ค้าปลีกไทยต้องปรับตัวรับความท้าทายรอบด้าน
** ท่ามกลางสถานการณ์ภาคครัวเรือนที่ยังมีความเปราะบางจากภาวะหนี้ภาคครัวเรือน รวมถึงราคาสินค้าที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ธุรกิจ Modern trade (ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่) ยังมีแนวโน้มขยายตัวโดยได้รับปัจจัยหนุนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ และภาคท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าธุรกิจ Modern trade ในปี 2568 จะขยายตัวที่ 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY ) ไปอยู่ ที่ราว 2.5 ล้านล้านบาท ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายภาครัฐต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการ Easy E-Receipt 2.0 , โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 2 (ผ่านผู้สูงอายุ) และเฟส 3 (กลุ่มอายุ 16-20 ปีตามเงื่อนไข) นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดค่าครองชีพ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้และแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ตลอดจนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน
สำหรับธุรกิจกลุ่ม Department store ในปี 2568 คาดว่ายอดขายจะเติบโตที่ราว 4.6% จากที่มูลค่าตลาดเติบโต 6% ในปี 2567 โดยแม้ว่าภายใต้สถานการณ์กำลังซื้อที่ยังคงเปราะบางและฟื้นตัวได้อย่างจำกัดอาจส่งผลต่อแนวโน้มการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าไม่จำเป็น แต่ธุรกิจ Department store ยังมีปัจจัยหนุนจากภาคท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ ยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะดำเนินการในปี 2568 อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของกลุ่ม Department store ยังมีความเสี่ยงจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญของห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยฉุดรั้งสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคสู่ช่องทางออนไลน์ และแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการเปิดตัวโครงการ Commercial real estate ขนาดใหญ่หลายโครงการ
สำหรับกลุ่มร้านค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม คาดการณ์ว่ารายได้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับกระแสรักสุขภาพที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องในทุกช่วงวัย รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขายสินค้าประเภทนี้ อาทิ ยา วิตามินและอาหารเสริม อย่างไรก็ดี เทรนด์ Travel retail หรือร้านค้าในพื้นที่ท่องเที่ยว ที่นิยมจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามของไทยได้รับความนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยและเครื่องหอม
ส่วนมูลค่ายอดขายของร้านขายสินค้าเฉพาะทางในกลุ่มสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มเติบโตราว 4.5% ในปี 2568 ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2567 ที่เติบโตที่ประมาณ 4.6% โดยในปี 2568 นี้กลุ่มสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย จะได้รับแรงสนับสนุนจากตลาด Renovate ที่อยู่อาศัย รวมไปถึงความต้องการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือนมีนาคม 2025 อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญที่ต้องจับตาคือความต้องการที่อยู่อาศัยที่ปรับลดลงตามกำลังซื้อและการเข้าถึงสินเชื่อของผู้บริโภค ขณะที่กลุ่มสินค้าตกแต่งบ้าน ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากร้านค้าออนไลน์ที่มีราคาถูกกว่าอย่างมาก โดยเฉพาะจากแพลตฟอร์มออนไลน์จากจีน
ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่กลุ่มสินค้าแฟชั่นคาดว่าจะมียอดขายเติบโตราว 4.6% ในปี 2568 โดยยอดขายชะลอตัวลงจากปี 2567 ที่มีการเติบโตอยู่ที่ราว 5 % ซึ่งประเด็นที่ต้องจับตาดูต่อไปคือการแข่งขันในตลาดที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ โดยคาดว่ากลุ่ม Fast fashion จะยังคงมีการเติบโตที่ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากกลุ่มนี้มีความสามารถในการปรับให้ทันสมัยได้อย่างรวดเร็วและมีความหลากหลาย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในระยะสั้นได้ อีกทั้ง สินค้ากลุ่มนี้ยังมีราคาที่จับต้องได้ ทำให้สามารถซื้อได้บ่อยครั้งและเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าที่ไม่จำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของยอดขายสินค้าประเภทแฟชั่น
ดังนั้นท่ามกลางภูมิทัศน์การแข่งขัน (Competitive landscape) เช่นนี้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งจากกลุ่มผู้เล่นที่มีหน้าร้านและจากกลุ่มแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้ามารุกตลาดมากขึ้น โดยนอกจากการนำเสนอสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค รวมถึงการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์แล้ว ยังต้องเน้นการสร้างประสบการณ์ในการซื้อสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนการตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องความยั่งยืนร่วมด้วย
ผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ โดยเฉพาะ Modern grocery ยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการแข่งขันสูง โดยพบว่ากลุ่ม Convenience store ยังมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพตามการขยายตัวของเมือง ขณะที่กลุ่ม Supermarket และ Hypermarket มีแนวโน้มขยายสาขาอย่างระมัดระวัง โดยเน้นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโต สำหรับกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ในกลุ่ม Modern grocery มีการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการลูกค้าผ่านหลากหลายช่องทางและเพิ่มความสะดวกสบายในการเลือกซื้อสินค้า และยังนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว อย่างไรก็ตามในภาวะที่เศรษฐกิจไทยขณะนี้ ผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายแม้จะเป็นสินค้าที่จำเป็นก็ตาม ผู้ประกอบการจึงอาจพิจารณาใช้กลยุทธ์การตลาดสำหรับผู้บริโภคที่เน้นการใช้จ่ายแบบประหยัด จึงควรมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอสินค้าของแบรนด์ตัวเอง (House brand) เพื่อตอบโจทย์ความคุ้มค่าของเงิน หรือขายสินค้าในราคาเท่าเดิมแต่ปรับลดปริมาณลง
กลุ่มห้างสรรพสินค้า เป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่มีแนวโน้มเผชิญกับความท้าทายสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ ทั้งความเสี่ยงด้านอุปสงค์จากกำลังซื้อที่เปราะบางและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงความเสี่ยงด้านอุปทานจากคู่แข่งในตลาดที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการห้างสรรพสินค้าใหม่ ๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างหรือเพิ่งเปิดตัว รวมไปถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากตลาด E-commerce สำหรับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย นอกเหนือไปจากปัจจัยฉุดรั้งจากภาวะตลาดอสังหาฯ ที่ซบเซาแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การแข่งขันด้านราคาจึงอาจเป็นกลยุทธ์ที่ทำได้ไม่ง่ายนัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายจำเป็นต้องชูจุดขายของตนเองเพื่อสร้างความแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นในตลาด เช่น การเพิ่มประเภทของสินค้าให้หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการนำเสนอสินค้า House brand ที่มีราคาต่ำกว่าเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มร้านค้าปลีกสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ยังอาจพิจารณานำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ทั้งทางหน้าร้านและทางออนไลน์เพื่อสร้างประสบการณ์ในการช็อปปิง ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีอย่าง AR/VR ที่ช่วยให้ผู้บริโภคเห็นภาพเสมือนจริงว่าเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งบ้านต่างๆ สำหรับการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยยังต้องเผชิญการแข่งขันจากร้านค้าจากต่างประเทศ อย่าง IKEA และ Nitori ที่จำหน่ายสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ในระยะต่อไป การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกของไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากผู้เล่นในตลาด E-commerce ทั้ง Platform marketplace ในประเทศ รวมถึงการเข้ามาของ Marketplace สัญชาติจีนอย่าง Temu และ Shein ที่มีความได้เปรียบจากสินค้าที่มีความหลากหลายและสินค้ามีราคาไม่สูง ซึ่งส่งผลต่อผู้ประกอบการค้าปลีกของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าเกี่ยวกับบ้านและกลุ่มสินค้าแฟชั่น เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคอาจไม่ได้คาดหวังให้สินค้าเหล่านี้มีการใช้งานนาน จึงเน้นการซื้อสินค้าราคาถูกและสามารถซื้อซ้ำได้บ่อยๆ ดังนั้น กลยุทธ์การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่ขายสินค้าเฉพาะทาง อย่างกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม สินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย สินค้าแฟชั่น ควรเน้นการปรับตัวด้วยการนำเสนอสินค้าที่มีเอกลักษณ์และคุณภาพสูง เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่ยินดีจ่ายเพื่อสินค้าที่มีคุณภาพและมีความยั่งยืน
**SCB EIC**
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี