กระโจมในอาณาบริเวณของ ประตูแห่งอินเดีย (INDIA GATE)ถูกปล่อยทิ้งว่างเปล่า ไร้ซึ่งรูปสลักใดที่จะขึ้นไปแทนที่รูปสลักของพระเจ้าจอร์จ ที่ 5 เป็นเวลานานหลายสิบปี
(กระโจมทำด้วยหิน ที่ครั้งหนึ่งเคยมีรูปสลักของพระจอร์จ ที่ 5 ตั้งอยู่)
ในช่วงเวลาหลายสิบปีดังกล่าว มีความพยายามที่จะเอารูปสลักของ คานธีขึ้นไปวางแทน ซึ่งว่ากันว่า เป็นการผลักดันของสมาชิกพรรคคองเกรสของตระกูลคานธี ที่ต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่พรรค โดยอาศัยภาพพจน์ของ มหาตะมะ คานธี เป็นบันได
ถึงขนาดว่า มีการนำเรื่องเข้าไปสู่การพิจารณาในรัฐสภาของอินเดีย จนทำให้รัฐบาลในสมัยของนายกรัฐมนตรี อินทิรา คานธี ได้ประกาศในปีค.ศ. 1981 ว่ามีแนวคิดที่จะเอารูปสลักของคานธีไปวางไว้ใต้กระโจมดังกล่าว
ทว่า ไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีเสียงคัดค้านมากมาย
(โปสเตอร์โฆษณาภาพยนตร์เรื่อง คานธี)
ว่ากันว่า พรรคคองเกรสยังพยายามสร้างภาพพจน์ที่ดีของพรรค ผ่านทางท่านมหาตะมะ คานธี ด้วยการให้เงินสนับสนุนในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “GANDHI” ในปีค.ศ. 1982 จำนวน 8 ล้านเหรียญ ที่นำแสดงโดย เบน คิงส์ลีย์(BEN KINGSLEY) กำกับการแสดงโดย ริชาร์ด แอทเทนเบอโรห์ (RICHARD ATTENBOROUGH)
ภาพยนตร์เรื่องนี้ เน้นภาพพจน์ของคานธี ในเรื่องการต่อสู้ในแนวทางอหิงสา เพียงอย่างเดียว
สุดท้ายเมื่อวันที่ 8 กันยายน ปีค.ศ. 2022 นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีจากพรรค BJP ก็ได้เดินทางไปทำพิธีเปิดผ้าที่กระโจมดังกล่าว เผยให้เห็นรูปสลักขนาดความสูง 28 ฟิต ทำด้วยหินแกรนิตสีดำ ยืนตระหง่านอยู่ภายใต้กระโจม
ความสูงของรูปสลักนี้ สูงกว่ารูปสลักหินอ่อนของพระเจ้าจอร์จ ที่ 5 ที่สูงแค่ 18.75 ฟิต ซึ่งเคยตั้งอยู่ที่นี่มาก่อน
(นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ทำพิธีเปิดผ้า เผยให้เห็นรูปสลักของเนตาจี สุภาษ จันทรโบส)
รูปสลักอันใหม่ก็คือรูปของ เนตาจี สุภาษ จันทรโบส ซึ่งกระแสสังคมของอินเดียยุคใหม่เริ่มประกาศยกย่องมากขึ้นเรื่อยๆ
งานนี้ ขนาดคนอย่างนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เป็นผู้มาทำพิธีเปิดเอง ก็แสดงให้เห็นว่า ประเทศอินเดียมีแนวทางของการฟื้นฟูเกียรติยศ ให้การยกย่องเชิดชู ต่อ เนตาจี สุภาษ จันทร โบส ให้เป็นวีรบุรุษกู้ชาติ หลังจากที่ถูกปล่อยให้หลงลืมไปในมุมมืดอยู่นานกว่า 70 ปี
ในโอกาสหน้า ผมจะนำเอาเรื่องราวของ ท่านสุภาษ จันทร โบส มาเล่าให้ฟัง เพราะผมเพิ่งจะไปเยี่ยมชมบ้านของท่านที่กอลกัตตามา
(ประตูแห่งอินเดีย ที่มีถนนที่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ถนนภาระหน้าที่ พาดอยู่ตรงกลาง)
ยิ่งไปกว่านั้น นเรนทรา โมดี ยังได้ประกาศเปลี่ยนชื่อของถนนที่ตรงเข้าไปหาประตูแห่งอินเดียที่อังกฤษตั้งชื่อไว้ในยุคโน้นว่า RAJ PATH (RAJ เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า กษัตริย์ และ PATH แปลว่า ทางเดิน) รวมความเป็นภาษาไทยก็ประมาณว่า ถนนราชดำเนิน ให้กลายมาเป็น KARTAVYA PATH ที่แปลว่า ถนนภาระหน้าที่
ถนนสายนี้มีความยาว 2 กิโลเมตร เป็นเส้นตรงจากบ้านของประธานาธิบดี ตรงไปยังวงเวียนประตูอินเดีย
นเรนทรา โมดี ประกาศในพิธีวันดังกล่าวว่า ถนนภาระหน้าที่ เพื่อเตือนใจแก่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีว่า มีภาระหน้าที่ต่อประชาชน
เหนือสิ่งอื่นใด มันเป็นการประกาศว่าอินเดียได้ทิ้งภาพของการเป็นอดีตอาณานิคมที่อังกฤษเคยเอารัดเอาเปรียบ ขูดรีดเลือดเนื้อจากคนอินเดียมานานหลายร้อยปีเอาไว้เบื้องหลัง และก้าวสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ยุคใหม่ ของอินเดียนับแต่นี้ไป
พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี