม OTT ก็ต้องถามไปยัง กสทช. ว่าจะดูแลการแพร่ภาพผ่าน OTT อย่างไร ที่จะทำให้ผู้บริโภคไม่เสียเปรียบ และผู้ประกอบการไม่เสียประโยชน์ในเชิงธุรกิจ แต่ต้องเป็นธุรกิจที่ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค
แต่เท่าที่พอจะมีข่าวปรากฏก็คือ ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมานั้น กสทช. ได้ศึกษาแนวทางการกำกับดูแล OTT มาแล้ว และได้จัดทำร่างข้อกำหนดขึ้นเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2566 แต่ทว่าน่าสังเกตตรงที่เมื่อเวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน ร่างข้อกำหนดเพื่อดูแล OTT ก็ยังไม่ถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กสทช.นี่คือช่องว่าที่ทำให้ OTT ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ปราศจากข้อบังคับใดๆ ที่ชัดเจน
ดังนั้น เมื่อ กสทช. ยังไม่มีข้อบังคับเรื่อง OTT อย่างชัดเจน ก็หมายความว่าภาคเอกชนก็ยังสามารถทำมาหากินกับเรื่องนี้ได้ต่อไป โดยไม่มีอำนาจกำกับดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐ การปล่อยให้เอกชนดำเนินการเรื่อง OTT ไปโดยไร้ข้อกำหนด ไร้ทิศทาง ก็คือการปล่อยให้ผู้ประกอบการดำเนินแนวทางด้านการสื่อสารไปตามใจของตนเอง เพราะไม่ใช่เรื่องผิดที่เอกชนจะแสวงหากำไรจากการทำธุรกิจ แล้วไม่ต้องหวังว่าเอกชนทุกรายจะคำนึงถึงเรื่องจรรยาบรรณ และจริยธรรมใดๆ เพราะหากเขามองว่าไม่มีข้อห้ามทางกฎหมายที่ชัดเจนแล้ว เขาก็จะดำเนินกิจการต่อไป แม้จะรู้ว่าผิดบาป ก็ไม่สนใจ เพราะผิดบาปเป็นเรื่องในอนาคตในชาติหน้า และเรื่องหลังความตาย แต่เรื่องของกฎหมายเป็นเรื่องของชาตินี้และปัจจุบัน
ไม่ผิดที่เอกชนจะเห็นช่องทางทำกำไรจากค่าโฆษณาบน OTT เพราะอัตราค่าโฆษณาถูกกว่าการโฆษณาบนสื่อฯ หลัก และสื่อฯ จำพวก digital TV หลายเท่าตัว เพราะฉะนั้น จึงพบว่ามีการลงโฆษณาบน OTT ใน online platform กันมากมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็หมายความว่ารายได้จากโฆษณาในสื่อฯ หลัก และ digital TV หดหายไปมากเป็นลำดับ จนทำให้หลายสื่อฯ ต้องล้มหายตายจากไปในที่สุด
คำถามทิ้งท้ายคือ กสทช. จะออกกฎกำกับดูแล OTT ให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมเมื่อไร หากไม่มีข้อบังคับให้ชัดเจนก็ไม่ต้องหวังว่าเอกชนที่ทำธุรกิจจะยุติการแสวงหากำไรตามที่เขาเห็นว่าทำไปแล้วไม่ผิดกฎหมาย ข้อย้ำว่าเรื่องผิดศีล อาจไม่ได้อยู่ในมโนสำนึกของเอกชนเกือบทุกรายในเมืองไทย เพราะขนาดมีกฎหมาย มีศาล ก็ยังพบว่าเอกชนไทยจำนวนไม่น้อยยังละเมิดกฎหมาย และพยายามเข้าไปมีอิทธิพลเหนือศาลเป็นประจำ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี