** สภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) เปิดเผย “รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำประจำไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 “ โดยระบุว่า ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำเพื่อการลงทุนของประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อยู่ที่จำนวน 7.4 ตัน และนับเป็นไตรมาสที่ 1 ที่แข็งแกร่งที่สุดของไทยนับตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ความต้องการทองคำภาคผู้บริโภคโดยรวมของไทยที่ประกอบด้วยปริมาณการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำกับความต้องการทองคำเครื่องประดับในไตรมาสที่ 1 นั้นรวมเป็นจำนวน 9.1 ตัน เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเป็นปริมาณความต้องการทองคำภาคผู้บริโภครายไตรมาสที่มีการเติบโตสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้านความต้องการทองคำโดยรวมทั่วโลกจากทุกภาคส่วน (ซึ่งรวมถึงการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์[1] หรือ Over-the-counter: OTC) รายไตรมาสนั้นอยู่ที่ 1,206 ตัน เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ท่ามกลางสภาวะที่ราคาทองคำสูงเป็นประวัติการณ์และทะลุระดับ 3,000 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์
การฟื้นตัวของกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำแท่งสำหรับนักลงทุน ได้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งผลให้ระดับความต้องการลงทุนทองคำโดยรวมทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าอยู่ที่ระดับ 552 ตัน คิดเป็น 170% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าและเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2565 กระแสเงินที่ไหลเข้าสู่กองทุน ETF ทั่วโลกนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในไตรมาสแรกและมีปริมาณความต้องการ 226 ตัน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากทิศทางราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และความไม่แน่นอนด้านนโยบายภาษีนำเข้าที่ผลักดันให้นักลงทุนหันมาถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
ด้านความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำเพื่อการลงทุนทั่วโลกได้เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และยังคงอยู่ในระดับสูงที่จำนวน 325 ตันสำหรับไตรมาสที่ 1 โดยได้รับแรงหนุนจากนักลงทุนค้าปลีกรายย่อยในประเทศจีนที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากและนับเป็นไตรมาสที่สูงที่สุดในประวัติการณ์เป็นอันดับสอง ทั้งนี้นักลงทุนจากฝั่งตะวันออกได้ขับเคลื่อนความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกส่วนใหญ่และช่วยชดเชยกับฝั่งตะวันตกที่ดูอ่อนแอ โดยความต้องการในสหรัฐอเมริกาได้ลดลง 22% ขณะที่ฝั่งยุโรปฟื้นตัวขึ้นมาเล็กน้อยที่จำนวน 12 ตัน แต่ฐานตัวเลขของไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้านั้นอยู่ในระดับที่ต่ำมาก
ธนาคารกลางยังคงเป็นผู้ซื้อทองคำสุทธิติดต่อกันเข้าสู่ปีที่ 16 และได้เพิ่มปริมาณทุนสำรองทั่วโลก 244 ตันในไตรมาสที่ 1 ท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอนในระดับโลกที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป แม้ว่าความต้องการของธนาคารกลางจะลดลง 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่นับว่ายังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและมีปริมาณสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยรายไตรมาสของสามปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการซื้อทองคำในระดับที่สูงมาอย่างต่อเนื่อง
ด้านความต้องการทองคำเครื่องประดับนั้นเป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ โดยได้รับผลกระทบเชิงลบจากราคาทองคำที่พุ่งทำสถิติสูงสุดใหม่ถึง 20 ครั้งในไตรมาสที่ 1 ทั้งนี้ประเทศไทยมีความต้องการทองคำเครื่องประดับปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1.7 ตัน เนื่องจากราคาทองคำที่พุ่งขึ้นสูง ซึ่งนับเป็นการลดลงในระดับปานกลางที่ 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ปริมาณความต้องการทองคำเครื่องประดับทั่วโลกได้ลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2563 อย่างไรก็ตามตลาดทองคำเครื่องประดับนั้นยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะหากพิจารณาในแง่ของมูลค่าแม้ว่าจะได้รับแรงกดดันอย่างรุนแรงจากราคาทองคำที่สูงก็ตาม โดยในไตรมาสแรกพบว่าผู้บริโภคได้ซื้อทองคำเครื่องประดับทั่วโลกเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เป็นจำนวน 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเกือบทุกตลาดมีมูลค่าความต้องการทองคำเครื่องประดับสูงขึ้นยกเว้นในประเทศจีน
ด้านอุปทานทองคำโดยรวมของไตรมาสแรกนั้นทรงตัวในระดับเดียวกันกับปีก่อนหน้าที่จำนวน 1,206 ตัน โดยปริมาณการผลิตจากเหมืองแร่ได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์สำหรับไตรมาสที่ 1 แต่ปริมาณอุปทานโดยรวมนั้นถูกลดทอนลงจากการรีไซเคิลทองคำที่ปรับลดลงเล็กน้อย ขณะที่ความต้องการทองคำในภาคเทคโนโลยียังคงทรงตัวที่จำนวน 80 ตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2567
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี