ครั้งหนึ่ง เมื่อนานมาแล้วเคยชักชวนสมัครพรรคพวกไปกางเต็นท์นอนที่เขาใหญ่ ตกดึกที่แคมป์ไฟกินดื่มกันหน้าพอตึง มีเพื่อนฝรั่งในคณะถามกันทีเล่นทีจริงว่า “ โลกนี้สัตว์อะไรที่โหดร้ายที่สุด?” ก็ตอบกันไปต่างๆ นานา เสือ สิงโต แรด หมี บ้างก็ทายว่าไดโนเสาร์ จระเข้ ปลาฉลาม เสือ สิงโต งูจงอาง ฯลฯ ต่างก็ทายผิดหมด จึงขอให้เพื่อนฝรั่งเฉลย ได้ความสั้นๆ ว่า “Homo Sapiens” (บรรพบุรุษของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในปัจจุบัน) ต่างก็พยักหน้าหงึกๆ ทำนองเห็นชอบด้วย เพราะมนุษย์ที่เรียกว่าสัตว์ประเสริฐนั้น บริโภคทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า ตั้งแต่แมลงตัวเล็กตัวน้อย งูเงี้ยวเขี้ยวขอ ปลาฉลาม ปลาปักเป้า วาฬ สัตว์ป่าที่ว่าดุๆ ยังตามล่ากันจนสูญพันธุ์ไปหลายชนิด นัยว่าเป็นการแสดงอิทธิฤทธิ์อภินิหารของเหล่าผู้กล้า
ปัจจุบันร้านอาหารป่าประเภทหนวดเต่าเขากระต่ายเหล่านี้ออกจะหายากสักหน่อย เพราะเนื้อหลายๆ ชนิดนั้นหายากถึงแม้ไม่ใช่สัตว์สงวน แต่เพราะมีการขยายพันธุ์เลี้ยงเป็นฟาร์ม เช่นจระเข้ เสือ ตะพาบน้ำ กบ นกกระจอกเทศ กวาง เป็นต้น
ที่อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นักริมถนน 3111 จะพบร้านอาหารป่าที่เปิดขายจนเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักกินขาโหดทั้งหลาย ร้านหนึ่ง คือร้านลุงนพอาหารป่านี้เอง
ทอดปลาหลดแดดเดียว
ขอเริ่มด้วยจานเรียกน้ำย่อยเบาๆ สามารถหยิบใส่ปากด้วยมือ กัดเคี้ยวหนังปลาจวนกรอบกับเนื้อปลาหวานนุ่มด้วยปลาหายากชนิดหนึ่ง “ปลาหลด” เป็นปลาที่รูปร่างเพรียวยาว ลำตัวแบนข้าง มีจะงอยปากแหลมยาว ลักษณะทั่วไปคล้ายปลาในวงศ์ ปลากระทิง แต่ขนาดและรูปร่างเล็กกว่ากันมาก มีสีสันและลวดลายน้อยกว่า ความยาวโดยเฉลี่ยประมาณไม่เกิน 1 ฟุต ครีบหางแยกออกจากครีบหลังและครีบท้องชัดเจน ก้านครีบเดี่ยวของครีบหลังเป็นหนามสั้น ๆ ปลายแหลมประมาณ 12-31 ก้าน ปลายจะงอยปากเรียวแหลมจมูกคู่หน้าแยกออกเป็นติ่งเนื้อเล็ก ๆ 4 หรือ 6 ติ่ง เกล็ดมีขนาดเล็กมากมีพฤติกรรมความเป็นอยู่และการหากินคล้าย ๆ กับปลากระทิง พบ
สกุลปลาหลดปัจจุบันแบ่งออกได้เป็น 23 ชนิด ที่มีชื่อภาษาไทยเป็นชนิดที่พบในประเทศไทย อาศัย แหล่งที่พบหลดนั้นพบได้ในลำธาร น้ำตก บนภูเขา หรือในป่าดิบชื้น หรือตามแม่น้ำ ห้วยหนองลำคลอง และบึง ชอบฝังตัวในดินโคลน หรือบริเวณที่มีใบไม้เน่าเปื่อย ปัจจุบันปลาหลดตัวใหญ่ยาวเกิน 12 นิ้ว มักจะส่งมาจากประเทศเขมร หรือประเทศบังคลาเทศ
ปลาที่มีความอร่อยอยู่ในตัวเอง เมื่อถูกปรุงให้สุกจึงให้ความโอชะมากยิ่งขึ้น แต่ประการสำคัญต้องเลือกปลาสด จึงจะไม่มีกลิ่นคาวมาก เนื้อมีรสหวาน สังเกตตาต้องใส ตัวปลามีเมือกลื่นมือ ถ้าปลาไม่สดเมือกจะขุ่นขาว จับตัวปลาแล้วไม่ลื่น มีกลิ่นคาวแรง
วันนี้ที่ร้านปลาหลดขนาดกลาง เอามาเคล้าเกลือตากปลาหลดแดดเดียว นำมาทอดกรอบจิ้มน้ำจิ้มพริกตำได้อร่อยนัก อนึ่ง ปลาหลดทำได้หลายเมนู เอามาทำเป็นต้มโคล้งต้องเอาไปย่างให้เนื้อแห้งหอมก่อน เครื่องต้มโคล้งใส่เครื่องสมุนไพรสดทั้งหมด นำ พริกข่า ตะไคร้ เอาย่างไฟก่อน ปรุงด้วยน้ำมะขาม
แกงตะพาบน้ำ
ตะพาบ เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำตระกูลเดียวกับเต่า มีลักษณะเด่นคือ ลำตัวแบน จมูกแหลม กระดองอ่อนนิ่ม กระดองหลังค่อนบ้างแบน เรียบ กระดองมีลักษณะเป็นหนังที่ค่อนข้างแข็งเฉพาะในส่วนกลางกระดอง แต่บริเวณขอบจะมีลักษณะนิ่มแผ่นกระดองจะปราศจากแผ่นแข็งหรือรอยต่อ ซึ่งแตกต่างจากกระดองของเต่าอย่างสิ้นเชิง ขอบที่อ่อนนิ่มนี้เราเรียกว่า "เชิง" กระดองส่วนท้องหุ้มด้วยผิวหนังเรียบ มีส่วนที่เป็นกระดูกน้อยมาก ตามตำรา “แม่ครัวหัวป่าก์” บอกเคล็ดไว้ว่า แกงตะพาบน้ำ ต้องกินคู่กับปลาช่อนแห้งทอด เนื้อเค็มทุบ ปลาหวาน เนื้อหวาน หรือไข่เป็ดต้มสุก
ลุงนพแกงตะพาบตามตำราโบราณ ใส่ส่วนที่อร่อยคือเชิงตะพาบล้วนๆ ผัดรสชาติเผ็ดกลางด้วยกระชายกับพริกไทยสด มีรสอมเปรี้ยวอมหวานของมะเขือเทศ ใบมะดัน และใบยี่หร่า ถือว่ารสมือฉมังทีเดียว
“ในตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ยังใส่ผลมะอึกสดหั่นเป็นเสี้ยว ระกำหั่นเอาแต่เนื้อ เชิงตะพาบให้หั่นชิ้นพอดีคำ ส่วนเนื้อหั่นชิ้นเล็กนอกจากนี้หากรังเกียจตะพาบ อาจใช้หนังหมู หัวหมูแทนก็ได้ “
จระเข้กะเพรา
ในอดีตเคยกินแต่บ้องตันตะกวดที่บางโฉลง ยังไม่เคยสัมผัสกับเนื้อจระเข้ ด้วยเกรงว่าภายภาคหน้าหากลงเล่นน้ำในลำคลอง ญาติโยมมันจะมาทวงถามหา เมื่อเด็กยกจานมาเสิร์ฟสมาชิกในวงทุกคนต่างจดๆ จ้องๆ ไม่กล้าตัก จนมีหน่วยกล้าตายผู้เคยไปกินคากิจระเข้ตุ๋นที่ฮ่องกง (ขาละ 1,600 เหรียญฮ่องกง) คนจีนเชื่อว่าเนื้อและเลือดจระเข้แก้โรคหอบหืดได้
มีผู้เริ่มต้นตักชิมคำแรกแล้วร้องฮ่อ ทุกคนจึงขยับตักเข้าปากคนละคำครึ่งคำ แล้วแย่งกันตักจนหมดจานในพริบตา แม้จะเหนียวพอสู้ฟันไม่ถึงขนาดเคี้ยวเมื่อยกราม ก็ได้สัมผัสคล้ายเนื้อแม่ไก่ผสมเนื้อปลา
ขาเมาคนหนึ่งถึงกับกล่าวอาฆาตว่ามาหนหน้าจะสั่งเนื้อจระเข้ทุกรายการที่มีขาย เช่นจระเข้ทอดกระเทียม จระเข้ผัดพริกไทยดำ จระเข้ผัดพริกแกง จนถึงจระเข้ผัดขี้เมา
ฉู่ฉี่ปลาหมอ
ต้องยอมรับรสเครื่องแกงที่มีกลิ่นน่าอภิรมย์กว่าอีกหลายๆ เจ้า แถมหอมหัวกะทิสดใหม่ เมื่อแกงฉู่ฉี่กับปลาหมอเนื้อเนียนละเอียดตัวขนาดฝ่ามือ จึงอร่อยเพิ่มจนอยากให้คะแนนเกรดเอ
ยำไส้ตัน
ไส้ตันที่เราชอบเคี้ยวกรุบกินกันนั้น ทราบหรือไม่ว่ามันเป็นอวัยวะส่วนใดของหมู ไม่น่าเชื่อว่าไม่ใช่ลำไส้ของหมูเพราะดูคล้าย ซึ่งไม่มีในหมูตัวผู้ แต่อันที่จริงแล้วมันคือ มดลูก และรังไข่ ของหมูตัวเมียนั้นเอง เจ้าของเขียงหมูอธิบายว่าไส้ตันที่กินอร่อยต้องได้มาในช่วงที่หมูกำลังจะมีประจำเดือน มดลูกและรังไข่จึงจะเต่งกว่าช่วงปรกติ สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู อาทิเช่น ยำไส้ตัน ไส้ตันลวกจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด ไส้ตันทอดกระเทียม
ยำไส้ตันจานนี้ไม่ได้สงสัยถึงฝีมือการยำขั้นอาจารย์ แต่ขอเพิ่มคะแนนให้จากความสะอาดที่เขาล้างจนปราศจากกลิ่นคาว
ยำสามกรอบ
เชื่อว่าใครก็รู้จักคุ้นเคยกับยำจานนี้ รสชาติน้ำยำนั้นหายห่วง เคล้ามาใหม่ๆกับกระเพาะปลาหลอดเล็กทอด เม็ดมะม่วงหิมพานต์อบสุก หมึกแห้งแบบวงทอด จานนี้ต้องรีบกินเพราะทิ้งไว้นานจะเซ็ง กระเพาะปลา กับหมึกทอด จะหมดความกรอบ
กบทอด
หากจะเปรียบเทียบกับกบทอดที่อำเภอท่ามะกา เมืองกาญจน์ มีความแตกต่างกันตั้งแต่วิธีสับกบ กบของร้านนี้จะสับชิ้นเล็กกว่า สับพร้อมกับหนังกบ ทอดจนกรอบแทบจะเคี้ยวได้ทั้งชิ้น ราดด้วยกระเทียมเจียวพอหอม กินกับน้ำพริกศรีราชา
ผัดเผ็ดปลาไหล
ปลาไหล เป็นปลากระดูกแข็งอีกจำพวกหนึ่ง รูปร่างตัวยาวเหมือนงูพบได้ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย หรือน้ำเค็ม ในประเทศไทยเป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะนิยมบริโภคกันมาแต่โบราณ อีกทั้งยังมีความเชื่ออีกว่า หากปล่อยปลาไหลนาแล้วจะช่วยให้ทุกข์โศกไหลไปตามชื่อ ปลาไหลนา จัดเป็นปลาที่พบมากที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดด้วย โดยพบได้ทุกภาค ทุกแหล่งน้ำ พบชุกชุมทั่วไปสามารถนำไปปรุงอาหารพื้นบ้านได้หลากหลาย เช่น แกงเผ็ด ต้มยำ ผัดเผ็ด ต้มเปรต เป็นต้น สำหรับคนทางภาคใต้ ขนมจีนน้ำยาปลาไหลจัดว่าเป็นอาหารชั้นดีที่พี่น้องชาวมุสลิมนิยมทำเลี้ยงแขกในเทศกาลสำคัญทางศาสนา
สำหรับในต่างประเทศพบกันอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่อเมริกากลาง, ทวีปอเมริกาใต้, ทวีปแอฟริกา รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ในทวีปเอเชีย ไปจนถึงโอเชียเนีย ยังมีปลาไหลอีกชนิดหนึ่งเรียก “ตูหนา” หรือ “ปลาไหลหูดำ” ชาวจีนเชื่อว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีสรรพคุณทางยาช่วยบำรุงรักษาร่างกายให้แข็งแรง จึงกลายเป็นอาหารจานทีเด็ด ชื่นชอบและนิยมกันมาก โดยเฉพาะช่วงเดือนพ.ค.-ก.ย. ซึ่งเป็นช่วงหน้าร้อนของจีน เชื่อกันว่าควรกินปลาไหลบำรุงร่างกาย จึงเป็นปลาที่นิยมอย่างมากในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีนในแถบจังหวัดระนองหรือตรัง ถือเป็นเมนูราคาแพง สามารถนำไปปรุงได้หลากหลาย เช่น ต้มยำ ย่าง ต้มเค็มหรือน้ำแดง นอกจากจีนที่นิยมกิน แม้แต่ชาวญี่ปุ่นก็นิยมปลาตูหนาญี่ปุ่นด้วยวิธีการถอดก้างย่างกับซีอิ๊วหวานกินกับข้าวปั้น
“ผัดเผ็ดปลาไหล” ของร้านลุงนพย่อมต้องเป็นปลาไหลนา ขอติงเพียงแต่ว่าวันที่ไปกินนั้นเป็นปลาไหลขนาดเล็กไปหน่อย แต่ชดเชยด้วยฝีมือผัดอันเด็ดดวง
หมูป่าผัดเผ็ด
เนื้อหมูป่าหากินได้ไม่ยากนัก ร้านอาหารทั่วๆ ไปล้วนมีรายการนี้บริการกันแทบทุกร้าน หากแต่ส่วนใหญ่ไม่พิถีพิถันในการเลือกเนื้อหมูสด บ่อยครั้งที่เจอหมูป่าหนังหนาและแข็งจนเคี้ยวแทบไม่ได้ หมูป่าที่เคี้ยวอร่อยจะเลือกเอาส่วนพื้นเนื้อท้องหั่นติดหนังทุกชิ้นชนิดไม่ต้องกลัวชั้นมันหนาเหมือนหมูสามชั้นทั่วไป เพราะชั้นมันของหมูป่านั้นบางมากจนแทบไม่รู้สึก ถ้าหากเจอหมูแก่เขาจะเคี่ยวกับหางกะทิจนนุ่มแล้วจึงใช้ผัดเผ็ดหรือปรุงแบบอื่นๆ ส่วนมากมักจะปรุงแบบผัดเผ็ดโดยมีกระชายซอย พริกไทยอ่อน พริกสด ใบโหระพา สำหรับฝีมือการทำเครื่องแกงของร้านนี้เขามีสูตรทีเด็ดหายห่วงอยู่แล้ว อีกทั้งเนื้อหนังก็นุ่มกำลังดีสามารถกินกันกวาดจนเกลี้ยงจาน
หมูป่าผัดกะเพรา
ต่างติดอกติดใจเนื้อหมูป่า จึงลงมติให้สั่งหมูป่าอีกจาน แต่เปลี่ยนวิธีการปรุงไม่ให้ซ้ำกับจานก่อนเพื่อรสชาติอีกแบบ จึงสั่งชนิดผัดกะเพรา ซึ่งก็รสลงตัวกำลังดี หอมกลิ่นกะเพราป่า ไม่เผ็ดจัดจนเกินควร แย่งตักกันจนหมดจานเช่นเคย
ไข่อ่อนผัดกะเพรา
เป็นพวงไข่ที่เป็นไข่เม็ดใหญ่น้อยเรียงเป็นพวงไข่รอการพัฒนาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น กลายเป็นส่วนไข่แดงในท้องไก่หรือเป็ด จะเริ่มมีการสะสมสารอาหารไว้สำหรับตัวอ่อนและมีสีของไข่แดงที่สะสมไขมันในรูปสารละลาย พอตกไข่แล้ว ก็จะมีการสร้างไข่ขาวมาครอบ และสร้างเปลือกไข่มาหุ้มทีหลัง ตามตลาดสดเขาจะขายเป็นพวงติดกับรังไข่ ดังที่เราเห็นกันมาแต่ไหนแต่ไร
สัมผัสของไข่อ่อนแดงนั้นจะละเมียดกว่าไข่แดงที่เป็นฟอง ตามด้วยรังไข่หั่นที่มีความเหนียวเล็กน้อย เคี้ยวหนุบหนับบันเทิงปาก เป็นผัดกะเพราที่ไม่มีความพิสดารเหมือนทั่วไป ต่างกันที่รสมือการผัดที่ไร้ข้อติ
ปลาช่อนผัดคึ่นไฉ่
เข้าใจว่าเป็นเมนูจากชาวสวนจีน ที่อพยพมาทำมาหากินในประเทศไทยด้วยการทำการเกษตรเช่น เลี้ยงไก่ เลี้ยง หมู ปลูกผัก ฯลฯ ดูได้จากเครื่องปรุงอันได้แก่ เต้าเจี้ยว ขิงซอย ผักขึ้นฉ่าย
เป็นปลาช่อนนาสดหรือปลาเป็นที่เนื้อปลาไม่คาวจัด หั่นแฉลบเป็นชิ้นกำลังดี เอาไปทอดจนเนื้อเกรียมสวย จึงผัดกับกระเทียมสับ ขิงซอย พริกชี้ฟ้าแดง เติมรสเค็มด้วยเต้าเจี้ยว แล้วจึงใส่ใบขึ้นฉ่ายหั่นท่อนผัดตะล่อมแล้วตักใส่จาน ดับกลิ่นคาวปลาได้สนิท ร้านจีนบางเจ้ายังผัดสู้ไม่ได้
บรรยากาศริมคลอง
อาหารป่ามีรสชาติและราคาแบบชาวบ้าน เป็นร้านชั้นเดียวกว้างขวางอยู่ติดคลองบางเตยมีสภาพแวดล้อมอันรื่นรมย์เหมือนเมื่อก่อน ตำแหน่งร้านตั้งตรงทิศทางลมที่โชยเย็นระรื่นในช่วงบ่ายแดดระยิบ อีกทั้งยังมีรายการที่น่าสนใจหาแม่ครัวรู้จักทำยากอีกหลายอย่าง เช่น แกงกบใบมะดัน แกงคั่วหอยขม แกงป่านกอีลุ้ม ต้มยำปลากระทิง นกกระจอกเทศผัดพริกไทยดำ เก้งผัดขี้เมา ปลาไหลต้มเปรต ฯลฯ ก่อนสั่งให้สอบถามว่าวันนี้มีอะไรพิเศษบ้าง คงต้องไปกินอีกเพื่อตามเก็บรายการที่ยังไม่ได้ชิมในคราวนี้
ลุงนพอาหารป่า
ซอยตรงกันข้ามกับวัดบางเตยใน (เยื้องกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสามโคก)
ตำบล สามโคก อำเภอ สามโคก ปทุมธานี 12160
+66 81 826 2898(ลุงนพ) 089 016 9413 (ป้าวรรณ)
เปิด : 9:00–21:00
หยุดทุกวันที่ 10 และ 20 ของเดือน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี