อุบัติเหตุจากทางเลื่อนอัตโนมัติของสนามบินดอนเมือง ที่ดูดขาผู้โดยสารหญิงรายหนึ่ง เข้าช่องรอยต่อสิ้นสุดทางเลื่อนจนขาด สร้างความสลดใจให้แก่ผู้ทราบข่าวและยังสร้างความรู้สึกหวาดผวา ไม่กล้าใช้ทางเลื่อนอัตโนมัติ และมองว่าเป็นอุปกรณ์อันตรายที่อาจสร้างความเสียหายและบาดเจ็บร้ายแรงจนถึงชีวิตได้ และสนามบินแห่งนี้มีทางเลื่อนอัตโนมัติอยู่ถึงราว 20 ตัว
สนามบินดอนเมือง ซึ่งในอดีตเคยเป็นสนามบินนานาชาติหลักแห่งเดียวของประเทศไทยในกรุงเทพมหานคร แออัดคับคั่งไปด้วยจำนวนผู้โดยสารและการจราจรของเที่ยวบินทั้งสายการบินต่างประเทศและในประเทศมากมายต่อวัน จนแทบจะไม่เพียงพอต่อการบริการในยุคที่เศรษฐกิจการท่องเที่ยวเฟื่องฟู ด้วยข้อจำกัดที่ไม่อาจขยายพื้นที่สนามบินได้อีก อันเนื่องมาจากความเจริญของพื้นที่แถบนี้ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ข้อจำกัดด้านทางขึ้น-ลงของอากาศยานของสนามบินที่อยู่ติดกับสนามกอล์ฟและน้ำท่วมถึงจนเป็นอุปสรรคในการใช้งานจนถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 26 ของจำนวนทั้งหมด 29 อันดับ ของสนามบินที่อันตรายที่สุดโดยเว็บไซต์ชื่อดัง ทว่าก็ยังคงมีสถานะเป็นสนามบินนานาชาติของไทยอยู่ แม้จะมีสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นสนามบินแห่งใหม่ ทันสมัย โอ่อ่าและกว้างขวางกว่ามากก็ตาม
บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หน่วยงานผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุนี้ ยืนยันว่า มีการดูแลและบำรุงรักษาทางเลื่อนเป็นอย่างดี หากพบว่าร่องหวี (Comb Plate Gab) ของทางเลื่อนมีซี่หักเกินกว่า 2 ซี่ติดกันจะเปลี่ยนใหม่ทันที ทางเลื่อนนี้เป็นระบบเก่าที่ใช้มานานกว่า 27 ปี เครื่องตรวจจับ (Censor) ทางเลื่อนเป็นระบบวัดจากความตึงของสายพานทางเลื่อน ซึ่งระบบตัดการทำงานช้าเนื่องจากมีวัตถุกระแทกก่อนเกิดเหตุ ท่ามกลางข่าวแพร่สะพัดเชิงสถิติว่าเคยเกิดกรณีในทำนองเดียวกันนี้ในปี 2562 เป็นกรณีที่รองเท้าผู้โดยสารถูกดูดติดเข้าไป ซึ่งปรากฏภาพแผงร่องหวีสีเหลืองของช่วงรอยต่อสุดทางเลื่อนหักหลุดหายไปทั้งแผง ประกอบการเล่าเหตุการณ์ แต่ไม่เกิดการบาดเจ็บในเหตุการณ์ครั้งนั้น
วิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบได้สันนิษฐานเบื้องต้นว่า การเกิดอุบัติเหตุเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากการที่มีวัสดุตกหล่นซึ่งอาจเป็นล้อของกระเป๋าเดินทางไปขัดอยู่บริเวณปลายหวี เมื่อล้อของกระเป๋าเดินทางไม่สามารถเคลื่อนตัวต่อไปได้ จึงเกิดการขัดตัวจนปลายหวีแตกหักและหลุดเข้าไปในระบบทางเลื่อนอัตโนมัติ เป็นเหตุให้ไปง้างแผ่นพื้นทางเลื่อน เกิดการกระดกจนนอตที่ล็อกแผ่นพื้นกับรางเลื่อนขาด ทำให้มีช่องว่างกว้างเพียงพอที่จะทำให้ขาของผู้บาดเจ็บที่กำลังก้าวหล่นลงไปในช่องว่างในขณะที่ทางเลื่อนยังทำงานตามปกติจึงทำให้เกิดการบาดเจ็บ และขอตรวจจุดเกิดเหตุในรายละเอียดเพื่อสรุปต่อไป
ระบบทางเลื่อนหรือบันไดเลื่อนอัตโนมัติ (Moving walk or Escalators) ปัจจุบันประเทศไทยมีข้อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของระบบบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติ พ.ศ.2565 โดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ(วสท.) ได้กำหนดขึ้นซึ่งเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับเป็นมาตรฐานประเภทที่ให้ปฏิบัติตาม เพื่อให้การใช้งานการติดตั้ง การบำรุงรักษามีความปลอดภัย มีคุณภาพยกระดับมาตรฐานและประการสำคัญจะต้องลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดจากการใช้วัสดุที่ไม่ปลอดภัย ติดไฟได้ง่ายและเป็นอันตราย โดยอ้างอิงมาจากข้อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยและทางเลื่อน (EN115 Safety of Escalators and Moving Walks) ของคณะกรรมการมาตรฐานของยุโรป
ข้อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยฯดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกฎหมายมาตรฐานความปลอดภัยหลักในเรื่องนี้ หากในกรณีที่มีข้อกำหนดอื่นที่เกี่ยวกับบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติ มีข้อขัดแย้งกับข้อกำหนดของมาตรฐานฉบับนี้ให้ยึดถือข้อกำหนดของมาตรฐานฉบับนี้เป็นแนวทางและให้ใช้มาตรฐานนี้ เป็นหลักในการออกแบบสร้างและอุปกรณ์การติดตั้ง การใช้งาน และการบำรุงรักษาระบบบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติ
กรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นที่สนามบินดอนเมืองในครั้งนี้ หากเกิดขึ้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ผู้ประสบเหตุจะไม่ได้รับอันตรายถึงขาขาด เพราะทางเลื่อนที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นระบบใหม่ หากมีการติดขัดที่ทางลื่นเพียงเล็กน้อย เครื่องตรวจจับ (Censor) จะตรวจจับความผิดปกติได้ และทางเลื่อนจะหยุดทำงานในทันที
การที่ผู้บริหารสนามบินดอนเมือง ยังให้ใช้ทางเลื่อนรุ่นเก่าแบบเดิม 16 ตัว ในทั้งหมด 20 ตัว (เปลี่ยนเป็นระบบใหม่แล้วแค่ 4 ตัว) ถือเป็นความประมาทอย่างหนึ่ง ที่ยังให้ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิม ทั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่ที่ดีกว่า
หากผู้บริหารสนามบินดอนเมืองจะอ้างว่า มีปัญหาเรื่องงบประมาณจัดซื้อ ไม่สามารถจะเปลี่ยนทางเลื่อนทั้งหมดได้ในขณะนี้ ถือว่าเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นเพราะในอดีตที่ผ่านมา หุ้น AOT ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด จัดเป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูง และมีนักลงทุนสนใจซื้อเป็นจำนวนมาก ติดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศย่อมเป็นผลสะท้อนที่แสดงเห็นว่า ที่ผ่านมาผลประกอบการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนช่วงนี้วิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด แล้วทำไมถึงไม่รีบจัดสรรเปลี่ยนทางเลื่อนใหม่ทั้งหมดให้เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับในปัจจุบัน
ผู้เสียหายกรณีนี้ มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนพื้นฐานตามกฎหมาย 5 กรณี คือ ค่าใช้จ่ายที่ผู้เสียหายต้องเสียไป ค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานปัจจุบัน ค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานในอนาคตค่าขาดแรงงานของบุคคลภายนอก และค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน โดยไม่ถือเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายซ้ำซ้อนกัน (แนวคำพิพากษาฎีกาที่ 1794/2517 และฎีกาที่ 2416/2534)
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นข้อคิดเตือนใจว่า ผู้ใช้บริการสนามบิน จะต้องระมัดระวังด้วยตนเองและมีสติอยู่ตลอดเวลา
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี