ช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลสูงเกินค่ามาตรฐาน ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เฉลี่ยพุ่งสูงถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป นำไปสู่กระแสเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ทำให้รัฐบาลต้องประกาศมาตรการระยะสั้น เช่น เปิดให้ประชาชนนั่งรถไฟฟ้าทุกสายและรถเมล์ ขสมก. ฟรี รวมถึงขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (WFH) เพื่อช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว รณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากกันฝุ่น เพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤตแต่มาตรการเหล่านี้แม้ช่วยบรรเทาสถานการณ์ในระยะสั้น แต่ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแต่อย่างใด
ทั้งที่ในความเป็นจริง ปัญหาฝุ่นควันนี้ยังคงอยู่และส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่น เช่น ภาคเหนือ ที่ต้องเผชิญกับหมอกควันจากไฟป่าและการเผาพื้นที่เกษตรกรรม และที่สำคัญไปกว่านั้น ฝุ่น PM2.5 นี้เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขที่เกิดซ้ำซากในทุกปีโดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่บรรยากาศลมสงบนิ่ง ฝุ่นละอองไม่สามารถลอยตัวขึ้นสู่อากาศหรือเคลื่อนที่ไปไหนได้ฝุ่นละอองเหล่านั้นจึงลอยค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศนานขึ้น ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ต้องเผชิญกับฝุ่นควันพิษ ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพซ้ำแล้วซ้ำแล้วโดยไม่มีวันจบสิ้น วนเวียนเช่นนี้ทุกปี
ทว่า เมื่อเวลาผ่านไป ค่าฝุ่นค่อยๆ ลดลงตามธรรมชาติ ความสนใจของสังคม สื่อ และภาครัฐก็ค่อยๆ จางหายไม่เข้มข้นเท่าตอนที่ฝุ่นปกคลุมพื้นที่จนเกิดวิกฤต เสมือนว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นเพียงกระแสที่กระตุ้นให้สังคมและภาครัฐตื่นตัวให้หาทางแก้ไข มากกว่าการดำเนินนโยบายที่จริงจังและต่อเนื่อง ทำให้ทุกวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีทางออกที่เหมาะสมที่จะป้องกันและแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
หลายประเทศที่เคยเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศอย่างรุนแรงสามารถพลิกสถานการณ์ได้ด้วยมาตรการที่เป็นระบบและต่อเนื่อง เช่น ปักกิ่ง ประเทศจีนที่เคยมีปัญหาหมอกพิษรุนแรง รัฐบาลได้ใช้มาตรการระยะยาว โดยการควบคุมการเผาถ่านหิน และลดการใช้ยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษ และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 ในปักกิ่งลดลงกว่า 50% ภายใน 10 ปี
ในขณะที่ประเทศไทย แม้รัฐบาลจะมีแนวทางในการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ เช่น การห้ามการเผาในที่โล่งทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม สร้างจิตสำนึก รณรงค์การใช้รถสาธารณะ แต่หากดำเนินการเพียงเพื่อรองรับกระแสสังคมโดยไม่มีความต่อเนื่อง ก็ไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้
นอกจากนี้ อีกประเด็นที่ต้องยอมรับคือพฤติกรรมของประชาชนเองก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหาฝุ่นในประเทศยังคงเรื้อรังและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะเรื่องการใช้รถส่วนตัว เพราะสะดวกกว่า ขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะยังไม่ทั่วถึงและมีค่าใช้จ่ายสูง และการเผาตอซังข้าวและพืชไร่ ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและประหยัดที่สุด การบังคับใช้กฎหมายจึงยังไม่ได้ผลเต็มที่เพราะเกษตรกรมองว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่คุ้มค่ากว่า
การแก้ปัญหาฝุ่นควันพิษอย่างยั่งยืนจึงไม่ใช่แค่การบังคับใช้กฎหมายหรือออกมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาสถานการณ์ แต่ต้องมาพร้อมกับการสร้างระบบที่จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนร่วมกับการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นถึงผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ที่จะเกิดกับตัวเองในระยะยาว ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรให้สามารถผสาน “การบังคับใช้กฎหมาย” เข้ากับ “การสร้างทางเลือกที่คุ้มค่า” สำหรับประชาชน การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็จะไม่ใช่การออกมาตรการตามกระแสอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนสำหรับประเทศ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี