nn Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)…วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 โดยระบุว่าเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า โดยขยายตัวที่ 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า ทำให้ทั้งปี 2021 เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตที่ 1.6% สูงกว่าคาดการณ์จากอุปสงค์สินค้าและบริการที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและส่งออกในช่วงปลายปี
อย่างไรก็ตาม ระดับการฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจของไทยยังแตกต่างกันจากผลกระทบของโควิด โดยในภาพรวมปี 2564 แม้เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้หลังจากเผชิญกับการระบาดระลอกใหญ่ในช่วงกลางปี แต่ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากแผลเป็นด้านหนี้ครัวเรือนและตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยหากพิจารณาแยกตามส่วนประกอบและภาคเศรษฐกิจพบว่า การส่งออกและการบริโภคภาครัฐสามารถฟื้นตัวกลับมาอยู่สูงกว่าระดับก่อนโควิดแล้ว ขณะที่กิจกรรมในภาคการเงินและการก่อสร้างกลับมาอยู่ระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนการระบาด อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของแต่ละภาคส่วนยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาด โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจที่พักและร้านอาหาร
สำหรับปี 2565 EIC คาดเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในอัตราเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งภายในและนอกประเทศต่อเนื่อง โดยถึงแม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปีจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอนและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศเป็นปัจจัยฉุด แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจจะยังคงฟื้นตัวได้เริ่มจากภาคการท่องเที่ยวที่ในช่วงไตรมาสแรกยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่จากทั้งสถานการณ์การท่องเที่ยวโลกที่ยังซบเซาและการชะลอนโยบาย Test & Go ในเดือนมกราคมเพื่อป้องกันการระบาดของทางการไทย แต่ในครึ่งปีหลังคาดว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มีนักท่องเที่ยวจากชาวจีนในปีนี้ก็ตาม ขณะที่การส่งออกสินค้าจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในปี 2022 โดยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้แม้ในอัตราที่ชะลอลงตามทิศทาง
ของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น รวมถึงได้อานิสงส์ใหม่จากการที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ด้านการใช้จ่ายในประเทศจะฟื้นตัวเช่นกันจากกิจกรรมเศรษฐกิจที่จะกลับมาดำเนินการได้มากขึ้นตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน อัตราการป่วยหนักและอัตราการเสียชีวิตจากโอมิครอนที่ยังอยู่ในระดับต่ำเทียบกับการระบาดในช่วงก่อนหน้า แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (รูปที่ 4) อีกทั้งยังจะได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์คงค้าง (Pent-updemand) ของผู้มีกำลังซื้อ นอกจากนี้การส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนที่ดีขึ้นก็จะส่งผลต่อเนื่องให้การลงทุนและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากระดับนักท่องเที่ยวที่ยังต่ำกว่าช่วงปกติมาก และผลของแผลเป็นเศรษฐกิจจากผลกระทบในช่วงสองปีที่ผ่านมาทั้งในด้านพลวัตการเปิดปิดกิจการที่ยังซบเซาเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต ตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ในส่วนการลงทุนของภาครัฐจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) แต่แรงส่งจากภาครัฐในภาพรวมจะลดลงจากปีก่อนหน้าตามการใช้จ่ายอุปโภค-บริโภคของภาครัฐภายใต้กรอบงบประมาณที่ลดลง เม็ดเงินราว 1.1 แสนล้านบาทที่จะเหลือจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็ถือว่ายังน้อยกว่าเม็ดเงินที่ภาครัฐใช้ทำมาตรการเพิ่มเติมในปี 2021
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังคงมีอยู่หลายประการ ได้แก่ 1) การระบาดCOVID-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะหากมีการกลายพันธุ์หรือเกิดไวรัสสายพันธุ์ย่อยเช่นOmicron BA.2 ที่อาจลดประสิทธิภาพวัคซีนลง2) ภาวะเงินเฟ้อโลกและภาวะการเงินที่ตึงตัวจากการเปลี่ยนทิศทางนโยบายของธนาคารกลางหลักของโลก จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย 3) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด จนกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในวงกว้าง4) เศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาด ทั้งผลจากนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีหนี้ในระดับสูง และ 5) ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นจากผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ที่อาจนำไปสู่ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง
โดยสรุปคือ เศรษฐกิจปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่คาดไว้เดิม จากการติดตามข้อมูลทั้งในด้านเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจ ตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และข้อมูล mobility พบว่ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1/2022 อาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนน้อยกว่าที่คาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการท่องเที่ยวที่ทางการเริ่มนำมาตรการ Test & Goกลับมาใช้แล้วในเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้เศรษฐกิจปี 2022 มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่คาดไว้เดิม โดย EIC จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงเดือนต้นมีนาคมนี้
ธ.ไทยพาณิชย์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี