** หนึ่งในอุตสาหกรรมยุคแรกๆของไทยที่ทำให้เกิดการลงทุนหลายแสนล้านบาท และมีการจ้างงานมากกว่า 1 แสนคน และถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญของประเทศ ก็คืออุตสาหกรรมเหล็กนั่นเอง ซึ่งอุตสาหกรรมเหล็กของไทยนับว่ามีส่วนสำคัญมากในการช่วงที่เศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรม จากที่เป็นประเทศทำเกษตรกรรมเป็นหลัก ซึ่งการก้าวเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมก็มีความจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมาย เหล็กคือห่วงโซ่อุปทานสำคัญ รวมทั้งการขยายตัวของอาคารหรือตึกสูงต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย จึงต้องมีอุตสาหกรรมเหล็กเป็นของตัวเอง
อุตสาหกรรมเหล็กของไทยเติบโตและมั่นคงมานาน จนกระทั่งเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ก็เริ่มเจอกับปัญหาการเข้ามาทุ่มตลาดของเหล็กต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นเหล็กทรงยาว หรือเหล็กทรงแบน ซึ่งหลักๆก็มาจากประเทศจีน และปัญหาของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กของไทยก็หนักขึ้นนับตั้งแต่ปี 2557 ที่ไทยเปิดให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาตั้งโรงงานเหล็กประเภทเตาหลอมแบบ Induction Furnace หรือเตา IF ในไทย หลังจากโรงงานเหล็กจีนกลุ่มดังกล่าวถูกรัฐบาลจีนสั่งระงับไป เนื่องจาก เตา IF ก่อมลพิษทางการอากาศสูง สิ้นเปลืองพลังงาน และควบคุณคุณภาพของเหล็กได้ลำบาก ซึ่งการเข้ามาของเหล็กเตา IF จากจีน เข้ามาซ้ำเติมผู้ประกอบการไทย ที่เดิมต้องเจอกับปัญหาการทุ่มตลาดหนักอยู่แล้ว เมื่อมาเจอกรณีของเหล็กเตา IF จากจีนเข้าไปอีก ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากต้องปิดกิจการไป เพราะสู้ไม่ไหวจริงๆ บางรายที่ยังอยู่รอดก็ใช้กำลังการผลิตเพียง 25-30% เท่านั้น
เมื่อไทยเปิดรับโรงงานเหล็กจากจีนเหล่านี้เข้ามา ในช่วง 4-5 ปีมานี้วงการก่อสร้างของไทยก็ต้องเจอกับปัญหาเหล็กเส้นโครงสร้างคุณภาพต่ำ(เหล็กเบา) อุบัติเหตุโครงการก่อสร้างถล่มลงมาในขณะการก่อสร้างก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีการตั้งข้อสังเกตของคุณภาพเหล็กในหลายกรณี แต่ทางการหรือสังคมเองก็ยังไม่ใส่ใจต่อปัญหานี้มากเท่าใดนัก จนกระทั่งเกิดกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มลง ทำให้ผู้บริโภคให้ความสนใจเรื่องคุณภาพของเหล็กเส้นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แน่นอนว่าเหล็กเส้นที่คุณภาพสูงและได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทุกเรื่อง ทั้งเรื่องความเหนียว มาตรฐานค่าโลหะ (คาร์บอน) ฯลฯ ก็คือเหล็กเส้นที่หลอมด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า (EAF) ซึ่งเป็นเตาหลอมที่ผู้ประกอบการของไทยทั้งหมดใช้กัน เมื่อผู้บริโภคให้ความสนใจเรื่องคุณภาพของเหล็กเส้นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และให้ความเชื่อมั่นในเหล็กที่ผลิตด้วยเตา EAF มากขึ้น เนื่องจากเหล็กเป็นวัสดุสำคัญต่อความมั่นคงแข็งแรงของสิ่งปลูกสร้างในระยะยาว ประกอบการกับการที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพเหล็ก และกวดขันตรวจสอบอย่างเข้มข้นกับเหล็กไม่ได้มาตรฐานและโรงงานผลิตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการเหล็กเส้นที่มาจากเตา EAF เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะนี้ผู้ผลิตเหล็กจากเตา EAF จึงเร่งปรับเพิ่มปริมาณการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการผลิตเหล็กแท่งด้วยเตา EAF เพื่อนำไปรีดเป็นเหล็กเส้น EAF และการนำเข้าเหล็กแท่งจากต่างประเทศที่ผลิตด้วยเตา EAF และเตาถลุง
จากข้อมูลจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่าปริมาณการผลิตเหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2568 เพิ่มขึ้นมากกว่า 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 (จาก 292,000 ตันต่อเดือน เป็น 345,000 ตันต่อเดือน) ขณะที่ปริมาณการนำเข้าเหล็กแท่งที่นำมารีดเป็นเหล็กเส้นในช่วงเดียวกันพุ่งสูงถึง 275,669 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 100,474 ตันในปีก่อน หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 174%
แน่นอนว่าสถานการณ์นี้ย่อมทำให้ผู้เหล็กจากเตา IF เดือดร้อน จึงเริ่มการปล่อยข่าวออกมาว่า “เหล็กเส้นอาจขาดตลาด และผู้ผลิตอาจฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา” ซึ่งกระแสข่าวดังกล่าว ทาง สมาคมผู้ผลิตเหล็กเส้นจากเตา EAF ก็ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า ผู้ผลิตเหล็กเส้นจากเตา EAF ส่วนใหญ่ยังคงแบกรับภาระต้นทุนที่สูง ทั้งในด้านการผลิต การควบคุมคุณภาพ การดูแลสิ่งแวดล้อม และสวัสดิการแรงงาน เพื่อให้ได้สินค้าที่มีมาตรฐานและสอดคล้องกับกฎหมายต่างๆ ดังนั้นราคาที่มีการขยับ จึงเป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนจริง และที่ผ่านมาผู้ผลิตได้ช่วยกันตรึงราคาไว้ ที่สำคัญเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตยังถูกจัดอยู่ในประเภทสินค้าควบคุม ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้ประกาศให้เหล็กเส้นเป็นสินค้าควบคุม เพื่อใช้ในการกำกับดูแลและป้องกันการกระทำทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ทั้งในด้านราคาซื้อ ราคาขาย และเงื่อนไขทางการค้า จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการปรับขึ้นราคาโดยไม่มีเหตุผล หรือเป็นการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้ส่วนของกำลังการผลิตนั้น ทางสมาคมฯได้ขอความร่วมมือสมาชิกให้เร่งผลิตเหล็กเส้นทั้งชนิด T และ Non-T เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้ผลิตที่ใช้เตา EAF คาดว่าในไตรมาสที่ 3 ปี 2568 กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 45% หรือประมาณ 60,000 ตันต่อเดือน เมื่อเทียบกับต้นไตรมาสที่ 2 ส่งผลให้สามารถป้อนเหล็กเส้นเข้าสู่ตลาดได้ราว 200,000 ตันต่อเดือน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 280,000 ตันต่อเดือน ในไตรมาสที่ 4 ปี 2568 นี้ และแม้ว่าบางโรงงานจะมีแผนผลิตสินค้าเหล็กประเภทอื่น หรือมีแผนซ่อมบำรุงตามรอบปี ทางสมาคมฯได้ขอความร่วมมือให้ชะลอแผนดังกล่าว เพื่อช่วยกันผลิตเหล็กเส้นให้เพียงพอกับความต้องการในตลาด และขณะนี้โรงงานสมาชิกหลายแห่งที่เคยหยุดผลิต ได้ทยอยกลับมาเดินสายการผลิตแล้ว ซึ่งสามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น และชดเชยปริมาณที่ขาดหายไปได้
อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับสต็อกเหล็กเส้นในมือของเอเย่นต์บางราย ซึ่งอาจเป็นสินค้าเหล็กเส้นจากกรรมวิธีการผลิตที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงกรณีผู้รับเหมาที่ประมูลงานไว้ล่วงหน้าจากราคาของเหล็กที่ผลิตด้วยกรรมวิธีอื่นก่อนหน้า ทางสมาคมฯจึงเสนอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ผู้จำหน่าย ผู้รับเหมา และหน่วยงานกำกับดูแล ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขอย่างเหมาะสมและยั่งยืน เพื่อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโดยรวม
** กระบองเพชร**
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี