พรุ่งนี้ (22 พฤศจิกายน) ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคดีของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว คือคดีปมถือหุ้นสื่อ และคดีพรรคก้าวไกลหาเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112
คดีแรกเรื่องปมถือหุ้นสื่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้ส่งเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากการถือหุ้นในบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้งสส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องจาก กกต.ไว้พิจารณาและสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลจะวินิจฉัยเสร็จสิ้น
อีกคดีหนึ่ง เป็นกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกสร ทนายความอิสระ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง สส. นายพิธาซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกลในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง อีกทั้งยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
ในคดีถือหุ้นสื่อนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินกระบวนการพิจารณามาแล้ว 12 ครั้ง มีการเรียกตัวบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ซึ่งการพิจารณาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนสัปดาห์ที่แล้วนับเป็นครั้งล่าสุด และคดีนี้ ว่าไปก็ไม่ต่างจากกรณีของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากการเป็น สส.กรณีถือหุ้นสื่อ “บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด”
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบริษัทไอทีวี ยังเป็นสื่อและยังไม่เลิกกิจการ เช่นเดียวกับที่ได้เคยวินิจฉัยบริษัทวี-ลัค มีเดีย ว่ายังเป็นสื่อและยังไม่เลิกกิจการ ก็จะทำให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” พ้นจากการเป็น สส.เหมือน “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ในปี 2562
และไม่เพียงแต่เท่านั้น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็จะเหมือนผีซ้ำกรรมชัด คงจะมีคนยื่นฟ้องต่อศาลอาญาว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.เลือกตั้ง สส.ปี 2561 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2566 มาตรา 151 ที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม แต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้งโดยให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อ ซึ่งถ้าหากมีความผิดตามมาตรานี้ จะมีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท-2 แสนบาท และศาลสามารถสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้สูงสุดถึง 20 ปี
ส่วนกรณีมาตรา 112 นั้น ถือว่าเป็นคดีอุกฉกรรจ์ทางการเมือง ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิด ถึงขั้นพรรคก้าวไกลต้องถูกยุบพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคก็จะต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองด้วย เหมือนที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบในปี 2563 ก่อนจะอวตารมาเป็นพรรคก้าวไกลอันสืบเนื่องมาจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ให้พรรคที่ตนเป็นหัวหน้ากู้ยืมเงิน 191 ล้านบาท นอกจากถูกยุบพรรคแล้ว นายธนาธรและกรรมการบริหารพรรคอีก 10 คนยังถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี
อย่างไรก็ตาม กรณีมาตรา 112 มีปัญหาทางข้อกฎหมายระหว่างผู้ร้องกับผู้ถูกร้อง โดยผู้ร้องเห็นว่า กฎหมายมาตรานี้จำเป็นจะต้องคงอยู่ ด้วยเหตุที่ทุกประเทศล้วนมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐ และหากไม่ได้กระทำผิดก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเกรงกลัวต่อกฎหมายมาตรานี้
ขณะที่ผู้ถูกร้องคือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกลเห็นว่า กฎหมายมาตรานี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง และมีบทลงโทษไม่สมเหตุสมผล อาทิ การกำหนดความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อาจจะมีผลทำให้ใครก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษใครก็ได้ อีกทั้งการรวมเอาความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท และการอาฆาตมาดร้ายรวมไว้ในมาตราเดียวกัน ย่อมส่งผลทำให้เกิดปัญหาอัตราโทษไม่สัมพันธ์กับความหนัก-เบาของการกระทำผิด เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเด็นที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องนั้น เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หรือไม่
ในประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานมาแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 กรณี 3 แกนนำม็อบราษฎร คือ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์จาดนอก และ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เสนอข้อเรียกร้องบนเวทีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (10 สิงหาคม 2563) ซึ่ง 1 ใน 10 ข้อเรียกร้องมีการเสนอให้ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมอยู่ด้วย โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า
“พระมหากษัตริย์กับชาติไทย ดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และจะต้องดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคตเพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ปวงชนชาวไทยจึงถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”
ทั้งสองคดีนี้เหมือนแสงตะเกียงที่ริบหรี่รอวันดับของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และพรรคก้าวไกล อันเป็นลางร้ายที่หาใช่เพราะน้ำมันในตะเกียงหรือไส้ตะเกียงเป็นเหตุ แต่เป็นเพราะพิธาก่อคดีด้วยมือของตนเอง !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี