** นโยบายภาษีตอบโต้ของ นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยในหลายมิติทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ทนนี้ลองมาดูสิว่าอุตสาหกรรมไหนของที่จะได้รับผลกระทบบ้าง
เริ่มจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์..แน่นอนว่าได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมในระดับสูง โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่จะได้รับผลกระทบทางตรง ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ 67%, 59%, 38% และ 30% ตามลำดับ นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากผลของนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มชะลอลง และแม้แต่ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในกระแสนวัตกรรมใหม่ เช่น AI และ EV ก็คาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลก
อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก...จะได้รับผลกระทบทางตรงในระดับสูง เนื่องจากไทยมีการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปประเภทแผ่นฟิล์มพลาสติก ถุง และบรรจุภัณฑ์ ไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 17-25% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าพลาสติกสำเร็จรูปที่ไทยส่งออกทั้งหมด อีกทั้ง สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศที่ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไทยส่งออกไปทั้งหมด ส่งผลให้ไทยอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับผู้ผลิตจากประเทศผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกซึ่งถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า เช่น เกาหลี (25%) หรืออินเดีย (26%) เป็นต้น
อุตสาหกรรมเหล็ก…แม้ว่าจะได้รับผลกระทบทางตรงในระดับต่ำแต่จะได้รับผลกระทบทางอ้อมในระดับสูง โดยในส่วนของผลกระทบทางตรงที่ต่ำเนื่องจากไทยยังมีการส่งออกสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็กไปตลาดโลกเป็นสัดส่วนน้อย อยู่ที่ราว 2% ของมูลค่าการส่งออกรวม โดยมีสัดส่วนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 18% ของการส่งออกสินค้าเหล็กทั้งหมดของไทย นอกจากนี้ สินค้าเหล็กไม่อยู่ในกลุ่มที่ถูกใช้อัตราภาษี 36% ตาม Reciprocal tariff แต่อยู่ในกลุ่มที่ต้องเสียภาษีนำเข้าตามมาตรา 232 (ภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act of 1962) ที่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กที่ 25% และถูกใช้อัตรานี้ มาตั้งแต่ปี 2018 อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สินค้าเหล็กได้รับผลกระทบทางอ้อมในระดับสูง ทั้งจากการทะลักเข้ามาของเหล็กจากจีนมากขึ้น รวมถึงการที่สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กถ้วนหน้าที่ 25% ยังส่งผลให้เหล็กจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เคยได้รับการยกเว้นอัตราภาษีในช่วงก่อนปี 2025 มีความเสี่ยงที่จะถูกระบายมาไทยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการใช้เหล็กไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิตลดลง จากการทะลักเข้ามาของสินค้าปลายน้ำจากจีน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ ชิ้นส่วนรถยนต์ EV ที่ถูกนำเข้าจากจีนเป็นหลักเกิน 90% จาก FTA ซ้ำเติมให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กของไทยอยู่ในระดับต่ำลงกว่าเดิม อีกทั้ง การเข้ามาลงทุนของบริษัทเหล็กจีนในไทยเป็นความเสี่ยงที่ทำให้สินค้าเหล็กจากไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ อาจถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า (Country of origin) เนื่องจากการผลิตเหล็กในไทยใช้วัตถุดิบนำเข้าจากจีนในสัดส่วนที่สูง ซึ่งอาจนำมาสู่การถูกสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการกีดกันการค้าผ่านกลไกการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าได้
อุตสาหกรรมยางพารา... ได้รับผลกระทบในระดับสูง เนื่องจากแม้ในปี 2024 ไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกยางพาราไปยังตลาดสหรัฐฯ เพียง 9.5% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด แต่ไทยโดนเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐฯ โดยอินโดนีเซีย และโกตดิวัวร์ ซึ่งถูกเก็บภาษีตอบโต้ที่ 32% และ 21% ตามลำดับ นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้ความต้องการใช้ยางล้อเติบโตชะลอลงตามไปด้วย ซึ่งจะกดดันราคายางพาราในตลาดโลกและส่งผลเสียต่อรายได้ของอุตสาหกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมยางพารามีการพึ่งพารายได้จากตลาดโลกในระดับสูง และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนจะกระทบต่ออุตสาหกรรมยางพาราไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากไทยมีการส่งออกยางพาราไปจีนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงราว 32 % ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดในปี 2024
อุตสาหกรรมไม้ยางพารา...ได้รับผลกระทบในระดับสูง เนื่องจากแม้ในปี 2024 ไทยจะส่งออกไม้ยางพาราไปสหรัฐฯ น้อยมากเพียง 0.004 % ของปริมาณการส่งออกไม้ยางพาราทั้งหมด แต่ไทยจะได้รับผลทางอ้อมในระดับสูงผ่านทางจีน เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกไม้ยางพาราไปตลาดจีนเกือบทั้งหมด โดยในปี 2024 ส่งออกไปจีนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 97% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด ดังนั้น สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไม้ยางพาราด้วย เนื่องจากไม้ยางพาราเป็นสินค้าขั้นกลางที่จีนนำไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยในปี 2024 จีนพึ่งพาการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 26% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ขณะเดียวกัน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนยังส่งผลกระทบต่อความต้องการภายในประเทศเองด้วย
อุตสาหกรรมถุงมือยาง...ได้รับผลกระทบในระดับสูง เนื่องจากไทยมีการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ในระดับสูง โดยในปี 2024 มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็น 32% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ คู่แข่งสำคัญของไทยอย่างมาเลเซียถูกเก็บภาษีตอบโต้เพียง 24% ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยปรับตัวลดลง ประกอบกับกำลังการผลิตถุงมือยาง ในมาเลเซียที่มีอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ไทยอาจได้รับผลบวกไม่มาก จากการส่งออกถุงมือยางไปทดแทนสินค้าถุงมือยางจีนในตลาดสหรัฐฯ
อุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนประกอบ...ได้รับผลกระทบทางตรงในระดับสูง เนื่องจากไทยส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนประกอบไปยังตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยในปี 2024 มีสัดส่วนอยู่ที่ราว 67% ของการส่งออกทั้งหมด ทั้งนี้มาตรการ Reciprocal tariff 36% คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกไปสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงไปอีก ซึ่งจะซ้ำเติมผู้ส่งออกที่ถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) ถึง 77.85-154.68% ตั้งแต่ พ.ย. 2024 ที่ผ่านมาที่ส่งผลให้การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนประกอบไปสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2025 ลดลงถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY ) ดังนั้น หากรวมผลกระทบจาก Reciprocal tariff อีก 36% เข้าไปด้วย คาดว่าจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนประกอบจากไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2025 ลดลงเฉลี่ยราว 45-65%
อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์...ได้รับผลกระทบในระดับสูง เนื่องจากสหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญที่ครองส่วนแบ่งสูงถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย อีกทั้ง การขึ้นภาษีนำเข้าแบบเจาะจงในอัตรา 25% คาดว่าจะทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เผชิญความเสี่ยงสำคัญจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. การส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัว อันเกิดจากการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับเม็กซิโก ซึ่งมีศักยภาพการแข่งขันในอุตฯ ชิ้นส่วนยานยนต์ใกล้เคียงกับไทย อีกทั้ง ยังมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการค้า เพราะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ โดยกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ ล้อรถ และระบบเกียร์ 2. คำสั่งซื้อชิ้นส่วนจากประเทศผู้ผลิตรถยนต์หลัก มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่มีการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากไทยเพื่อนำไปประกอบยานยนต์และส่งต่อไปยังสหรัฐฯ ทำให้ธุรกิจที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน เช่น ผู้ผลิตคลัตช์ เบรก เข็มขัดนิรภัย และถุงลมนิรภัย มีความเสี่ยงจากผลกระทบทางอ้อม และ 3. ทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนคาดว่าจะชะลอตัว เนื่องจากนักลงทุนอาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในกลุ่ม USMCA (เช่น เม็กซิโก) ซึ่งยังได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ
** กระบองเพชร**
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี